โขนพระราชทาน ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร.9
จัด"โขนกึ่งฉาก" พร้อมปรับรูปแบบการแต่งกาย เพลงดนตรี เพลงขับร้อง แต่ยังคงรักษาจารีประเพณีโบราณครบถ้วน ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ อ.ประเมษฐ์ บุณยะเชัย ผู้ออกแบบและจัดทำบท, อ.สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและจัดทำฉากโขน, อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้จัดทำเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ และ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ร่วมกันพูดคุยเรื่องโขนพระราชทาน ซึ่งร่วมแสดงในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ การแสดงโขนครั้งเนื่องมาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ให้โขนพระราชทาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มาแสดงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบนเวทีมหรสพในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทุกคนทั้งคณะกรรมการ นักแสดง นักร้อง คณะทำงานทุกฝ่าย รวมทั้งนักเรียนศิลปาชีพ ต่างคือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสร่วมในการแสดงถึงความจงรักภักดี ต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ของแต่ละคนที่มีอย่างสุดหัวใจ
อ.ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้ออกแบบและจัดทำบท เผยว่า การแสดงโขนที่ผ่านๆ มาโดยปกติจะจัดแสดงภายในอาคารสถานที่ แต่ครั้งนี้เป็นการแสดงกลางแจ้ง จึงจัดให้มีการแสดงรูปแบบใหม่ (โขนกึ่งฉาก) คือมีทั้งฉากและเทคนิกมัลติวิชั่นที่วิจิตรงดงามมาใช้ประกอบกัน โดยเฉพาะฉากใหญ่ๆ ที่ไม่สามารถยกเอามาใช้ในภาคสนามได้ จะใช้วิธีฉายภาพขึ้นจอ แต่ละฉากจะมีอุปกรณ์ประกอบเป็นแบบสามมิติที่วิจิตรงดงาม เช่น ฉากที่ประทับพระอิศวร หรือฉากตอนลักสีดา เชื่อว่าครั้งนี้จะไม่ทำให้ผู้ชมผิดหวังแน่นอน เพราะยังคงความงดงามทั้งรูปแบบ การร่ายรำ การเปลี่ยนฉากให้สมกับเป็นโขนพระราชทาน โดยการแสดงแบ่งออกเป็น 3 ตอนด้วยกันในระยะเวลาการแสดง 2 ชั่วโมง ได้แก่ ตอนรามาวตาร, ตอนสีดาหาย และพระรามได้พล และตอนขับพิเภก ทั้ง 3 ตอนนี้ ต่างมีความหมายแฝงอยู่ทั้งสิ้น อย่างตอนแรก ตามความเชื่อว่ากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นสมมุติเทพ สืบเชื้อสายมาจากพระนารายณ์ ตอนที่สองแสดงให้เห็นถึงผู้รักษาความดีจะร่วมกันปราบอธรรมความชั่วร้ายให้เป็นผลสำเร็จ และตอนที่สาม แสดงถึงคุณธรรมและความซื่อสัตย์ผ่านตัวแสดงอย่างพิเภก แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงโขนพระนารายณ์ เป็นการสอนถึงความดีย่อมชนะอธรรมอยู่แล้ว
ทั้งนี้ อ.ประเมษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการแสดงครั้งนี้เราได้เพิ่มฉากระบำเป็นการสรรเสริญความซื่อสัตย์ของพิเภก ซึ่งอยู่ในตอนที่ 3 พร้อมทั้งได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการแต่งกาย เพลงดนตรี เพลงขับร้อง แต่ยังคงรักษาจารีตประเพณีโบราณอย่างครบถ้วน พร้อมได้นำทั้งดนตรีและเพลงขับร้องโบราณมาใช้ ซึ่งบางเพลงยังไม่เคยมีการแสดงที่ไหนมาก่อน เช่น การแสดงหน้าพาทย์ ซึ่งเพลงที่ใช้ประกอบกริยาการแสดงมาตั้งแต่โบราณ มีหลายระดับ แต่ครั้งนี้เป็นการแสดงหน้าพาทย์ในระดับสูงสุดที่ใช้กับตัวละครสูงศักดิ์ โดยได้หลักฐานจากลายมือของพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) เจ้ากรมโขนหลวงในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้บันทึกไว้แต่ยังไม่มีการถ่ายทอด ซึ่งเราได้แกะลายมือแล้วนำมาใช้ในการแสดงครั้งนี้ นอกจากนี้ยังได้นำเพลง "วา" ของคุณหญิงไพทูรย์ กิตติวรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีไทย) ประจำปี 2529 ที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน ก็ได้นำมาจัดแสดงครั้งนี้ด้วย สำหรับเวลาของการแสดงนั้นยังไม่มีหมายกำหนดการที่แน่นอน แต่จะเป็นการแสดงช่วงต้นของการแสดงโขนทั้งหมดของราชการ ในโอกาสนี้พวกเราทุกคนมีความยินดีที่ได้มาร่วมสนองพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่สุดในชีวิต
ขณะที่ อ.สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและจัดทำฉากโขน กล่าวว่า สำหรับการแสดงโขนในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นการนำฉากที่เคยทำไว้อย่างดีที่สุดแล้วมาถ่ายรูปและฉายขึ้นวิดีทัศน์ ประกอบกับอุปกรณ์ประกอบฉาก เช่น ราชรถ และวิมาน เป็นต้น ซึ่งมีคุณค่าความงามไม่แพ้กับฉากจริง โขนพระราชทานเป็นการแสดงโขนที่ทุกคนตั้งใจทำอย่างดีที่สุดเพื่อถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ดังนั้นเราจะเห็นว่าความสมบูรณ์ ความพร้อมของฉาก ค่อนข้างเต็มร้อยสวยงาม ดังนั้น การแสดงโขนในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพไม่น่าผิดหวังแน่นอน
ด้าน อ.วีระธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้จัดทำเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เปิดเผยว่า เครื่องแต่งกายในปีนี้ได้สืบทอดมาตั้งแต่การแสดงโขนพระราชทานตอนแรกในปี 2550 ซึ่งปัจจุบันได้จัดแสดงโขนมาเป็นปีที่ 10 ทำให้มีเครื่องแต่งกายแทบทุกตัวละคร โดยได้ศึกษาจากรัชกาลที่ 1 ที่ทรงโปรดให้มีการจัดแสดงโขนในงานสำคัญต่างๆ ซึ่งชุดแต่งกายแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.การทอผ้ายก สำหรับเป็นผ้านุ่ง ทำโดยสมาชิกศิลปาชีพจากที่ต่างๆ อาทิ ศิลปาชีพบ้านตรอกแค ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง จ.นครศรีธรรมราช ขณะเดียวกันก็มีศิลปาชีพศรีบัวทอง จ.พระนครศรีอยุธยา มาร่วมด้วย เป็นชุดแต่งกายที่มีความวิจิตรงดงามเทียบเท่าโบราณราชประเพณี ส่วนที่ 2. การปักชุดโดยสมาชิกศิลปาชีพที่ต่างๆ ได้แก่ ศรีบัวทอง 17 คน สวนจิตรลดา 5 คน บางไทร 15 คน หนองราด จ.สิงห์บุรี 9 คน โดยมีเสื้อผ้าใหม่ 76 คน แบ่งเป็น ทศกัณฑ์ 5 ชุด เทพเจ้าและพระอิศวร 2 ชุด พระพรหม 12 สำรับ และถนิมพิมภาภรณ์ หรือเครื่องประดับสร้อยแบบโบราณตัวพระ 7 สำรับ ตัวนาง 24 สำรับ การแสดงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพครั้งนี้ เป็นการใช้ชุดที่ทำขึ้นใหม่ ปักอย่างวิจิตร โดยทั้งหมดสำเร็จเรียร้อยแล้ว
"เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่จัดสร้างขึ้นใหม่ได้สืบทอดจากเครื่องภูษาพัสตราภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์อันเป็นเครื่องประดับลงยาที่เคยมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การจัดสร้างใหม่ใช้วัสดุอย่างดี มีค่า ขณะนี้เครื่องแต่งกายโขนทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ววิจิตรงดงามเป็นงานที่ประณีตยิ่งขึ้น เพราะสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพมีทักษะและความชำนาญมากขึ้น" อ.วีระธรรม กล่าว