ชาวไร่สับปะรดล้มทั้งยืน“ราคาตก-ปล่อยเน่าคาต้น”
เกษตรกรอุตรดิตถ์ล้มทั้งยืนปักป้ายกลางไร่“ขอนายกฯตู่ ช่วยด้วย”หลังประสบปัญหาราคาตกต่ำต้องปล่อยสับปะรดกว่า2หมื่นไร่เน่าคาต้นไม่มีพ่อค้ารับซื้อไร้หน่วยงานเหลียวแล
19 มิ.ย.60 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่าชาวไร่สับปะรดห้วยมุ่น ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ กำลังประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เนื่องจากไม่มีพ่อค้ารับซื้อ ส่งผลให้สับปะรดเน่าคาต้น ผลผลิตเสียหายมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อไปถึงพบชาวไร่กำลังใช้มีดตัดผลสับปะรดทิ้งเหมือนสิ่งไร้ค่า เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้ต้นโทรม พร้อมเขียนข้อความบนกระดาษลังสีน้ำตาล เสียบไม้ปักกลางไร่ว่า “เน่าคาต้น นายกฯตู่ช่วยด้วย ผู้ว่าฯอยู่ไหน” ก่อนจะขนสับปะรดมาโยนทิ้ง แม้จะรู้สึกเสียดาย เสียใจ และขาดทุน ไม่มีรายได้ ชาวไร่ 800 ครอบครัวล้มทั้งยืน
นางสมพล พอแห้ว ชาวไร่หมู่ 2 บ้านห้วยมุ่น กล่าวไปเดินตัดสับปะรดเน่าคาต้นทิ้งไปว่า ปลูกสับปะรดห้วยมุ่น 36 ไร่ ให้ผลผลิตกว่า 200 ตัน ในรอบ 50 ปี หรือครั้งแรกตั้งแต่ชาวไร่ปลูกสับปะรดห้วยมุ่น ปีนี้ผลผลิตราคาตกต่ำมากที่สุด ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ ทำให้ผลผลิตล้นตลาด ผลที่แก่จัดเริ่มเน่าคาต้น จนต้องตัดทิ้ง เสียหายไปแล้วนับครึ่ง จากที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 10-15 บาท ปีนี้ กิโลกรัมละ 50 สตางค์ยังไม่มีใครซื้อ
"ผลผลิตออกมากว่า 1 เดือน ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือทั้งระดับอำเภอ และจังหวัด เชื่อว่าต่างทราบปัญหาดี ชาวไร่ต่างเครียด ตัดสินใจเขียนข้อความปักป้ายกลางไร่ ขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหา หาตลาดรับซื้อ ก่อนที่ผลผลิตจะเสียหายทั้งหมด”นางสมพลกล่าว
นายถวิล อินตา ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดห้วยมุ่น กล่าวว่า สับปะรดห้วยมุ่นเป็นผลไม้เศรษฐกิจของจังหวัดอุตรดิตถ์ รองจากทุเรียนหลง-หลินลับแล และเป็นผลไม้ชนิดเดียวที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เนื่องจากปลูกบนภูเขา ปลอดสาร และผิวบาง ตาตื้น สีเหมือนน้ำผึ้ง รับประทานแล้วไม่กัดลิ้น มีพื้นที่ปลูกตำบลห้วยมุ่น กว่า 28,000 ไร่ จากที่เคยมีพ่อค้ามารับซื้อป้อนเข้าโรงงานร้อยละ 70 อีก ร้อยละ 30 บริโภคผลสด สร้างรายได้กว่าปีละ 400 ล้านบาท ปีนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดในปีนี้กว่า 144,000 ตัน ช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. ราคาตกต่ำ ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ ต่างอ้างเศรษฐกิจตกต่ำ
"ผลผลิตต้องเก็บเกี่ยววันละ 600 ตันหรือครอบครัวละ 1 ตันเป็นอย่างต่ำ แต่มีพ่อค้ารายเล็กๆ แบบขายเร่ มารับซื้อวันละ 2-3 ตัน ชาวไร่ต้องถัวเฉลี่ยกำหนดตัดครอบครัวละ 200 กิโลกรัมแถมกดราคารับซื้อเฉพาะเกรดเอ กิโลกรัมละ 4 บาท พอมีรายได้จุนเจือครอบครัว สับปะรดที่เหลือจึงเน่าคาต้น บางรายตัดมาไม่ได้ขาย นำมากองเผาทิ้งวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะ ผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ ช่วยหาตลาดรับซื้อให้ผลผลิตพอให้ชาวไร่ลืมตาอ้าปากได้บ้าง”นายถวิลกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศตามแผงรับซื้อกว่า 10 แห่ง ชาวไร่ต่างตัดสับปะรดเต็มคันรถไทยแลนด์ มาจอดรถจนล้นลาน ทะลักออกมา 2 สองถนนในหมู่บ้าน หวังจะมีพ่อค้ามารับซื้อ แต่ก็ต้องผิดหวัง บางรายขนไปทิ้ง บางรายเทน้ำมันจุดไฟเผา กลางลานรับซื้อ