
กรีนบัสทุ่ม80ล้านเดินรถเชียงใหม่-หลวงพระบาง
"กรีนบัส"เดินหน้าเชื่อมโยงเส้นทางเดินรถเชื่อม สปป.ลาว เปิดเส้นทาง"เชียงใหม่ - เชียงของ - บ่อแก้ว - หลวงน้ำทา - หลวงพระบาง"เน้นวางระบบไอทีจำหน่ายตั๋วใบเดียวก่อน วางอนาคตเจรจาข้อกม.ลงตัวนำรถวิ่งข้ามประเทศ คาดใช้เงินทุนไม่ต่ำกว่า 80 ล.บาท
นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารประจำทาง"กรีนบัส"ที่ได้รับสัมปทานเส้นทางในภาคเหนือ เปิดเผยถึงแผนการขยยาเส้นทางเดินรถ ว่า ได้เจรจากับผู้ประกอบการรถโดยสารและหน่วยงายรัฐใน สปป.ลาวเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางเดินรถจากเชียงใหม่ - เชียงของ - บ่อแก้ว - หลวงน้ำทา - หลวงพระบาง รวมระยะทางประมาณ 1,000 กม.โดยช่วงแรกจะเป็นการสร้างระบบเครือข่ายการจำหน่ายตั๋วโดยสารระหว่างกันแล้วจึงพัฒนาไปสู่การนำรถโดยสารไปวิ่งรับส่งอีกครั้ง
เนื่องจากต้องเจรจาเรื่องข้อกฎหมายและระเบียบกับหน่วยงานภาครัฐของ สปป.ลาวให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นความรับผิดชอบต่อผู้โดยสารกรณีเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งการวางระบบชำระเงินระหว่างสกุลเงินบาทและเงินกีบ ฯลฯ
"คาดว่าการวางระบบจำหน่ายตั๋วโดยสารเชื่อมโยงจะเริ่มเปิดให้บริการได้เร็วที่สุดภายในปลายปี 2552 นี้ โดยคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนทั้งหมด ตั้งแต่การวางระบบไอที การจำหน่ายตั๋ว และแผนการนำรถโดยสารไปวิ่งใน สปป.ลาวในอนาคตซึ่งต้องสร้างสถานีรองรับไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท"นายสมชายกล่าว
นอกจากนี้บริษัทฯเตรียมยื่นเรื่องขออนุญาตต่อกรมการขนส่งทางบกเพื่อเปิดเส้นทางเดินรถเชื่อมระหว่างภูมิภาค จากเชียงใหม่ - ภูเก็ต ซึ่งกรมการขนส่งฯอยู่ระหว่างพิจารณาเส้นทางแต่ละจุดอยู่ เชื่อว่าไม่เกินเดือน เม.ย.2553 จะเปิดให้บริการเดินรถเส้นทางดังกล่าวได้ บริษัทฯยังเตรียมจะร่วมมือสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการรถโดยสารขนาดเล็กที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารในเขตเมือง เพื่อสร้างคุณภาพและยกระดับการให้บริการรวมกันให้ดียิ่งขึ้น
ส่วนผลประกอบการในช่วง 9 เดือนของปี 2552 ลดลงไปกว่า 7% ส่วนปี 2550 - 2551 ผลประกอบการทั้งปีลดลงไปราว 3% ปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงเป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเป็นหลัก โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจึงลดกำลังการผลิตและลดจำนวนคนงาน
บริษัทฯต้องปรับตัวโดยการลดจำนวนเที่ยววิ่งตามจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงในแต่ละเส้นทางและวันที่เดินรถ จากเดิมวิ่งเฉลี่ยวันละ 200 เที่ยว ลดลงไปประมาณ 30% โดยเน้นเส้นทางที่ผู้โดยสารมีน้อยในช่วงกลางสัปดาห์ รวมทั้งการปรับลดต้นทุนค่าขนส่งให้ต่ำลง เช่น เปลี่ยนรถใหม่จากเดิมใช้รถที่ผลิตในจีนลดการใช้น้ำมัน 3 กม.ต่อลิตร ใช้รถที่ผลิตจากญี่ปุ่นลดการใช้น้ำมันได้ 3.8 กม.ต่อลิตร
นายสมชาย กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวี ยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลความคุ้มค่าในการลงทุน เพราะการติดตั้งถังแก็สเอ็นจีวีจะทำให้รถต้องแบกน้ำหนักเพิ่มถึง 1 ตัน มีผลทำให้เครื่องยนต์และระบบเบรคสึกหรอเร็วกว่าเดิม เบื้องต้นอาจเลือกใช้ระบบเอ็นจีวีเหลวเพราะลดการแบกน้ำหนักของถึงแก็สเหลือเพียง 1 ถัง และยังลดความถี่ในการเติมเชื้อเพลิงเมื่อปรียบเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวีปกติ.