ข่าว

สั่ง 36 แบงก์ล้อมคอกคดี ‘ณิชา’

สั่ง 36 แบงก์ล้อมคอกคดี ‘ณิชา’

12 ม.ค. 2561

ปปง.เรียก 36 สถาบันการเงินล้อมคอกแก๊งคอลเซ็นเตอร์สวมสิทธิ์บัตร ปชช.ผู้อื่นเปิดบัญชีธนาคารหลอกลวงเหยื่อ จ่อเรียก 2 เจ้าของบัญชีโอนผิดปกติให้ปากคำ

 

               จากกรณี น.ส.ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ อายุ 24 ปี พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ถูกคนร้ายล้วงกระเป๋าขณะเดินทางไปทำงาน มีบัตรประจำตัวประชาชน บัตรเอทีเอ็ม หายไป ต่อมาทราบว่าคนร้ายนำบัตรประชาชนไปขอเปิดบัญชีธนาคาร 7 แห่งรวม 9 บัญชี ซึ่งพฤติกรรมคนร้ายได้หลอกให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีของ น.ส.ณิชา จากนั้นเบิกเงินหลบหนีไป ทำให้ น.ส.ณิชา ตกเป็นผู้ต้องหาฉ้อโกง ต้องติดคุก 2 คืน 3 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวจากศาลจังหวัดตาก จากนั้นแจ้งความขอความเป็นธรรมกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.)

               ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มกราคม พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ในวันที่ 12 มกราคม เวลา 14.30 น. ปปง. ได้เชิญตัวแทนสถาบันการเงิน 36 แห่งมาร่วมประชุม เพื่อหารือถึงมาตรการป้องกันการสวมสิทธิ์บัตรประชาชนผู้อื่นเปิดบัญชีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสอบถามถึงกรณีดังกล่าว

               สำหรับมาตรการตรวจสอบการแสดงตนของผู้เปิดบัญชี กำหนดให้ทุกสถาบันการเงินต้องตรวจสอบรายละเอียดลูกค้าที่ต้องการเปิดบัญชีทั้ง ชื่อนามสกุลจริง อาชีพ วันเดือนปีเกิด เลขประจำตัวบัตรประชาชน ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน สถานที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ และอีเมล หากสถาบันการเงินละเลยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวให้รอบคอบ กฎหมายกำหนดให้มีโทษปรับบัญชีละ 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะแก้ไขให้แล้วเสร็จ

               ด้าน พล.ต.ท.ทวิชชาติ พละศักดิ์ ผบช.ภ.6 กล่าวถึงคดีนี้ว่า ขณะนี้ได้สั่งให้ตรวจสอบบัญชีทั้งหมดแล้ว โดยทราบว่าผู้เสียหายที่โอนเงินจำนวนกว่า 1 ล้านบาท เข้าบัญชีชื่อของ น.ส.ณิชา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้พนักงานสอบสวนรายงานรายละเอียดของบัญชีอยู่

               พล.ต.ท.ทวิชชาติ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นได้ตั้งพนักงานสอบสวนเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังถือว่า น.ส.ณิชา ยังคงเป็นผู้ต้องหาอยู่ หากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็พร้อมที่จะสั่งไม่ฟ้อง ส่วนบัญชีที่มีการโอนเงินที่ผิดปกติอีกสองบัญชี ของขวัญ ทองน้อย กับ ธีรพัฒน์ เชื่อว่าสองคนนี้อยู่ในพื้นที่จังหวัดตาก วันนี้ (11 ม.ค.) จะออกหมายเรียกมาสอบปากคำในฐานะผู้ถูกกล่าวหา เมื่อมาให้การแล้ว สอบสวนเสร็จสิ้นกระบวนการพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อหา เบื้องต้น ยังไม่ได้รับการประสานจากบุคคลทั้งสอง รวมทั้งจะต้องสอบกับทางธนาคารด้วยว่าบัญชีที่มีการโอนเงินผิดปกตินี้ ใครเป็นคนมาเปิดบัญชี และใครเป็นผู้มากดเงิน ซึ่งจะได้รายละเอียดมากขึ้นหลังเข้าสอบปากคำเจ้าหน้าที่ธนาคาร

               สำหรับเจ้าหน้าที่ธนาคารที่มีการรับเปิดบัญชีโดยไม่ได้ตรวจสอบลักษณะบุคคลกับบัตรประจำตัวประชาชนเป็นความประมาทของเจ้าหน้าที่หรือไม่นั้น พล.ต.ท.ทวิชชาติ กล่าวว่า ก็จะต้องดูระเบียบของธนาคารก่อนว่ามีการกำหนดระเบียบอย่างไร ถึงจะรู้ว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารบกพร่องหรือไม่ ทั้งนี้ หากบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ใดหายขอให้รีบแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที เพราะจะเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักพอที่จะนำมาประกอบสำนวนคดี กรณีที่สถานีตำรวจในพื้นที่ไม่รับแจ้งความบัตรประจำตัวประชาชนหาย ขอให้แจ้งผู้บังคับบัญชาของสถานีตำรวจนั้น แต่ตนเชื่อว่าทุกสถานีจะดำเนินการให้เพราะตำรวจมีหน้าที่ให้บริการประชาชน

               วันเดียวกัน มีรายงานว่าสำหรับคดีนี้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ได้เรียกประชุมชุดสืบสวนจากหลายภาคส่วนทั้งในส่วนของตำรวจภูธรภาค 6 (บช.ภ.6) ตำรวจภูธรจังหวัดตาก (ภ.จว.ตาก) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) และ สภ.บ้านตาก โดยดำเนินการเป็นชุดคณะทำงาน เบื้องต้นได้วางแนวทางการสืบสวนออกเป็นสองส่วน ในส่วนแรกเป็นคดีฉ้อโกง สำหรับส่วนที่สองเป็นคดีสวมบัตรประชาชนแสดงตนเป็นบุคคลอื่นเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งสองส่วนนี้มีความเชื่อมโยงกันตามแนวทางการสืบสวน และผู้รับผิดชอบหลักได้มอบหมายให้ตำรวจ บช.ภ.6 , ภ.จว.ตาก และ สภ.บ้านตาก เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนขยายผลหาความเชื่อมโยง ส่วน บก.ป. จะเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนตามอำนาจสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

               อย่างไรก็ตาม ทางพนักงานสอบสวน สภ.บ้านตาก ได้ประสานทางธนาคารทั้ง 7 แห่งเพื่อขอกล้องวงจรปิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารเองก็อยู่ในฐานะผู้เสียหาย เนื่องจากถูกคนร้ายหลอกลวงเปิดบัญชีธนาคารเช่นกัน

               ด้าน พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รอง ผบก.ป. ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานและข้อมูลเอกสาร ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะไปยังธนาคารต่างๆ เพื่อประสานขอกล้องวงจรปิด คาดว่าจะดำเนินการได้ใน 2 วันนี้

               ขณะที่ พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิม ผบก.ป. กล่าวว่า ในส่วนของกองปราบนั้น จะทำหน้าที่ตรวจสอบว่า น.ส.ณิชา เกี่ยวข้องกับการไปเปิดบัญชีหรือไม่ เพื่อเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามที่ น.ส.ณิชา มาร้องขอให้ตรวจสอบเท่านั้น ก่อนจะนำข้อมูลและหลักฐานทั้งหมดส่งต่อไปยัง สภ.บ้านตาก จ.ตาก ที่เป็นเจ้าของคดี ในส่วนสำนวนคดีต้องถามจาก สภ.บ้านตาก เท่านั้น

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ศิริพงศ์ ศรีทันฐ์ ผกก.สภ.บ้านตาก อ.บ้านตาก จ.ตาก และ พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ ขอนพุดชา ผกก.สืบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก พร้อมทีมงานพนักงานสืบสวน ได้เดินทางไปกรุงเทพฯ อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อประสานงานกับตำรวจกองปราบปราม และฝ่ายสืบสวนตำรวจนครบาล เพื่อสืบค้นหาข้อเท็จจริงกรณี น.สณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์จริงหรือไม่ เมื่อมีการออกมาปฏิเสธ และแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ว่าถูกนำบัตรประชาชนที่มิจฉาชีพเอาไปสวมสิทธิ์เปิดบัญชีธนาคารหลายแห่ง

               ทั้งนี้ จะต้องตรวจสอบว่าคดีอาจจะพัวพันกับแก๊งคอเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงให้ นางกาญสินี ยะเมา ชาว อ.สามเงา จ.ตาก โอนเงินกว่า 3 แสนบาทเศษ ผ่านธนาคารแห่งหนึ่งใน อ.บ้านตาก จ.ตาก เป็นค่าธรรมเนียม และค่าจัดการอื่นๆ หรือไม่

               พ.ต.อ.มนัส ศรประพันธ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก กล่าวว่า ต้องพิสูจน์ว่า น.ส.ณิชา เป็นเหยื่อในขบวนการคอลเซ็นเตอร์ หรือร่วมขบวนการกระทำความผิดหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมากรณีจับผู้ต้องหาขบวนการคอลเซ็นเตอร์นั้น มักมีข้ออ้างว่าบัตรประชาชนหาย และถูกว่าจ้างให้เปิดบัญชี ดังนั้นจึงต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐาน และตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดอีกครั้ง ส่วน น.ส.ณิชา จะตกเป็นเหยื่อหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้

               อย่างไรก็ตาม ศาลได้ให้ประกันตัว น.ส.ณิชา แล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น หลังจากที่ ผกก.สภ.บ้านตาก และทีมสืบสวนจังหวัดตาก ไปพบตำรวจกองปราบและตำรวจนครบาลแล้ว จะแจ้งรายละเอียดให้ทราบ แต่ขอเตือนไปยังประชาชนที่ทำบัตรประชาชนหาย หรือจะขอทำบัตรประชาชนใหม่ ก็ขอให้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในพื้นที่นั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างกรณีของ น.ส.ณิชา อีก

               ขณะที่ พล.ต.ต.ปริญญา วิศิษฐฎากุล ผบก.ภ.จว.ตาก กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งชุดสืบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดตาก โดยมี พ.ต.อ.ศักดิ์ดา สังขนิตย์ รอง ผบก.ภ.ตาก ดูแลในส่วนของงานสอบสวน และ พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ ขอนพุดซา ผกก.สส.ภ.ตาก เป็นหัวหน้าชุดสืบสวน ลงพื้นที่พื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แยกย้ายกันทำงานจำนวน 3 ชุด เพื่อขอความร่วมมือกับทางธนาคารทั้ง 7 แห่งที่มีชื่อของ น.ส.ณิชา ไปเปิดบัญชี รวม 9 บัญชี เพื่อขอตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด รวมทั้งตรวจสอบลายเซ็นที่ใช้ในการเปิดบัญชีว่า เป็นลายเซ็นเดียวกับของ น.ส.ณิชา หรือไม่ โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เอกลักษณ์บุคคล หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ลายเซ็นของ น.ส.ณิชา ก็จะสั่งไม่ฟ้อง ขณะนี้ตำรวจกำลังเร่งการทำงาน ขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ชุดทำงานเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งในส่วนของพื้นที่จังหวัดตาก มีผู้เสียหายเพียงรายเดียวที่เข้าแจ้งความ ไม่มีรายใหม่