ข่าว

พลิกแฟ้มคดีดัง-ย้อนรอย "ล้มบนฟูก"
 ช่องกฎหมาย...หายนะรากหญ้า

พลิกแฟ้มคดีดัง-ย้อนรอย "ล้มบนฟูก" ช่องกฎหมาย...หายนะรากหญ้า

28 ก.พ. 2552

"ไทยต้องกลายเป็นลูกหนี้ของกองทุนไอเอ็มเอฟ ขณะที่ผู้บริหารสถาบันการเงินตัวปัญหาหลายคน กลับร่ำรวย เสพสุขอยู่ในต่างประเทศ โดยที่กฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้"

วิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังถาโถมเข้าใส่ประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ทำให้หลายฝ่ายอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ประเทศไทยจะเดินซ้ำรอยวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 หรือไม่ เหตุการณ์ดังกล่าวแม้เวลาจะล่วงกว่า 10 ปี แต่หลายคนก็ยังจดจำความล้มเหลวของระบบการเงินเป็นอย่างดี
 สถาบันการเงินในประเทศไทยกว่าครึ่งต้องประสบภาวะล้มละลาย มีนักการเงินที่มีชื่อเสียงมากมายต้องกลายเป็นคนหนีคดี สาเหตุจากความสะเพร่าในการบริหารเงินของประชาชนที่นำไปลงทุน แต่จนถึงขณะนี้นักธุรกิจ ผู้บริหารสถาบันการเงิน ไม่เว้นแม้แต่บางคนที่ถูกเรียกว่า "พ่อมดทางการเงิน" อย่าง ราเกช สักเสนา ยังคงลอยนวลและมีสถานะทางสังคมดังเดิม
 วิกฤติทางการเงินครั้งนั้นหลายคนเรียกเปรียบเปรยคนเหล่านี้ว่า "ล้มบนฟูก"
 
 เมื่อปี 2540 สถาบันการเงินหลายแห่งในประเทศไทยเกิดการโกงกันครั้งมโหฬาร เม็ดเงินหลายหมื่นล้านบาท ถูกถ่ายเทออกนอกประเทศ โดยฝีมือคนเพียงไม่กี่คน แต่การกระทำดังกล่าวส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศในเวลานั้น
 ไทยต้องกลายเป็นลูกหนี้ของกองทุนไอเอ็มเอฟ ขณะที่ผู้บริหารสถาบันการเงินตัวปัญหาหลายคน กลับร่ำรวย เสพสุขอยู่ในต่างประเทศ โดยที่กฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้ นอกจากไม่ได้รับโทษแล้วหลายคนยังได้ดิบได้ดี บางรายยังคงวนเวียนอยู่ในแวดวงการเงินของประเทศ และหลายคนวนเวียนอยู่ในแวดวงการเมือง ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข
 ย้อนหลังไปเมื่อปี 2540 นับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นสั่งปิดสถาบันการเงินรวม 56 แห่ง เพราะพบความไม่ชอบมาพากลในการทำธุรกรรมทางการเงิน กระบวนการตรวจสอบต่างๆ จึงเริ่มขึ้น โดยรัฐบาลมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นแม่งานในการตรวจสอบหาตัวผู้กระทำความผิด โดยมีตำรวจกองบังคับการเศรษฐกิจ เป็นเจ้าพนักงานทางคดีรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี
 หลังกระบวนการตรวจสอบเริ่มขึ้นไม่นาน ผู้ประกอบการสถาบันการเงินถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หลายราย แต่ส่วนใหญ่กฎหมายไทยก็ยังไม่สามารถที่จะนำคนเหล่านี้มาลงโทษได้
 อย่างนายราเกซ สักเสนา พ่อมดทางการเงินชาวอินเดีย อดีตที่ปรึกษานายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือบีบีซี ปัจจุบันเขายังอาศัยอยู่ในประเทศแคนาดา แม้ทางการไทยจะพยายามขอให้ทางการแคนาดาส่งพ่อมดทางการเงินรายนี้ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนมารับโทษในไทย ในความผิดข้อหาร่วมกันทุจริตและยักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ไปกว่า 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวกว่า 3,000 ล้านบาท
 นายราเกซ หนีออกจากประเทศไทยไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ถูกออกหมายจับ พนักงานอัยการของไทยใช้ความพยายามมาแล้วกว่า 10 ปีในการประสานเพื่อขอตัวนายราเกซ กลับมารับโทษในประเทศไทย แต่นายราเกซก็อาศัยความสลับซับซ้อนของกฎหมายระหว่างประเทศ ยื้อเวลา จนหลายคดีหมดอายุความในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ขณะที่อีกหลายคดีจะหมดอายุความในปี พ.ศ.2553
เมื่อเร็วๆ นี้ประเทศไทยได้รับข่าวดี ศาลแคนาดา พิพากษาให้ส่งตัวนายราเกซ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมารับโทษในประเทศไทยภายในเดือนมีนาคม 2552 แต่นายราเกซ ยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแคนาดาให้พิจารณาทบทวนอีกครั้ง โดยอ้างเหตุผลความไม่ปลอดภัย เพราะประเทศไทยเกิดความวุ่นวายทางการเมือง
ทั้งนี้ นายราเกซ ถูกชักนำจากนายเกริกเกียรติให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ก่อนที่จะร่วมกันยักยอกทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ โดยเปิดบริษัทหลายแห่งแล้วเข้ามาขอกู้จากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เพื่อโอนถ่ายเงิน โดยไม่ได้ทำธุรกิจจริง แถมยังใช้หลักทรัพย์ที่ตีราคาสูงเกินจริงค้ำประกัน ซึ่งธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเสียหายอย่างรุนแรง จนต้องล้มละลาย และธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้ายึดกิจการไปบริหารจัดการแทน
หลังจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การล้มละลาย นายราเกซก็หลบหนีออกนอกประเทศ ขณะที่นายเกริกเกียรติ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงหลายคนของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ถูกจับกุมดำเนินคดีฐานฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ และพ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ หลายคดี ซึ่งจนถึงขณะนี้นายเกริกเกียรติและพวก ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกรวมกันแล้วเป็นเวลากว่า 100 ปี พร้อมกับต้องชดใช้เงินคืนธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ อีกหลายพันล้านบาท ซึ่งนายเกริกเกียรติและพวกอยู่ระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
นอกจากนายราเกซ ที่ยังคงหลบหนีความผิดอยู่ในแคนาดาแล้ว นายปิ่น จักกะพาก “พ่อมดทางการเงิน”ในยุคนั้นอีกคนก็ยังคงหลบหนีอยู่ในประเทศอังกฤษ และดูเหมือนว่านายปิ่นอาจจะไม่ได้รับโทษแต่อย่างใด เพราะคดีความส่วนใหญ่ของนายปิ่นหมดอายุความไปแล้ว
ก่อนที่จะหนีไปพำนักในประเทศอังกฤษ นายปิ่น เป็นผู้บริหารระดับสูงบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ หรือ ฟินวัน (FIN-1) และยังเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี
รูปแบบการกระทำผิดของนายปิ่น ไม่แตกต่างจากกรณีของนายราเกซ และนายเกริกเกียรติ โดยนายปิ่นอาศัยธุรกิจบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปั่นหุ้นระดมทุน และปล่อยกู้ในเครือญาติโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือใช้หลักทรัพย์ราคาต่ำกว่าประเมินโยกย้ายเงินไปเก็บไว้ในบัญชีธนาคารต่างประเทศ ทำให้เกิดความเสียหายหลายพันล้านบาท
ซึ่งหลังรัฐบาลสั่งปิดกิจการบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ นายปิ่นได้หนีไปประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 แม้ในปี พ.ศ. 2542 ทางการอังกฤษจะจับกุมนายปิ่นได้ในกรุงลอนดอน แต่เมื่อทางการไทยร้องขอให้ทางการอังกฤษส่งตัวนายปิ่นกลับมาเมืองไทย นายปิ่นก็ต่อสู้ในทางคดี จนศาลอังกฤษมีคำพิพากษาไม่ให้ส่งตัวนายปิ่นกลับประเทศไทย เพราะความผิดตาม พ.ร.บ.เงินทุนบริษัทหลักทรัพย์และธุรกิจฟองซิเอร์ ในกฎหมายไทยนั้น ไม่มีบังคับใช้ในประเทศอังกฤษ จึงถือว่านายปิ่นไม่มีความผิด
นอกจากไม่ต้องรับโทษแล้ว ปัจจุบันนายปิ่นยังได้รับการยอมรับในแวดวงการเงินในประเทศแถบยุโรป ได้รับการว่าจ้างจากสถาบันการเงินชั้นนำในประเทศเหล่านี้ให้เป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงินมาจนถึงทุกวันนี้
++++
ล้อมกรอบ
อำนาจแทรกแซงเอาผิดคนโกงยาก
 “คดีล้มบนฟูกอุปสรรคไม่ใช่อยู่ที่กฎหมายไม่พอ หรือพนักงานสอบสวนไม่มีความรู้ แต่เพราะคนทำคดีขาดความต่อเนื่อง ถูกปรับเปลี่ยนโยกย้ายบ่อย จึงต้องทิ้งคดีไปทำให้ต้องใช้เวลาในการทำคดีนาน” พ.ต.อ.ชนะชัย ลิ้มประเสริฐ อดีตพนักงานสอบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง กล่าว
 เขา บอกด้วยว่า คดีที่เกี่ยวกับความผิดทางเศรษฐกิจในยุคนั้น สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศอย่างมาก มีผู้ทำผิดหลายคน แต่สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ไม่กี่คน เฉลี่ยแล้วเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ปัจจุบันยังมีคนโกงอีกหลายคนยังลอยนวลอยู่ในสังคมโดยไม่ถูกลงโทษ
 พ.ต.อ.ชนะชัย กล่าวด้วยว่า การโกงของนักการเงินมีกลวิธีแยบยล โยกย้ายทรัพย์สินโดยไม่มีใครรู้ ปัจจุบันก็ยังทำกันอยู่ อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2552 อาจเกิดคดีในลักษณะเดียวกับวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ขึ้นอีก
 “การเอาผิดทำได้ยากโดยเฉพาะรายที่หนีไปต่างประเทศ อย่างนายปิ่น จักกะพาก คดีขาดอายุความ กฎหมายเรากับกฎหมายอังกฤษแตกต่างกัน นายปิ่นจึงไม่ถูกส่งตัวกลับมาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ขณะที่นายราเกซ ยังพอมีหวัง แต่ขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก เกรงว่าคดีอาจขาดอายุความเช่นกัน” พ.ต.อ.ชนะชัย กล่าว
 พ.ต.อ.ชนะชัย กล่าวด้วยว่า คดีเศรษฐกิจสร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งควรแก้กฎหมายให้คดีประเภทนี้ไม่มีอายุความ เพราะการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ต้องใช้เวลานาน หากมีการกำหนดระยะเวลาไว้จะเป็นช่องให้ผู้กระทำผิดหลุดพ้นโทษ
 ขณะที่อดีตพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวอีกคน บอกว่า สาเหตุหลักที่ทำให้คนโกงในคดีล้มบนฟูกลอยนวล เพราะกระบวนการตรวจสอบไม่เข้มข้น พนักงานสอบสวนถูกผู้มีอำนาจแทรกแซงทำคดีได้ไม่เต็มที่ เพราะนักการเงินมีฐานะร่ำรวย บางรายให้การสนับสนุนพรรคการเมือง หรือไม่ก็เข้าไปเรียนหลักสูตรต่างๆ ที่หน่วยงานในสายยุติธรรมจัดขึ้นเพื่อสร้างความสนิทสนม หลังจากนั้นก็จะช่วยเหลือกันทางคดี คดีไหนเคลียร์ได้ก็เคลียร์ แต่หากไม่ได้ก็ใช้วิธีฟ้องร้องพนักงานสอบสวนเพื่อขัดขวางการทำงาน ขณะที่บางคนใช้นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจโยกย้ายพนักงานสอบสวนที่ไม่ใช่พวกพ้องพ้นคดีไปเสีย