ข่าว

"สาธิต"เชื่อการเมืองต่อจากนี้ เดินหน้าตามโรดแมปสู่เลือกตั้ง

"สาธิต"เชื่อการเมืองต่อจากนี้ เดินหน้าตามโรดแมปสู่เลือกตั้ง

30 ต.ค. 2560

"สาธิต" เชื่อการเมืองต่อจากนี้ เดินหน้าตามโรดแมปสู่เลือกตั้ง 

           เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ต่อจากนี้ ว่าก็คงเป็นไปตามปกติ ตามโรดแมปเข้าสู่การเลือกตั้ง ส่วนเรื่องการแสดงความเห็นต่างๆนั้นก็น่าจะทำได้เต็มที่มากขึ้น เพราะในสถานการณ์นั้นตนเชื่อว่าคงไม่มีความรุนแรงอยู่แล้ว ที่ผ่านมาที่เราเกิดความรุนแรงนั้นก็เป็นเพราะว่าคนกลุ่มหนึ่งที่เลือกจะแสดงออกอย่างรุนแรงเพื่อที่จะได้มาซึ่งอำนาจมากกว่า ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องแยกออกไปจากการเมืองแบบปกติ เพราะการเมืองปกตินั้นไม่มีความรุนแรง เป็นแค่การแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ส่วนกิจกรรมของพรรคก็มีการเตรียมตัวทำตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ระบุเงื่อนไขต่างๆที่พรรคต้องปรับตัวตามอยู่แล้ว

             เมื่อถามถึงจุดยืนของสมาชิกพรรคว่า จะมีใครย้ายออกในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่าเรื่อง ส.ส.ย้ายพรรคนั้นเป็นเรื่องปกติในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง แต่ตนเชื่อว่าสำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้นคงจะมีน้อยมากที่ตัดสินใจจะย้ายพรรค ที่ผ่านมาก็มีเห็นได้ชัดเจน ก็แค่นายนคร มาฉิม อดีต ส.ส.พิษณุโลก เท่านั้นที่ตัดสินใจย้ายออกไป ส่วนเรื่องอดีตสมาชิกกลุ่ม กปปส.ที่กลับเข้ามาที่พรรคประชาธิปัตย์นั้น ก็ได้มีการคุยกันชัดเจนก่อนหน้านี้แล้ว และมีจุดยืนที่ตรงกัน  คือต้องเคารพในจุดยืนของทางพรรคประชาธิปัตย์

            เมื่อถามต่อถึงท่าทีของพรรคต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยเรื่อง ส.ว. และ ส.ส. ภายหลังที่มีการปลดล็อคพรรคการเมืองแล้ว นายสาธิตกล่าวว่า ก็คงจะทำได้แค่ส่งความเห็นของพรรคไปยังนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงความเห็นในการจัดทำ พ.ร.ป.ฉบับต่างๆในนามส่วนตัวมาโดยตลอด  โดยเฉพาะในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากให้เราไปมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ก็คงจะมีความสมบูรณ์มากขึ้น เพราะว่าอดีต ส.ส.ก็ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แต่ทางกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมาย เขามองว่าพวกเราเป็นนักการเมือง กลัวว่าเข้าไปแล้วจะไปร่างกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้กฎหมายที่ผ่านมายังไม่สมบูรณ์เพราะเป็นแนวคิดในเชิงทฤษฎี แต่พอออกมาในทางปฏิบัตินั้นจะเป็นปัญหามากกว่า ดังนั้นก็จะมีเพียงแค่ไม่กี่ความเห็นของทางพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ได้รับการตอบสนองและถูกนำไปเขียนเป็นกฎหมาย