ดราม่า...!! ถอดเก้าอี้ MRT วันแรก คนแห่วิจารณ์
ถูกวิจารณ์อย่างหนัก!! สำหรับกรณีที่รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ได้นำขบวนรถที่ถูกถอดเก้าอี้ออกมาให้บริการ
วันนี้ (20 พ.ย.60) รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ได้นำขบวนรถที่ถูกถอดเก้าอี้ออกมาให้บริการเป็นวันแรก ซึ่งกำลังถูกวิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะในโลกออนไลน์
ทั้งนี้ช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่เพจเฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro และทวิตเตอร์ MRT Bangkok Metro มีการชี้แจงเรื่องนี้ โดยระบุว่า “บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพิ่มพื้นที่ว่างในขบวนรถไฟฟ้า สายเฉลิมรัชมงคล โดยถอดเก้าอี้นั่งผู้โดยสารออกเฉพาะที่นั่งแถวกลาง เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้มากขึ้น ทั้งนี้จะเริ่มทดลองให้บริการขบวนแรก ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป และขอความร่วมมือผู้โดยสารช่วยขยับนิดชิดในให้ผู้โดยสารท่านอื่นสามารถเดินทางไปด้วยกัน”
ปรากฎว่า มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าวหลายร้อยราย โดยแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และให้ความเห็นในเชิงแนะนำแสดงความห่วงใย
ผู้ที่เห็นด้วยกับการถอดเก้าอี้ MRT เพื่อให้ที่พื้นที่รองรับผู้โดยสารในช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Kai Kookzillaz ระบุว่า “ดีครับ เห็นด้วย ที่ญี่ปุ่นก็พับได้สำหรับ ชม. เร่งด่วน จะเน้นแต่นั่งก็ไม่ไหวครับ ต้องเสีบสละกันบ้างเพื่อส่วนรวม อย่างน้อยการเอาเก้าอี้ออก ก็ช่วยให้คนขึ้นได้มากขึ้นอีกนิดต่อตู้ ระหว่างที่รอรถรอตู้ที่จะมาเสริมปลายปีหน้า ใครบ่นว่าไม่เพิ่มขบวน เขากำลังทำอยู่แต่ต้องรอผลิต รอประกอบ ขนาดรถยนต์ยังต้องจองเลย รถไฟก็เหมือนกัน ไม่ใช่ที่จะเดินจ่ายตลาดหรือเข้าเซเว่นอีเลฟเว่นซื้อมาได้เลย”
ผู้ใช้เฟซบุ๊ค EiEii Katalee ระบุว่า “เราว่าเป็นวิธีที่ดี สำหรับคนที่ขึ้นช่วง ชม. เร่งด่วน ที่ตอนกลับบ้านต้องรอเกือบ 6 ขบวน (สุขุมวิท) มันแน่นจนจะไม่ไหว คนตรงกลางก็ไม่ขยับเข้าด้านใน ทำแบบนี้มีว่างจุคนได้มากขึ้น แต่ยังไงก็เป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะยาวต้องปรับปรุงให้ดีกว่านี้”
ผู้ใช้เฟซบุ๊กBird Nakrub แสดงความเห็นด้วยว่า “ถอดเก้าอี้ออกให้หมด 2 ตู้เลย เหลือไว้เฉพาะคนพิเศษนั่ง (ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ เด็ก และคนชรา) ทุกวันนี้มีแต่พวกรีบวิ่ง เบียดแทรก ผลักดันชาวบ้าน เพื่อหวังไปหัวแถวเพราะจะนั่งเก้าอี้เนี่ยแหละ ควรเอาออกไปทั้ง 2 ตู้ จะได้เพิ่มที่ยืน ส่วนพวกใครอยากแย่งนั่งเก้าอี้ก็ไปเบียดแย่งกันตู้เดียว ที่ต่างประเทศก็มีตู้ยืนล้วน"
ผู้ใช้เฟซบุ๊กChittakon Charrunkun ระบุว่า “เขาไม่ได้เอาออกหมด ออกแค่บางขบวนแล้วแค่บางตู้เท่านั้น และที่บอกว่าทำไมไม่เพิ่มขบวน คุณคะ เวลาที่คนจะแน่นจริงๆมีแค่ช่วงเช้า กับเย็น กลางวันโล่งผีจะหลอก จะให้ลงทุนเพิ่มขบวนแค่ไหนมันก็ไม่พอสำหรับช่วงเวลาเช้ากับเย็นหรอกค่ะ”
สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วย เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Som Prachyawan แสดงความคิดเห็นว่า “แทนที่จะหาเพิ่มตู้โดยสารช่วงเร่งด่วน แต่ดันโยนให้ผู้โดยสาร ทุกวันนี้ปวดเมื่อยตัวมาก เกร็งขาทุกวันจนปวด ทุกวันนี้ยืนชิดแบนกันอยู่แล้ว สงสารผู้หญิงบ้าง”
ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @_andxJ ระบุว่า “เพิ่มรถไฟให้วิ่งถี่ขึ้นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนน่าจะดีกว่าถอดเก้าอี้ออกมั้ยคะ? เมื่อเช้ารอ4นาที ผ่านไป3นาทีก็ยังขึ้น4นาทีเหมือนเดิม ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่มีเก้าอี้ไม่มีเก้าอี้หรอกค่ะ ฝากไว้ให้คิด”
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Smit Promsiri แสดงความคิดเห็นว่า “ที่ไทเปสายสีแดง ขบวนรุ่นล่าสุด ตู้สุดท้ายจะเอาที่นั่งบางส่วนออก กลายเป็นเหมือนราวเหล็ก ซึ่งราวเหล้กนั้นสามารถนั่งได้ วางของได้ ทำให้พื้นที่ตู้นั้นกว้างมาก และเมโทรไทเปมี 6 ตู้ จะให้ดีเพิ่มจำนวนตู้ก่อนดี สิบปีแล้วยังดันทุรังวิ่งแค่ 3 ตู้อยู่ได้”
ผู้ใช้เฟซบุ๊กEve Chayaporn แสดงความไม่เห็นด้วยว่า “ปกติคนท้อง เด็ก คนชราขึ้นไปยังแทบไม่ได้นั่ง จะเป็นลม เบียดกันแทบตาย หายใจไม่ออก แล้วยังถอดที่นั่งออกอีก แล้วคนเหล่านี้ยังต้องมายืนอีก ไม่โอเคเลยค่ะ ถ้าจะแก้ปัญหา เพิ่มขบวนดีกว่าค่ะ”
ความเห็นอื่นๆ เช่น เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ "Nawapadon Janis" ระบุว่า “ปัญหาส่วนหนึ่งคือสำนึกในการใช้บริการรถสาธารณะ ไม่เดินเข้าด้านใน ยืนขวางเล่นโทรศัพท์ คิดแต่ว่าเสียเงินแล้วตัวเองจะต้องสบาย คนอื่นจะยังไงก็เรื่องของมัน เห็นแก่ตัว”
ขณะที่ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ Nana แสดงความคิดเห็นว่า “ชั่วโมงเร่งด่วนอยากให้เปิดแอร์เย็นๆ หน่อยค่ะ เมื่อเช้าตู้ที่อยู่ไม่มีแอร์เลย คนก็แน่น ลมก็ไม่มี อึดอัดมากๆ เลยค่ะ"
จากการตรวจสอบบนหน้าเพจเฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro พบว่า ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีชี้แจงในเรื่องนี้ ทั้งนี้ผู้คนบนโลกออนไลน์ส่วนหนึ่งแสดงความไม่พอใจว่า ไม่มีการแจ้งข้อมูลข่าวสารล่วงหน้า
BEM แจงปมถอด‘เบาะ’รถไฟฟ้า เพิ่มพื้นที่โดยสาร
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ระบุว่า เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล หรือรถเอ็มอาร์ที ในช่วงที่รอการรับมอบรถขบวนใหม่ บริษัทจึงถอดเบาะที่นั่งในแต่ละตู้ออกเป็นการชั่วคราว โดยแต่ละตู้จะเหลือเบาะที่นั่งเพียงด้านเดียว เพื่อให้มีพื้นที่โดยสารเพิ่มขึ้น
“ยืนยันว่าเบาะที่นั่งที่ลดลง ไม่มีผลต่อความปลอดภัยในการใช้บริการ แต่อาจมีผลในด้านความรู้สึกบ้าง ซึ่งรถไฟฟ้าที่ให้บริการในประเทศต่างๆก็ใช้วิธีนี้เพื่อเพิ่มพื้นที่โดยสารเช่นกัน”
กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ ระบุว่า ปัจจุบันเส้นทางสายเฉลิมรัชมงคลมีรถให้บริการรวม 19 ขบวน ซึ่ง BEM ได้นำมาให้บริการเต็มจำนวน และนอกจากการถอดเบาะที่นั่งแล้ว BEM ยังได้เพิ่มศักยภาพการให้บริการ เช่น การเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการ รวมทั้งการสต็อกอะไหล่อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการในกรณีเกิดปัญหาขัดข้องทางเทคนิค
"ขณะเดียวกัน BEM ขอความร่วมมือจากผู้ใช้บริการ เพื่อเตรียมตัวในการขึ้น-ลงในแต่ละสถานี หากผู้โดยสารขึ้น-ลงเร็วขึ้น และจัดแถวอย่างเป็นระเบียบ จะทำให้ประตูรถเปิด-ปิดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ"