ข่าว

"บิ๊กตู่"ซัด"รบ.ก่อน"เลี้ยงไข้แก้ปัญหา"ยาง"เรียกคะแนนเสียง!!

"บิ๊กตู่"ซัด"รบ.ก่อน"เลี้ยงไข้แก้ปัญหา"ยาง"เรียกคะแนนเสียง!!

28 ก.ค. 2560

"บิ๊กตู่" โว กล้าพูดความจริง ใช่แก้ปัญหายางแบบหวังคะแนนเสียง ชี้เป็น"สินค้าการเมือง" ส่วน "ข้าว" ยิ่งใส่เงิน เหมือนราดน้ำมันลงกองไฟ แขวะประกันราคา แค่ชะลอปัญหา

 

          28 ก.ค.60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า ประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านของเราที่เป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราเช่น เดียวกับไทย แต่ไม่ประสบปัญหาราคายางราคาตกต่ำ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาผลิตยางพาราเกือบล้านกว่าตัน เป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เขาคาดการณ์ความต้องในการใช้ยางจะถึงทางตัน เพราะมีอย่างอื่นมาแทน เขาตัดสินใจโค่นต้นยางตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จนเมื่อปี 2545 เขามียางพาราอยู่แค่  7 แสนตันเท่านั้น และเขาเพิ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยางในประเทศ 4–5 แสนตัน นั่นคือผลิตออกมาพอดีกับที่ใช้ภายในประเทศ ส่วนอินโดนีเซีย เขาปลูกยางมาก แต่ใช้ในประเทศน้อย ไม่ต่างจากไทย แต่ก็ไม่มีปัญหาเหมือนเรา เพราะยางของเขาอยู่ในป่าเป็นต้นยางที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ชาวบ้านเห็นว่าราคาดี ก็เลยไปกรีดเอาออกมาขายตอนไหนเห็นราคาไม่ดีก็ไม่ไปกรีด เขาก็ไปทำอาชีพอย่างอื่น ดังนั้น แม้ราคายางพาราขึ้นลงก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับเพื่อนบ้านเราเนื่องจากผลิตให้พอดีกับการใช้ภายในประเทศ ที่เหลือก็ส่งออก พร้อมกับแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า   

 

          "เราต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ โดยประเทศไทย ในปี 2545  มียางพาราอยู่ 3 ล้านตัน ปัจจุบันมี 5.4 ล้านตัน แต่การใช้ยางในประเทศ ใน 15 ปีที่ผ่านมา เรายังอยู่ที่ 4–5แสนตัน ไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมนัก นั่นก็แปลว่า เราต้องส่งออกมากขึ้นๆ ทุกปีแต่ถ้าวันหนึ่งโลกนี้ไม่ต้องการใช้ยางพารา มีสิ่งอื่นทดแทนที่ถูกว่า หรือดีกว่าแล้วยางพาราส่วนเกิน ราว 4–5 ล้านตัน เราจะทำอย่างไร ราคาก็ต้องตกแน่นอนอยู่แล้ว ที่แย่กว่านั้น เกษตรกรชาวสวนยางของเราปรับตัวทันหรือไม่ แรงงานในสวนยางจะทำอย่างไร หากเราไม่ตระหนัก ไม่รับรู้ในสิ่งเหล่านี้ มีเพียงแต่รัฐบาลนี้ ที่กล้าพูดความจริง ถ้าวันนี้เรายังใช้การแก้ปัญหาแบบเอาตัวรอดไปวันๆ หรือ เลี้ยงไข้ เพื่อเรียกคะแนนเสียง เพราะยางพารา ไม่ต่างจากสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่กลายเป็นสินค้าการเมืองไปแล้วและเกิดขึ้นในบ้านเราเท่านั้น" นายกฯ กล่าว

 

          นายกฯ กล่าวว่า ข้าวก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง จำนวนส่งออก 20 ล้านตัน ถูกกำหนดราคาโดยตลาดโลก ถ้าเรายังแก้ปัญหาโดยการหว่านงบประมาณลงไปอุดหนุน ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรรู้ถึงการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ยิ่งเราใส่เงินลงไปก็เหมือนใส่น้ำมันเข้าไปในกองไฟ เหมือนสนับสนุน หรือชอบให้แห่กันปลูกยาง แล้วปัญหาก็ไม่จบ ขยายตัวขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยการประกันราคา พยุงราคา มันก็แค่ชะลอปัญหาเท่านั้น  ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของรัฐบาลคือ 1.ปรับสมดุลการผลิตกับความต้องการใช้ 2. เพิ่มปริมาณการใช้ภายในประเทศให้มากขึ้น ลดการเพาะปลูกในพื้นที่บุกรุก