
ขี่ช้างชมเมือง ร่วมงาน แซนโฎนตา แวะพักโฮมสเตย์บ้านไทยสไตล์เขมร
ขุขันธ์ เป็นอำเภอหนึ่งของ จ.ศรีสะเกษ ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาว "เขมร" ซึ่งสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีของบรรพบุรุษมาช้านาน
ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของคนที่นี่ คือ พิธี “แซนโฎนตา” ซึ่งคำว่า แซนโฎนตา เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาเขมร “แซน” แปลว่า การเซ่นไหว้ การอุทิศ หรือการบวงสรวง ส่วนคำว่า “โฎนตา” แปลว่า ปู่ย่าตายาย หรือบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว
แซนโฎนตา จึงเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว โดยจะมีการจัดขึ้นทุกวันแรม 14 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี ซึ่งลูกหลานที่เดินทางไปทำมาหากินที่อื่นทุกสารทิศจะต้องกลับมาร่วมพิธีกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน
ส่วนสาเหตุที่ต้องจัดพิธีกรรมในช่วงนี้ เพราะบรรพบุรุษของชาวขุขันธ์มีความเชื่อว่า ช่วงนี้ในเวลากลางคืนจะมีลมพัดจากทิศเหนือไปทิศใต้ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า ลมดังกล่าวจะพัดพาเรือส่งอาหารไปถึงเปรตที่อยู่ทางทิศใต้
ทั้งนี้ ก่อนจะถึงวันทำพิธีแซนโฎนตา หรือที่ชาวขุขันธ์เรียกว่า “เบ็ญธม” ในระหว่างวันแรม 1 ค่ำ ซึ่งชาวเขมรเชื่อว่า เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ประตูยมโลกจะเปิด และอนุญาตให้ผีในยมโลกเดินทางมาเยี่ยมญาติได้ ไปจนถึงก่อนวันแรม 14 ค่ำเดือน 10
ชาวบ้านจะพากันไปวัดเพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ ฟังพระธรรมเทศนา เป็นต้น และเมื่อเหลืออีก 1-2 วันก่อนจะถึงวันแรม 15 ค่ำ ชาวบ้านจะเตรียมจัดพิธีแซนโฎนตา
ในการนี้ชาวบ้านจะทำขนมหลากหลายชนิด เช่น ข้าวต้มมัด และขนมเทียน เพื่อเอาไปทำบุญที่วัด และเป็นของฝากญาติพี่น้องด้วย
สืบสวัสดิ์ สืบสายพรม นายกเทศมนตรีตำบลห้วยเหนือ อ.ขุขันธ์ ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า หลังจากตักบาตรเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษแล้ว จากนั้นจะมีพิธีแซนโฎนตาที่บ้านในตระกูลของตัวเอง
การประกอบพิธีกรรมจะมีการปูเสื่อ วางฟูก และเอาหมอนวางบนส่วนท้ายของฟูกอีกด้านหนึ่ง จากนั้นจึงเอาผ้าขาวคลุมหมอนอีกชั้น เพื่อวางกระป๋องสำหรับจุดธูปเทียน
ส่วนด้านล่างจะมีแก้วน้ำ 4 ใบ จัดเรียงเป็นแถว ถัดมามีพาน 1 คู่ ที่บรรจุหมาก พลู บุหรี่ และแถวถัดมาจัดพานขนม และผลไม้ ส่วนที่ถัดออกไปอีกจะเป็นถาดใส่อาหารเซ่นไหว้ และใส่ข้าวในจานข้าวด้วย
เมื่อญาติพี่น้องมาพร้อมหน้ากันแล้วจะทำพิธีเซ่นไหว้ โดยจุดธูปเทียนอัญเชิญวิญญาณบรรพบุรุษมารับของเซ่นไหว้ โดยอัญเชิญเป็นระยะๆ 3 ครั้ง การอัญเชิญในแต่ละครั้งจะมีการเทน้ำใส่เเก้วเพื่อกรวดน้ำทุกครั้ง
เมื่อครบ 3 ครั้งแล้ว จะนำถ้วยชามมาตักอาหาร ใส่ขนม และผลไม้ที่เป็นเครื่องเซ่นไหว้ รวมทั้งบุหรี่ และธูปเทียน นำไปเท หรือวางไว้บนดินนอกบ้าน เพื่อส่งไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
ขณะเดียวกันก็จะมีการขอพรให้ลูกหลานมีความสุขความเจริญ โดยขั้นตอนสุดท้าย ชาวบ้านจะจัดทำเรือ หรือกระทงเล็กๆ โดยใช้ต้นกล้วย บรรจุข้าว ข้าวโพด ถั่ว และเงิน
เมื่อถึงเวลาประมาณตีสี่ถึงตีห้าก็จะนำเรือไปลอยตามกระแสน้ำ เพื่อส่งไปยังพวกเปรตตามความเชื่อ โดยชาวบ้านเชื่อว่า เปรตมี 4 ชนิด คือ 1.เปรตที่เลี้ยงตัวเองด้วยเลือด 2.เปรตที่หิวตลอดเวลา 3.เปรตที่ไฟไหม้ตลอดเวลา และ 4.เปรตที่เลี้ยงตัวโดยผลบุญกุศลที่มีคนอุทิศให้
เชื่อว่าเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่ญาติพี่น้องจะได้มีโอกาสมาพบปะกันปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกล หรือไปทำงานต่างถิ่น ก็จะถือโอกาสนี้กลับบ้านมาพบญาติพี่น้อง
พิธีแซนโฎนตาปีนี้ยังเป็นโอกาสอันดีในวาระครบรอบ 250 ปีของเมืองขุขันธ์ (พ.ศ.2302-2552) จึงใช้ชื่องานอย่างยิ่งใหญ่ว่า “งานเทศกาลรำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี”
หากใครประสงค์จะเข้าร่วมงานดังกล่าว แต่อาจจะไปร่วมไม่ทัน ก็สามารถเข้ามาพักที่โฮมเสตย์ในบรรยากาศ "บ้านไทยสไตล์เขมร" พร้อมบริการพิเศษ "ขี่ช้างชมเมือง" ชมพิธี "รึมมม็วด (รำแม่มด)" และกราบไหว้ "หลวงพ่อโตวัดเขียน" เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต
"มนูญ มุ่งชู"