‘อียู’คงใบเหลืองประมงไทย
‘อียู’คงใบเหลืองประมงไทย
“อียู”คงสภาพใบเหลืองประมงไทย “ฉัตรชัย” แจงอียูพอใจการแก้ไขปัญหาประมงไทย ขาดเพียงบุคลากรที่ชำนาญตรวจสอบเรือ เตรียมส่งทีมช่วยสางปัญหา ขณะที่กลุ่มประมงพื้นบ้านเดือด พรก.ประมงไม่ยกเลิกมาตรา 34 หลังนายกฯเห็นชอบไปแล้ว ด้านกรมเจ้าท่า พร้อมยกเว้นใช้กฎหมายล่วงล้ำลำน้ำกับชุมชนหากกระทบวิถีชีวิต
ทรัพยากรทางทะเลของโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สภาพยุโรปหรืออียูเริ่มประกาศใช้มาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือไอยูยู ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีส่งออกสินค้าสัตว์น้ำอันดับต้นๆของโลก ในขณะที่การทำประมงมีการใช้เครื่องทำลายล้างอย่างรุนแรง แม้อียูจะแจ้งให้ไทยแก้ปัญหานี้นานนับ10 ปี แต่ก็ไม่ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้นจนถึงปี 2558 อียูได้ประกาศให้ใบเหลืองกับไทย ซึ่งหมายถึงไทยต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังในทุกด้าน ตามช่วงเวลาที่กำหนดโดยอียูจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาติดตามเป็นระยะ
ผู้สื่อข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า หลังจากเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปหรืออียู เดินทางมาติดตามตรวจสอบล่าสุดเมื่อวันที่ 1-16 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยรวมท่าทีของอียูมีแนวโน้มที่ดีและคาดว่าจะคงสถานะของไทยไว้ที่ใบเหลืองต่อไป เนื่องจากอียูพอใจในการแก้ไขปัญหาทำงานของประเทศไทยหลายด้าน และในวันที่ 24 ก.ค.นี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะแถลงผลติดตามการแก้ไขปัญหาไอยูยูและสถานะของไทยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลการติดตามแก้ไขปัญหา ไอยูยู ของเจ้าหน้าที่อียู อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเห็นว่าไทยมีพัฒนาการแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าที่คาดไว้มาก ในระดับที่กล่าวได้ว่าไอยูยูสำหรับไทยไม่มีปัญหาแล้ว เหลือเพียงเรื่องของบุคลากร ที่ยังไม่มีความชำนาญในเรื่องของการตรวจสอบเรือ ต้องยอมรับว่าเรื่องไอยูยู ไทยไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น จึงจะหารือกับ อียูอีกครั้งเพื่อส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ มาสอนเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน การตรวจสอบ หรือเป็นไปได้จะประสานกับ เกาหลี ประเทศที่แก้ปัญหาไอยูยูได้แล้วเสร็จเข้ามาเข้ามาดำเนินการ
“อียูพอใจการทำงานของไทยในการแก้ปัญหาไอยูยู เพราะเห็นความชัดเจนและข้อแตกต่าง เห็นความตั้งใจของรัฐบาล มีการกำหนดกฎระเบียบ กติกาที่เป็นสากลได้มาตรฐานตามที่อียูกำหนด นอกจากนี้ยังมีการบังคับใช้กฎหมายดีขึ้นมาก มีการลงโทษทางการปกครองมากกว่า 1000 ราย และอียู ยังได้ทำหนังสือส่งไปถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลการแก้ปัญหาไอยูยู พร้อมคำแนะนำที่ไทยต้องดำเนินการต่อจากนี้ไป” พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว
ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทย ในปีนี้ ได้เร่งรัดออกกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมการทำประมงมากขึ้น ทบทวนขนาดของเรือทั้งระบบ มีคำสั่งให้เรือบรรทุกน้ำมันกลางทะเลต้องติดตั้งเครื่องติดตามเรือหรือวีเอ็มเอส ทั้งนี้เพราะมีความเสี่ยงที่จะส่งน้ำมันให้กับเรือประมงผิดกฎหมาย พัฒนาศูนย์ติดตามและควบคุมเรือประมง(FMC)เพื่อควบคุมการเดินเรือของไทยทั้งระบบ
ล่าสุดได้แก้พระราชกำหนดการประมง ฉบับที่2 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญเพื่อควบคุมการทำประมงพื้นบ้าน ที่มีเรือกว่า 3.2 หมื่นลำ โดยส่วนใหญ่เป็นเรือไร้สัญชาติได้รับผลกระทบ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่เกี่ยวข้องกับการข้อเสนอแนะของอียู แต่รัฐบาลไทยพยายามดำเนินการเพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวในภาพรวมว่าไทยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับสมาพันธ์ชาวประมงพื้นแห่งประเทศไทยและเครือข่ายชุมชนชายฝั่งทะเลว่า ตามพระราชกำหนดการประมงฉบับที่ 2 ที่ประกาศมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มประมงพื้นบ้านเห็นว่ามีบางข้อบังคับที่ยังส่งผลกระทบกับการทำประมง ดังนั้นจึงให้ทั้งหมดกลับไปจัดทำรายละเอียดข้อบังคับที่เห็นว่าส่งผลกระทบและนำมาหารือร่วมกับกรมประมงอีกครั้งในวันที่ 29 ก.ค.นี้ ขอให้นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาคำสั่งให้รับรองสิทธิของชุมชนท้องถิ่นที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ชายฝั่งและริมน้ำ เป็นชุมชนที่ตั้งถิ่นนฐานมานาน ต่อเนื่อง เป็นส่วนหนึ่งของวิถีความเป็นประเทศไทย ชุมชนจึงไม่ใช่สิ่งล่วงล้ำลำน้ำ
ทั้งนี้ชุมชนยินดีที่จะร่วมกับหน่วยงานราชการจัดระเบียบชุมชน จัดทำผังชุมชน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน
นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นแห่งประเทศไทย และเครือข่ายชุมชนชายฝั่งทะเล กล่าวว่า จากการคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ยกเลิกมาตรา 34 ในพระราชกำหนดการประมง ที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง แต่การออกพระราชกำหนดฉบับที่2 ยังมีระบุอยู่ รวมทั้งยังมีข้อห้ามอื่นที่เป็นอุปสรรคต่อการทำประมง
ดังนั้น สมาคมฯจึงยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เร่งออกประกาศกระทรวงเกษตรฯ กรณียกเว้นประมงพื้นบ้านไม่เป็นเรือไร้สัญชาติ และประกาศกระทรวงฯกำหนดขนาด/สัดส่วนสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ห้ามนำขึ้นเรือประมง ดังนี้
ตามที่พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2560 มีมาตรการห้ามเรือไร้สัญชาติทำประมง ซึ่งมีผลกระทบต่อชุมชนและประมงพื้นบ้านไร้สัญชาติไทย ที่ใช้เรือไม่มีทะเบียน ต้องการให้การกระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศกำหนดขนาดเรือตามลักษณะการใช้ประกอบเครื่องยนต์ โดยสำหรับเครื่องยนต์เบนซินไม่เกิน 3.5 แรงม้า สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลไม่เกิน 6 แรงม้า
ปัจจุบันมีการประมงที่มุ่งจับสัตว์น้ำขนาดเล็กมากเกินไป ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำขนาดเต็มวัย เช่น ลูกปลาทูขนาดเล็ก เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อรักษาพันธุ์สัตว์น้ำให้ยั่งยืนและป้องกันการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กมากเกินไป จึงขอให้กระทรวงเกษตรฯประกาศขนาดสัตว์น้ำที่ไม่ควรทำการประมง โดยใช้ประกอบอัตราส่วนที่ถูกจับโดยบังเอิญ และเพื่อเป็นการนำร่องเร่งด่วน เสนอให้ประกาศขนาดปลาทู ขนาดต่ำกว่า 35 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ห้ามทำการประมงและจับได้โดยบังเอิญได้ไม่เกินอัตรา 10 % ของน้ำหนักปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมด
ขอให้ยกเลิก มาตรา 34 ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง ซึ่งในเบื้องต้นในที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้ยกเลิกไปแล้ว แต่พระราชกำหนดการประมง ฉบับที่2 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2560 ยังกำหนดห้ามเกิน 3ไมล์ทะเล บางพื้นที่ห้ามออกนอก 1.5 ไมล์ทะเล ซึ่งกระทบกับเรือพื้นบ้านที่มีกว่า 80%ผู้ฝ่าฝืนมีบทลงโทษ ให้ริบเรือประมงพร้อมเครื่องมือประมง และมีโทษปรับ 50,000 -500,000 บาท หรือปรับจำนวน 5 เท่า ของมูลค่าสัตว์น้ำจากการทำประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
นาย สะมะแอ ยังกล่าวว่า ทางสมาคมยังมีหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้แก้ไข กรณีชุมชนชายฝั่งทะเลและชุมชนริมน้ำ ที่มีการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและสิ่งอื่นเพื่อใช้สำหรับวิถีชุมชนเป็นการเฉพาะ เนื่องจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยไม่ใช่สิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ประกอบกับไม่ได้รับรองสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนด้วย