สนช.รับหลักการ กม.เลือกตั้ง ส.ส.
สนช.รับหลักการกม.เลือกตั้งสส." มีชัย" แจง ทุกคะแนนมีความสำคัญ ชี้ พรรคใดจะได้ส.ส.กี่คน ย้ำทำให้ประชาชนมีทางเลือก
30 พ.ย.60 – ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) พ.ศ..ที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ. )เสนอมา โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.กล่าวถึงภาพรวมของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯว่า ในการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ เป็นครั้งแรกที่กรธ.ได้เชิญเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาร่วมพิจารณาร่างพ.ร.ป.ร่วมกับกรธ.ตั้งแต่ต้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกกต.ที่มาร่วมประชุมกรธ.ได้ช่วยตรวจดูความถูกต้องของร่างดังกล่าวไปเสนอต่อกกต.ทั้ง 5 คนและให้ทำความเห็นกลับมายังกรธ. ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
นายมีชัย กล่าวว่า ภาพรวมของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเลือกตั้งสส.เป็นโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กรธ.จึงได้มีบัญญัติหลักการสำคัญหลายประการเข้าไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว เช่น การกำหนดให้เบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ของพรรคการเมืองในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ซ้ำกัน เป็นต้น สาเหตุที่กำหนดไว้เช่นนี้ ด้วยกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่ให้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นคะแนนเสียงที่มีความสำคัญและผู้เลือกตั้งต้องดูทั้งพรรคและบุคคล เราจึงคิดว่าการที่จะใช้เอาความสะดวกสบายให้ทุกพรรคมีเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ มันจะทำให้ขาดตกบกพร่องในเรื่องการพิจารณาตัวบุคคลผู้สมัครแต่ละเขต เราจึงกำหนดให้แต่ละเขตมีเบอร์ของตัวเอง
" ฟังดูเหมือนกับว่าเราจะกลับไปทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ แต่ในอดีตที่ทำกันมาก็ทำอย่างนี้ และในแต่ละประเทศก็น้อยมากที่ใช้เบอร์เดียวกัน บางประเทศไม่มีเบอร์ด้วยซ้ำ ให้เขียนชื่อเอาเอง จึงไม่ได้ผิดแผกแปลกต่างไปจากชาวบ้านชาวเมืองเท่าไหร แต่ข้อสำคัญ คือ จะทำให้ต้องเลือกคนที่คนในพื้นที่รับรู้รับเห็นพอใจ" นายมีชัย กล่าว
ประธานกรธ.กล่าวอีกว่า ที่สำคัญกติกาการเลือกตั้งในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการออกเสียงมากขึ้น กล่าวคือ การให้ประชาชนสามารถลงคะแนนไม่ประสงค์จะเลือกผู้สมัครคนใด เดิมไม่เคยนำเอาคะแนนส่วนนี้มานับ แต่คราวนี้กำหนดให้นำคะแนนนั้นมานับแล้วประกาศให้ประชาชนทราบ และถ้าในเขตเลือกตั้งใดผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่มีใครได้คะแนนเกินกว่าคะแนนที่ไม่เลือกผู้ใด ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดในเขตนั้นจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง และจะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งแทนคราวนั้น ต้องกลับไปสร้างคุณงามความดีกันใหม่อีก 4 ปีค่อยกลับมาสมัครใหม่
จากนั้นเป็นการอภิปรายของสมาชิกสนช. ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ แต่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงถ้อยคำในร่างกฎหมายเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริต
นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สมาชิกสนช.ในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้พิจารณาภาพรวมของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯแล้วได้มีข้อสังเกตบางประการ ดังนี้ กรณีมาตรา 15 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯว่าด้วยการให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถมติไม่น้อย 2 ใน 3 เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้หากมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกได้จนเป็นเหตุไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันได้ ซึ่งคณะกรรมการฯมีข้อสังเกตว่าควรมีมาตรการในการควบคุมการใช้ดุลพินิจของกกต.เกี่ยวกับการกำหนดการเลือกตั้งตามมาตรา 15 โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องกำหนดนิยามที่ชัดเจนว่าเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้มีขอบเขตอย่างไรบ้าง
นายนิพนธ์ กล่าวว่า เช่นเดียวกับมาตรา 75 ซึ่งกำหนดห้ามเกี่ยวกับการกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน คณะกรรมการฯมีความเห็นว่าควรกำหนดความผิดให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องด้วย รวมไปถึงควรเอาผิดกับสส.หรือสว.ที่ใช้งบประมาณของประเทศเพื่อจูงใจให้ประชาชนเลือกตนเองในครั้งต่อไปด้วย
ด้าน ประธานกรธ.ชี้แจงว่าในภาพรวมของร่างกฎหมายเลือกตั้งสส.ที่สนช.พิจารณาในวันที่ 30 พ.ย.ส่วนใหญ่กรธ.ได้แก้ไขตามข้อเสนอของสนช.มาก่อนแล้ว เช่น มาตรา 75 ซึ่งกรธ.ได้ปรับปรุงถ้อยคำให้รวมไปถึงบุคคลอื่นที่กระทำความผิดด้วย ไม่ใช่เฉพาะผู้สมัครแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนมาตรา 15 นั้นในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นของกรธ.ก็ได้เล็งเห็นถึงการกำหนดนิยามเช่นกัน แต่เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดนิยามลงไปว่าจะให้คำว่าเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกได้จะให้ครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง เพราะเหตุจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละกรณีมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หากมีประเด็นที่จำเป็นต้องแก้ไขถ้อยคำให้มีความชัดเจนก็สามารถดำเนินการในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสนช.ต่อไป
จากนั้นที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ด้วยคะแนน 189 คะแนน งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 33 คน กำหนดเวลาในการพิจารณาให้เสร็จภายใน 58วัน