เกษตรฯสนับสนุนการใช้แมลงช่วยผสมเกสร
เกษตรฯสนับสนุนการใช้แมลงช่วยผสมเกสร
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การใช้แมลงผสมเกสร เพื่อเพิ่มผลผลิตพืช เป็นวิธีการและปัจจัยที่มีความสำคัญปัจจัยหนึ่ง เพราะพืชเศรษฐกิจทางการเกษตรหลายชนิดถึงแม้จะมีการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี มีการเจริญเติบโต แข็งแรงออกดอกเต็มต้น หากไม่มีแมลงช่วยผสมเกสรผลผลิตพืชจะได้รับเพียงบางส่วน นอกจากนี้ ผลผลิตพืชหลายชนิดที่มีการผสมเกสรไม่เต็มที่ ผลผลิตที่ได้รับก็จะไม่สมบูรณ์ และไม่มีคุณภาพ สภาพเช่นนี้เป็นปัญหาที่เกษตรกรประสบอยู่เป็นประจำ ดังนั้น การใช้แมลง ผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จึงมีความจำเป็น และเป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่าได้ผลดี สามารถเพิ่มผลผลิตพืชทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับแมลงผสมเกสรที่นิยมใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตรของประเทศไทย ได้แก่
1. ชันโรง ชันโรงมีลำตัวขนาดเล็ก สามารถเข้าผสมเกสรในดอกไม้ที่มีขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ มีรัศมีหากินประมาณ 300 เมตรจากรัง ดังนั้นจึงทำให้สะดวกต่อการจัดการในการตั้งรังชันโรงเพื่อผสมเกสรชนิดพืชที่ต้องการได้ เราจะพบเห็นการเลี้ยงชันโรงเพื่อช่วยผสมเกสรกันมากในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้ ชันโรงเป็นแมลงชี้วัดความปลอดภัยจากสารเคมี อาหารและพืชผลทางการเกษตร เกษตรกรจึงมักจะเลี้ยงชันโรงควบคู่กับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ และ ในไร่นาสวนผสม นอกจากนี้ยังให้ผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้แก่ น้ำผึ้ง และพรอพอลิส
2. ผึ้งพันธุ์ ผึ้งพันธุ์มีอุปนิสัยไม่ดุ ไม่ทิ้งรัง สามารถเลี้ยงในรังเลี้ยงผึ้งได้ และสามารถขนย้ายรังผึ้งเพื่อทำหน้าที่ผสมเกสรให้กับพืชเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น ลำไย ลิ้นจี่ มะพร้าว มะม่วง กาแฟ มะม่วงหิมพานต์ ทานตะวัน เป็นต้น นอกจากนี้ ผึ้งพันธุ์ยังให้ผลผลิตที่มีคุณค่า ได้แก่ น้ำผึ้ง เกสรผึ้ง นมผึ้ง ไขผึ้ง พรอพอลิส และพิษของผึ้ง ผึ้งพันธุ์จึงเป็นแมลงเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง
3. ผึ้งโพรง เป็นผึ้งท้องถิ่นของประเทศไทยที่พบอยู่ตามธรรมชาติ สามารถนำมาเลี้ยงได้ในกล่อง ลังไม้ เป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยผสมเกสร ส่วนใหญ่มักพบเห็นการเลี้ยงผึ้งโพรงในสวนผลไม้ทางภาคใต้ของประเทศไทย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสวนผลไม้และสามารถเก็บผลผลิตน้ำผึ้งและไขผึ้งจำหน่ายได้ด้วย
4. ผึ้งหลวง เป็นผึ้งที่มีขนาดลำตัวใหญ่ มักทำรังตามธรรมชาติบนกิ่งของต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นรังที่มีขนาดใหญ่แบบรวงเดี่ยว ชอบทำรังในที่โล่งแจ้ง และอยู่ที่สูงเพื่อป้องกันการถูกรบกวน จึงแตกต่างจากผึ้งโพรงและผึ้งพันธุ์ที่มีรวงซ้อนกันมากกว่า 1 รวง นอกจากนี้ ผึ้งหลวงยังมีพฤติกรรมที่ชอบอพยพย้ายรังไปยังแหล่งอาหารใหม่อยู่ตลอดเวลา และสามารถบินหาอาหารได้ในระยะทางไกลๆ จึงไม่สามารถเลี้ยงไว้ในกล่องไม้ หรือในระบบฟาร์มได้เหมือนกับผึ้งพันธุ์ ถ้าแหล่งใดมีความอุดมสมบูรณ์ของพืชที่ให้น้ำหวานและเกสร ในปริมาณมากก็จะพบผึ้งหลวงจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ผึ้งหลวงมีบทบาทสำคัญในการช่วยผสมเกสร ในผลผลิตทางการเกษตร และเป็นการอนุรักษ์ความหลายหลายทางชีวภาพ
โดยแมลงช่วยผสมเกสรถือเป็นแมลงเศรษฐกิจ ที่กรมส่งเสริมการเกษตร ให้การดูแล สนับสนุน ซึ่งในปัจจุบัน กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานภาครัฐเพียงแห่งเดียวที่ดำเนินงานส่งเสริมด้านแมลงเศรษฐกิจ หากสนใจ สามารถศึกษาหรือสอบถามข้อมูลการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 5 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดชุมพร ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดอุตรดิตถ์
***********************