สำรวจแปลง‘เกษตรกรรมในโรงเรียน
ตะลุยสำรวจแปลง‘เกษตรกรรม’ในร.ร. ปั้นทายาทเกษตรสู่“สมาร์ท ฟาร์มเมอร์”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในภาคครัวเรือนในยุคเกษตร 4.0 ตามนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเริ่มที่การพัฒนาเกษตรกรให้มีศักยภาพในการประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพในบริบทของภูมิสังคมในชุมชนท้องถิ่นของตน
และปฏิเสธไม่ได้เช่นกันอีกว่าการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรสู่มืออาชีพจะต้องเริ่มกันตั้งแต่เยาว์วัยและคงหนีไม่พ้นในการใช้สถานศึกษาอย่างโรงเรียนในการฝึกฝนและทดลองปฏิบัติจริง ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนาสมรรถนะเกษตรกร (สมาร์ทฟาร์มเมอร์) สู่ความเป็นผู้นำการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรเชิงพื้นที่แบบองค์รวมในยุคเกษตรกร 4.0 โดยครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดในภาคกลาง ประกอบด้วย นครปฐม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-30 เมษายน 2561
“ท่องโลกเกษตร” วันนี้จะตาม “ผศ.ดร.สุรพล จันทราปัตย์” ที่ปรึกษาสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการและคณะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าซึ่งอยู่ในช่วงแรกของการดำเนินงาน เป็นการเลือกและสำรวจชุมชนนำร่องในระดับโรงเรียนและครัวเรือน ซึ่งวันนี้เราได้เดินทางมาที่โรงเรียนศาลาตึก ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งถูกคัดเลือกให้เป็นชุมชนนำร่องของ จ.นครปฐม พร้อมกับเครือข่ายอีก 3 โรงเรียนในบริเวณใกล้เคียง
“สวัสดีทุกท่าน ยินดีต้อนรับครับ” อ.อรรฐพนธ์ ศรีโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนศาลาตึกวิทยา พร้อมคณะผู้บริหารโรงเรียนกล่าวต้อนรับทันทีที่ทุกคนลงจากรถตู้ ก่อนพาเดินเยี่ยมชมกิจกรรมโรงเรียน ถือเป็นอีกโรงเรียนที่เด็กเก่งในด้านกิจกรรม โดยสังเกตจากการคว้ารางวัลชนะเลิศในระดับภาค ระดับประเทศมาเกือบทุกปี ไม่ว่าจะด้านกีฬาฟุตบอล การทำเมนอาหาร หรือแม้กระทั่งด้านเกษตรกรรม
จากนั้นทั้งหมดก็เข้าห้องประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงขั้นตอนการดำเนินโครงการในฐานะเป็นโรงเรียนนำร่อง โดย ผศ.ดร.สุรพล เริ่มต้นการอธิบายความเป็นมาของโครงการวิจัยในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้และเข้าในการทำเกษตรกรแบบครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการ ก่อนขยายผลไปสู่ครัวเรือนต่อไป
"ที่โรงเรียนเป็นแค่น้ำจิ้ม เป็นพื้นที่สาธิตให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ แต่เป้าหมายสำคัญต้องนำองค์ความรู้ที่ได้นี้ไปใช้ที่บ้านของตัวเองด้วย กลุ่มเป้าหมายของโครงการนอกจากเด็กนักเรียนแล้วยังมีผู้ปกครองร่วมด้วยเพื่อให้ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ผลที่ได้นอกจากเด็กได้เรียนรู้เรื่องเกษตร ผลผลิตนำมาเป็นอาหารกลางวันของโรงเรียนแล้ว ผู้ปกครองก็จะได้นำองค์ความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ที่บ้านด้วย และที่สำคัญ ผู้ปกครอง ชุมชนและโรงเรียนก็จะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย
“ทำไมสมัยก่อนถึงมีคำว่า “บวร” มาจากบ้าน วัด โรงเรียน เพราะอยู่ที่เดียวกัน แยกกันไม่ออก มาสมัยนี้เริ่มห่างเหินไป” คำกล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมของผศ.ดร.สุรพล จันทราปัตย์ ก่อนจะแนะนำอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่มาร่วมในโครงการนี้
อาทิ ดร.สุพจน์ กาเซ็ม จากภาควิชาโรคพืช ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืชและเกษตรผสมผสานจะมาช่วยดูแลในเรื่องโรคและแมลงในพืชผัก ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องข้าวโพด ข้าวฟ่าง จากไร่สุวรรณ ก็จะมาแนะนำในการปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักของชาวบ้านในพื้นที่นี้ รศ.ดร.อรสา สุกสว่าง จากคณะสังคม มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการผลิตไบโอชาร์ก็จะมาช่วยในเรื่องการสร้าูงมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือใช้กลายเป็นถ่านไบโอชาร์
รศ.ดร.อรสา สุกสว่าง หนึ่งในทีมโครงการยอมรับว่าปัญหาเรื่องขยะและเศษวัสดุเหลือใช้เป็นสิ่งที่น่าห่วงในปัจจุบัน ถ่านไบโอชาร์ไม่ใช่แค่นำกลับมาเป็นเชื้อเพลิงหุงต้ม แต่สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุปลูกผัก บำรุงต้นไม้ เพราะมีคุณสมบัติช่วยปรับปรุงดิน เก็บกักน้ำได้ดี ทำให้ดินมีความชุ่มชื้น กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ใต้ดิน เมื่อดินอุดมสมบูรณ์จะทำให้พืชเดินรากหากินใต้ดินได้ง่าย การดูดซับอาหารดีขึ้น ส่งผลให้ลำต้นพืชสมบูรณ์แข็งแรง และในถ่านไบโอชาร์ยังมีสารละลายฟอสเฟต และซิลิกา ซึ่งใช้ป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ย-เคมีภัณฑ์ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย
นับเป็นอีกโครงการวิจัยโดยผ่านเด็กนักเรียนในโรงเรียนและผู้ปกครองในชุมชนรายรอบ 4 จังหวัดในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และนโยบายเกษตร 4.0 ของรัฐบาล เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ นั่นก็คือการสร้างชุมชนให้มีความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป