ข่าว

รัฐหนุนทำวิจัย เพิ่มมูลค่า‘ยาง’ช่วยเกษตรกร

รัฐหนุนทำวิจัย เพิ่มมูลค่า‘ยาง’ช่วยเกษตรกร

12 ก.ค. 2560

รัฐหนุนทำวิจัย เพิ่มมูลค่า‘ยาง’ช่วยเกษตรกร

                ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วานนี้ (11ก.ค.) นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำคณะเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดแสดงผลงานผลิตภัณฑ์จากยางพาราและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ภายใต้ชื่อ “Today Life's Rubbers” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14-16 ก.ค. เพื่อเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการให้มาสนใจการนำยางพารามาผลิตในภาคอุตสาหกรรม

               นายกรัฐมนตรีได้ชมนวัตกรรมแผ่นยางรองพื้นที่ใช้ทำถนน พร้อมสั่งการเร่งรัดให้กระทรวงคมนาคม นำไปใช้ก่อสร้างภายในชุมชน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาราคายาง ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว พร้อมกันนี้ได้เยี่ยมชม หน้ากากป้องกันเคมีชีวะ ที่ผลิตขึ้นโดยกองทัพบก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการสั่งซื้อ ซึ่งหากนำเข้าจากต่างประเทศ จะอยู่ที่ราคา 20,000 บาทต่อชิ้น แต่ถ้าผลิตเองโดยใช้ส่วนผสมยางพารา ราคาอยู่ที่ 15,000 บาท ต่อชิ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กองทัพบกไปจัดทำแผนการจัดซื้อยาง เพื่อมาผลิตอุปกรณ์ ซึ่งคาดว่าจะใช้น้ำยางประมาณ 200,000 ตัน 

                  นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อสุขภาพ เวชสำอาง รวมถึงกระเป๋า พร้อมระบุให้การสนับสนุนงานวิจัย เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ยางจริงจัง พร้อมแนะนำให้เกษตรกรทำการปลูกพืชหรือผลไม้เสริม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เช่น ปลูกทุเรียน หรือมังคุด ซึ่งถือเป็นการปรับการเกษตรทุกระบบ 

                  รวมทั้งได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำบัญชีรวบรวมความต้องการใช้ยางพาราของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสรุปเสนอขออนุมัติงบประมาณ นำไปสนับสนุนการผลิตใช้ในประเทศ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องประสานความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย

                  ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังการประชุมครม.ระบุว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้องยอมรับว่า ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งของไทยคือ ยังคงมีพื้นที่ปลูกยางมากเกินไป และยังพบว่ามีการปลูกในพื้นที่บุกรุกถึง 3 ล้านไร่ แต่รัฐบาลคงไม่สามารถสั่งให้หยุดปลูกได้ทั้งหมด เพราะจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความเดือดร้อน อยากให้เกษตรกรลดพื้นที่การปลูกยางลงและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ทุเรียน และมังคุดที่มีราคาสูง เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลง ราคายางก็คงไม่สามารถขยับสูงไปมากกว่านี้ได้

                ส่วนกรณีที่ต้องการให้ยางมีราคากิโลกรัมละ 70 บาทนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องพิจารณาจากปริมาณยางว่ามีมากเพียงใด เพราะหากมียางทั้งในสต็อกของไทยและในตลาดโลก คงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ราคาสูงขึ้น รัฐบาลคงไม่สามารถนำงบประมาณไปซื้อยางมาเก็บไว้ได้ทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งยังมียางอยู่ในสต็อกที่ยังไม่ได้ขายออกไป และยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหา เพราะสามารถสั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ นำยางไปใช้งานได้ เบื้องต้นให้ทางทหารช่าง นำยางไปใช้ในการทำถนน ที่ขณะนี้สามารถเพิ่มสัดส่วนได้ถึง 15% แต่จะต้องเพิ่มงบประมาณให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย นอกจากนั้นยังต้องเพิ่มการใช้ประโยชน์ในส่วนของสาธารณสุข กีฬา แต่ต้องจัดทำแผนการดำเนินงานและเพิ่มงบประมาณเช่นเดียวกัน ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะมีการหารืออีกครั้งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันนี้ (12 ก.ค.)

                ขณะที่เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย เตรียมยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงปัญหาราคายางพาราของเกษตรต่อประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวันนี้ เพื่อร้องขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำ 

             นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายฯ กล่าวว่าได้เข้าพบพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมยื่น 12 ข้อเสนอการแก้ปัญหาระยะยาว และ 4 ข้อเสนอในการแก้ปัญหาเร่งด่วน เมื่อ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมาซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) ที่มีพล.อ.ฉัตรชัย เป็นประธาน และตนเป็นคณะกรรมการ ก็พบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญและใส่ใจต่อการแก้ปัญหา ทำให้ทางเครือข่ายฯ จะยังไม่ออกมาเคลื่อนไหวภายในระยะเวลา 1 เดือน เพื่อติดตามการทำงานและให้โอกาสแก่รัฐบาล