ลูกสายตาสั้น พ่อแม่อย่านิ่งนอนใจ อาจเป็นตาขี้เกียจ -ตาบอด
ลูกสายตาสั้น พ่อแม่อย่านิ่งนอนใจ หากรักษาไม่ทัน อาจเป็นตาขี้เกียจ และส่งผลให้ตาบอดได้ : โดยนงนุช พุดขาว คมชัดลึกออนไลน์
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า เด็กไทยเริ่มใส่แว่นสายตากันตั้งแต่อายุยังน้อยเพราะสายตาสั้น หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา อาจจะนำไปสู่การเป็นโรคสายตาขี้เกียจ (Amblyopia หรือ Lazy eye) คือ โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของดวงตา จากการที่มีปัจจัยที่ทำให้ดวงตามองเห็นภาพไม่ชัด ในช่วงอายุ 9-10 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการของการมองเห็นอยู่จึงส่งผลให้ดวงตามีระดับการมองเห็นที่ลดลง ซึ่งจัดว่าเป็นโรคร้ายแรงที่เกิดขึ้นในเด็ก
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมองเห็นของเด็กมีหลายอย่าง เช่น การที่เด็กที่คลอดก่อนกำหนด มีความผิดปกติทางสมองและพัฒนาการ โรคตาเด็กที่มีความผิดปกติของตาที่สังเกตได้ เช่น หนังตาตก ตาเหล่ ตาสั่น และมีคนในครอบครัวมีความผิดปกติทางตาที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
นพ.จรินทร์ ศักดิ์ธนะเศรษฐ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาโรคตาเด็ก ตาเหล่ มะเร็งลูกตา โรงพยายาล BNH HOSPITAL กล่าวว่า เบื้องต้นสาเหตุของการเป็นโรคตาขี้เกียจมี อยู่ 3 อย่างคือ สายตาผิดปกติ สั้นมาก ยาวมาก เอียงมากหรือไม่เท่ากันระหว่างตา 2 ข้าง มีตาเหล่ ตาเข และส่วนประกอบของตาผิดปกติ ทำให้เกิดการบดบังของการมองเห็น หากดูจากสถิติขององค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่า โรคตาขี้เกียจ เป็นโรคที่ติดอันดับหนึ่งของการสูญเสียการมองเห็น หรือทำให้การมองเห็นลดลง และจะแก้ไขให้กลับมามองเห็นได้ยากในวัยผู้ใหญ่
เรียกว่า คนที่เป็นตาขี้เกียจที่ตรวจเจอตอนเป็นผู้ใหญ่ เป็นผลมาจากตอนเด็กที่ไม่ได้รับการแก้ไข และทำให้เป็นตาขี้เกียจไปตลอดชีวิต
(นพ.จรินทร์ ศักดิ์ธนะเศรษฐ)
โรคตาขี้เกียจ เริ่มเป็นในวัยเด็ก ต้องรักษาตั้งแต่เด็ก
นพ.จรินทร์ กล่าวว่า โรคตาขี้เกียจจะเป็นตั้งแต่วัยเด็ก พอพ้นวัยเด็กไปจะไม่สามารถแก้ไขได้ จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อยังเป็นเด็กอยู่เท่านั้น จริงๆแล้วโรคตาขี้เกียจเป็นโรคของสมองส่วนของการมองเห็น ที่สมองรับภาพจากตา ซึ่งสมองส่วนนี้เมื่อตอนเกิดมา ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ หลังจากที่เกิดมาสมองจะทำงานสัมพันธ์กับดวงตา และตาจะส่งสัญญาณภาพไปยังสมอง สมองก็จะพัฒนาตามการกระตุ้นที่เหมาะสมจากตาที่ส่งไปให้ เมื่อตามีปัญหา เช่น สายตาผิดปกติ มีตาเหล่ ตาเข หรือ ส่วนประกอบของตาผิดปกติ มีหนังตาตก มีต้อกระจก มีเลือดออกในจอตา ที่ทำให้ตารับภาพไม่สมบูรณ์ ตาก็จะสงสัญญาณไปที่สมองได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นจะทำให้สมองส่วนการมองเห็นมีพัฒนาการช้า
สมองคนเราจะพัฒนาอยู่ในช่วงสั้นๆ อายุไม่เกิน 10 ขวบ หลังจาก 10 ขวบไปแล้ว สมองจะหยุดพัฒนา หากพัฒนาได้แค่ไหนก็จะหยุดอยู่แค่นั้นไปตลอดชีวิต
นพ.จรินทร์ยังกล่าวถึงเรื่องสายตาสั้นในเด็กว่า “ในประชากรเด็กทั่วไป แม้จะไม่มีพ่อแม่เป็นสายตาสั้นนั้น เด็กจะมีสายตาผิดปกติได้เองอยู่แล้ว 10% ปัจจุบันทางโรงบาล BNH พยายามตรวจคัดกรองเด็กที่อายุประมาณ 3 ขวบครึ่งถึง 4 ขวบครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กจะเข้าวัยเรียน ว่าถ้าคนไหนมีสายตาผิดปกติ จะพยายามจะคัดกรองให้เจอ เพราะว่าเด็กกลุ่มนี้เมื่อไปโรงเรียนจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการเรียน”
การตรวจตาเด็กก่อนวัยเรียนจึงมีความสำคัญ ในแง่ที่จะช่วยส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ให้เด็ก ที่ผ่านมาทั้งประเทศยังไม่มีการคัดกรองก่อนเข้าโรงเรียน เมื่ออายุถึงเกณฑ์เด็กก็เข้าไปเรียนเลย เด็กที่มีปัญหาด้านสายตาบางคนก็ไม่มีอาการก็มีเยอะ บางคนมีปัญหาสายตาแค่ข้างเดียวอีกข้างไม่มี เขาก็จะไม่มีอาการอะไรเด็กไปเรียนตามปกติ ทั้งที่ใช้ตาได้อยู่ข้างเดียว และไม่มีใครรู้หากไม่ได้มีการคัดกรอง ในต่างประเทศ เช่น ประเทศอเมริกาเขาก็มีการคัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนเช่นกัน
นพ.จรินทร์ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาทางรัฐบาลก็มีโครงการเด็กไทยสายตาดี โดยให้ครูที่โรงเรียนช่วยคัดกรองเด็กว่าคนไหนมีปัญหาสายตา จะมีการแจกแว่นตา ตอนนี้ด้วยความที่บุคคลากรมีจำกัด จึงยังไม่สามารถที่จะตรวจเด็กทุกคนทั่วประเทศได้
นพ.จรินทร์กล่าวว่า ถ้าจะแก้ไขต้องไปแก้ที่สาเหตุ ตั้งปรับให้เด็กกลับมามองเห็น 100% ในช่วงที่สมองยังพัฒนาไปต่อได้ เพราะสมองยังโตต่อได้ แต่ถ้าเราปล่อยให้สมองหยุดแล้ว เราไปกระตุ้นเท่าไหร่ก็ไม่โต ไม่พัฒนาต่อแล้ว จึงต้องเริ่มรักษาตั้งแต่ตอนเด็ก
โดยปกติสายตาสั้นมากกว่า 800 หรือ 1000 ทั้งสองข้าง ก็มีโอกาสเป็นตาขี้เกียจได้ พอสายตาสั้นมากๆมองอะไรก็จะไม่เห็น เบลอไปหมด สมองก็จะไม่สามารถเห็นภาพชัดเลย และช้ากว่าเด็กปกติ
ขั้นตอนการรักษา
1.จะต้องรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดเช่น ถ้ามีสายตาผิดปกติ สั้นมาก ยาวมาก เอียงมาก จำเป็นต้องให้ใส่แว่น แก้ให้สายตากลับมาเป็นปกติ หรือถ้ามีตาเหล่ ตาเข จะต้องทำการผ่าตัดให้ตาตรง หรือหากเกิดจากตาผิดปกติก็จะให้ใส่แว่น ต้องแก้ทำให้ตากลับมาตรงก่อน
2.หากเป็นเพราะองค์ประกอบของตาผิดปกติ หนังตาตก มีต้อกระจก คงต้องผ่าตัดเพื่อแก้สาเหตุที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจนี้ หลังจากที่แก้สาเหตุแล้ว ต้องติดตามผลว่าตาขี้เกียจมันยังมีอยู่หรือไม่ จากนั้นจะทำการกระตุ้นตาข้างที่ขี้เกียจ ให้มีการใช้งานมากขึ้นในเด็ก ส่วนการกระตุ้นมีหลายรูปแบบเช่น อาจจะปิดตาดีไว้ เพื่อบังคับให้ตาข้างที่ขี้เกียจได้ใช้งานมากขึ้น หรือบางทีอาจจะให้หยอดยาเพื่อให้ตาข้างที่ดีมัวลงและทำให้ตาข้างที่ขี้เกียจได้ใช้งานมากขึ้นก็ได้
“แต่ปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยรักษามากขึ้น เช่น ให้เด็กเล่นเกมส์จากไอแพด โดยให้ใส่แว่น เป็นวิธีรักษาโรคตาขี้เกียจโดยเฉพาะ ต้องบังคับให้เด็กใช้ทั้ง 2 ตา เป็นการรักษาแบบใหม่ นอกจากนี้ยังมีเครื่องที่เอาไว้รักษาตาขี้เกียจ เพื่อให้เด็กฝึกการใช้สายตาทั้ง 2 ข้างร่วมกัน”นพ.จรินทร์กล่าว
การสูญเสียการมองเห็นอาจเป็นเพียงเล็กน้อยในวัยเด็ก แต่อาจเป็นถาวรถ้าไม่ได้รับการแก้ไขหรือรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
โรคตาขี้เกียจแบ่งเป็น 3 ระดับ
ระดับของตาขี้เกียจแบ่งได้ 3 ระดับ คือ น้อย ปานกลาง และมาก ในระดับน้อยถึงปานกลาง เด็กจะมีโอกาสกลับมามองเห็นเป็นปกติได้
ส่วนระดับที่มาก ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความร่วมมือในการรักษาของผู้ปกครองเด็ก ว่าจะสามารถร่วมมือกับการรักษาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่าตาขี้เกียจเป็นตาที่มองไม่ชัด เวลาที่ปิดตาเด็ก จะปิดข้างที่ดีไว้และเด็กก็มักจะไม่ยอม เด็กก็มักจะชอบแกะออก เด็กที่เป็นตาขี้เกียจสายตาจะมัวมาก และการปิดตาต้องปิดนานเพื่อให้ช่วงกระตุ้นมันยาวขึ้น ยากตรงที่ความร่วมมือระหว่างเด็กและวิธีการรักษา ยิ่งเริ่มการรักษาเร็วโอกาสในการรักษาให้สำเร็จมีมากกว่า เมื่อไปเจอตอนอายุ 3-4 ขวบ แล้วเริ่มรักษาเลย ก็จะมีโอกาสรักษายาวกว่า จนกว่าจะถึงอายุ 9-10 ขวบ ที่สมองจะหยุดพัฒนา และขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเป็นด้วย เช่น โรคต้อกระจก ค่อยข้างยากที่จะรักษา เพราะมี 2 โรคต้องผ่าตัดต้อกระจก ต้องใส่เลนส์เทียม และมีเรื่องต้อหินมารบกวนอีก ซึ่งต้องให้หมอมาประเมินในเด็กแต่ละคนที่เป็นไม่เหมือนกัน
พ่อแม่จะทราบได้อย่างไรว่าลูกเป็นสายตาขี้เกียจหรือไม่
นพ.จรินทร์กล่าวว่า พ่อแม่อาจจะต้องหมั่นสังเกตดูว่า การมองเห็นของลูกมีปัญหาหรือไม่ เช่น ให้ดูทีวี ถ้าเด็กคนไหนชอบเข้าไปนั่งดูใกล้ๆ หรือทำการบ้านแล้วต้องเอาหน้าเข้าไปใกล้ๆ ก็น่าจะมีสายตาผิดปกติ หรือครอบครัวมีสายตาผิดปกติอยู่แล้ว มีประวัติตาเหล่ ตาเขอยู่แล้ว เด็กกกลุ่มนี้ก็ควรจะได้รับการตรวจ
แต่จริงๆแล้วหมอแนะนำว่าเด็กทุกคน ไม่ว่าครอบครัวจะมีประวัติหรือไม่ แม้แต่เด็กปกติไม่มีอาการ ก็ควรจะนำมาตรวจสายตากันทุกคน เพราะเด็กบางคนที่มีปัญหาทางสายตาแต่ไม่มีอาการ เช่น ตามัวทั้ง 2 ข้างเท่าๆกัน ตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยเห็นภาพชัดเลย เด็กก็จะไม่เคยรู้ว่าอะไรคือชัด อะไรคือไม่ชัด เพราะฉะนั้นเขาก็จะไม่มีอาการให้เห็น หรือสั้นข้างละ 400 สองข้างเท่าๆกัน สายตาก็จะมัวเท่าๆกัน เด็กจะนึกว่าที่เห็นอยู่นี้ เป็นสายตาปกติของเขาที่มองเห็นปกติ ซึ่งหมอเคยเจอหลายคนที่ไม่มีอาการ เมื่อมาตรวจจึงรู้ว่ามีตาขี้เกียจ หรือบางคนเป็นข้างเดียว อีกข้างเป็นปกติดี เด็กก็จะใช้ตาเดียวมาตลอดชีวิต ข้างหนึ่งชัดข้างหนึ่งไม่ชัด และมีข้อเสียอีกอย่างคือ การมองภาพ 3 มิติได้น้อยลง เพราะเด็กจะใช้ตาข้างเดียว เมื่อใช้ตาข้างเดียวมองปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ลานสายตาจะแคบ การมองภาพ 3 มิติก็จะแย่ มีผลในชีวิตประจำวันเช่น การขับรถก็วัดระยะลำบาก การเล่นกีฬา เป็นต้น
นอกจากนี้ นพ.จรินทร์ ยังแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยว่า เมื่อมีลูกในวัย 3-4 ขวบ อย่างแรกคือ ให้สังเกตพฤติกรรมลูก และหมั่นถามว่า ไปโรงเรียนมองกระดานชัดหรือไม่ หรือจะทดสอบที่บ้านมองเห็นสิ่งของที่อยู่บริเวณบ้านหรือไม่ หากเด็กมองไม่เห็นก็อาจจะเริ่มมีอาการผิดปกติ หรือเด็กที่จ้องมองหนังสือใกล้ๆ เด็กที่มีตาเหล่ ตาเข มีประวัติสายตาในครอบครัว อันนี้ควรมาตรวจว่ามีปัญหาหรือไม่ สิ่งสำคัญคือ ยิ่งรู้เร็วผลการรักษาก็จะยิ่งดี หากปล่อยให้เลยตามอายุไปแล้วจะรักษาไม่ได้
+++++