เฝ้าระวัง 'สกลนคร' ประเมินน้ำท่วมรายชั่วโมง
ผวจ.สกลนคร ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมรายชั่วโมง ยังห่วงชุมชนริมหนองหาน หวั่น มวลน้ำทะลักลงเทือกเขาภูพาน
29 ก.ค.60 - นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงในเขตอำเภอเมือง โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครสกลนคร ซึ่งนับว่าเป็นภัยพิบัติที่หนักสุดในรอบ 30 ปี ว่า มาจาก 2 ปัจจัย คือ ฝนที่ตกลงมาจากอิทธิพลของพายุเซินกา และมวลน้ำที่ทะลักลงมาจากบนเทือกเขาภูพาน ซึ่งน้ำที่ไหลลงมาจากภูพาน ก่อนที่จะลงสู่หนองหาร ผ่านลำน้ำก่ำ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ก็จะไหลผ่านพื้นที่เทศบาลนครสกลนคร ทำให้น้ำเกิดการกระจุกตัวในเขตเมือง
ล่าสุด มีชุมชนในเขตเทศบาลนครสกลนคร ได้รับผลกระทบ จำนวน 43 ชุม ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 30,000 คน ความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น บ้านถูกน้ำท่วม รถยนต์ถูกน้ำท่วม ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามช่วยเหลือ โดยการนำเด็กและคนชราออกมาอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว และยังมีอีกบางส่วนที่ติดอยู่ด้านในชุมชน
สำหรับแผนการช่วยเหลือในวันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันประเมินสถานการณ์ชั่วโมงต่อชั่วโมง หากพบว่าสถานการณ์น้ำอยู่ในระดับทรงตัว คือ ไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ก็จะเร่งเข้าไปให้ความช่วยประชาชนที่อยู่ด้านใน แต่ที่ต้องเฝ้าระวังคือ มวลน้ำที่อยู่บนเทือกเขาภูพานที่อาจจะไหลลงมาอีกละลอกหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ มีเพียงอาการป่วยไข้จากพายุฝน ซึ่งทางจังหวัดได้มีการส่งเจ้าหน้าที่แพทย์เข้าไปให้ความช่วยเหลือ
เนื่องจากเมื่อวานนี้ระดับน้ำท่วมสูง ทางเจ้าหน้าที่จึงจำเป็นที่จะต้องตัดไฟฟ้าในเขตเทศบาล เพื่อป้องกันอันตราย ขณะเดียวกันก็มีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลยังสามารถใช้ไฟฟ้าได้ แต่หากจำเป็นต้องตัดไฟฟ้า ก็มีการประสานเครื่องปั่นไฟฟ้าจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยไว้ เพื่อสำรองไฟฟ้าไว้ใช้ในโรงพยาบาล
สำหรับประชาชนที่ยังไม่ยอมออกจากบ้านที่ถูกน้ำท่วม อาจเพร่ะห่วงทรัพย์สิน ผู้ว่าราชการฯ แสดงความเป็นห่วงว่าอาจจะได้รับอันตราย และทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากขึ้น โเยเฉพาะการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
ขณะที่การเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำสำคัญ อย่างอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ที่รองรับน้ำจากเทือกเขาภูพาน ผู้ว่าฯ ระบุว่า มีมวลน้ำที่ล้นจากสปินเวย์ และเซาะคันดินในบริเวณใกล้กับสปินเวย์ เป็นลอยลึกประมาณ 4 เมตร กว้าง 20 เมตร ทำให้น้ำที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ประมาณ 240 ล้าน ลบ.ม. ทะลักออกไปตามรอยแยก แต่ยืนยันว่า อ่างเก็บน้ำไม่ได้พัง และมวลน้ำที่ทะลักออกไปไม่ได้ไหลเข้ามาท่วมในตัวเมืองสกลนคร