
"ท่ามะกา"หลักฐานเส้นทางการค้าโบราณ
ท่ามะกา เป็นชื่ออำเภอแห่งหนึ่งใน จ.กาญจนบุรี คงจะมีที่มาจากต้น มะกา ซึ่งเป็นชื่อของไม้ยืนต้น สูงประมาณ 5-10 เมตร พบตามป่าเบญจพรรณ และป่าชายเลน ใช้เป็นยาสมุนไพรแก้โรคต่างๆ เช่น ใบ ใช้ต้มแก้หืด ขับเสมหะ ส่วนเมล็ด ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ เป็นต้น
บริเวณดังกล่าว มีการพบ “ตะเกียงโรมันสำริด” ซึ่งปัจจุบันชักจะไม่แน่ใจกันแล้วว่า “โรมัน” จริงไหม ? เพราะมีนักวิชาการต่างประเทศเขาบอกว่า ลวดลายบนตะเกียงดูเหมือนจะไม่เคยมีในโรมันแต่อย่างใด จึงสงสัยกันว่าน่าจะเป็นฝีมือช่าง“พื้นเมือง”
ไม่ว่าตะเกียงที่ว่านี้จะเป็นของใคร ทำขึ้นที่ไหน แต่มันก็เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความสำคัญในฐานะเส้นทางการค้าทางทะเลโบราณของเมืองโบราณอู่ทอง ว่ามีการติดต่อกับภายนอกบริเวณรอบๆ อ่าวไทย แสดงถึงพัฒนาการของพื้นที่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาว่าเคยเป็นทะเลมาก่อนที่ตะกอนของแม่น้ำจะทับถมกันจนเกิดเป็นแผ่นดินงอกยื่นออกมาเป็นที่ราบลุ่มภาคกลางในที่สุด
นอกจากนี้ ยังแสดงถึงความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับบ้านเมืองภายนอก มาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่อง เกิดเป็นบ้านเป็นเมืองมาจนถึงทุกวันนี้
แม้ว่าในอดีต พื้นที่ดังกล่าวจะมีความสำคัญดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ปัจจุบัน ท่ามะกาเป็นเพียงอำเภอเล็กๆ ที่น้อยคนจะรู้จัก โดยถูกตั้งเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ.2453 ขุนศรีสรนาสน์นิคม หรือมหาจันทร์ ปุญสิริ เป็นนายอำเภอ แต่ยังคงขึ้นอยู่กับ จ.ราชบุรี
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2480 จึงได้โอนมาขึ้นอยู่กับท้องที่ จ.กาญจนบุรีจนถึงปัจจุบัน
รือนอินทร์ หน้าพระลาน