
ฝันเป็นจริง !! "วิมานพญาแถน" อนุสรณ์สถานตำนานบุญบั้งไฟ
หากพูดถึงจังหวัด "ยโสธร" สิ่งที่คนไทยทั่วไปนึกถึงเป็นอย่างแรกๆ นอกจากการเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชั้นดีแล้ว เชื่อว่า "ประเพณีบุญบั้งไฟ" ก็น่าจะจัดอยู่ในความประทับใจลำดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวด้วย
ที่มาของบุญบั้งไฟเกิดขึ้นเพราะความเชื่อของคนอีสานที่ว่า การทำบั้งไฟเป็นการทำบุญเพื่อบูชา "พญาแถน" ซึ่งเป็นเทวดาบนสวรรค์
การจุดบั้งไฟขึ้นเป็นการส่งสัญญาณถึงพญาแถนว่า ใกล้ถึงฤดูทำนาแล้ว และขอให้พญาแถนบันดาลให้ฝนตกลงมาด้วย
ส่วนตำนานที่นำมาสู่ความเชื่อเรื่องพญาแถนมาจากนิทานพื้นบ้านชื่อ "พญาแถนรบพญาคันคาก (คางคก)" โดยพญาคันคากเป็นบุตรของพระนางสีดา มเหสีของพญาเอกราชผู้ครองเมืองชมพู
เหตุที่ได้ชื่อว่า "คันคาก" เนื่องจากพระองค์มีผิวเหลืองอร่ามดั่งทองคำ แต่ขรุขระเป็นตุ่มตอเหมือนผิวคางคก และเมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม ท้าวคันคากจึงตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากพระอินทร์ขอให้รูปกายเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป
ด้วยบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนของพญาคันคาก พระอินทร์จึงเนรมิตปราสาท พร้อมทั้งประทาน "นางอุดรกุรุทวีป" ให้เป็นชายา และประทานพรให้ท้าวคันคากสามารถ "ถอดรูปกาย" กลายเป็นชายหนุ่มรูปงามได้
พญาเอกราชยินดีกับพระโอรส จึงสละราชบัลลังก์ให้ครองเมืองต่อ ทรงพระนามว่า "พญาคันคาก" ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และทรงมีเดชานุภาพเป็นที่เลื่องลือจนหัวเมืองน้อยใหญ่ต่างมาสวามิภักดิ์
บารมีของพญาคันคากทำให้พญาแถนผู้อยู่บนฟ้าเดือดร้อน เพราะมนุษย์หันไปส่งส่วยให้พญาคันคากจนลืมบูชาพญาแถน จึงไม่สั่งพญานาคไปให้น้ำในช่วงฤดูทำนา ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพงทุกหัวระแหง
ชาวเมืองจึงไปร้องขอให้พญาคันคากช่วย พญาคันคากจึงเกณฑ์ "กองทัพสัตว์มีพิษ" ยกไปสู้กับพญาแถนจนพญาแถนต้องยอมแพ้
พญาคันคากขอให้พญาแถนเมตตาชาวเมือง ประทานฝนตามฤดูกาลทุกปี ตั้งแต่นั้นเรื่อยมา ทุกเดือนหก ซึ่งเข้าสู่ฤดูทำนา ชาวอีสานจึงจุดบั้งไฟขึ้นฟ้าเพื่อบูชาพญาแถนให้ส่งฝนลงมาให้ชาวนาจนเกิดเป็นประเพณีบุญบั้งไฟขึ้นในที่สุด
ด้วยตำนานปรัมปราที่สามารถอธิบายที่มาของประเพณีบุญบั้งไฟได้อย่างลึกซึ้ง จังหวัดยโสธร จึงมีแนวคิดต่อยอดงานบุญบั้งไฟให้ยิ่งใหญ่ยิ่ง ขึ้นด้วยการทำ “วิมานพญาแถนอนุสรณ์สถานตำนานบุญบั้งไฟ” ริมลำน้ำทวนฝั่งขวา หลังเรือนจำจังหวัดยโสธร
วิมานพญาแถน ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวยโสธร และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้เริ่มทำพิธีบอกกล่าวขอขมาพระภูมิเจ้าที่ พระแม่ธรณีแห่งลำน้ำทวน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552 โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2552 จังหวัดยโสธร ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร (อบจ.ยโสธร) จัดสรรงบประมาณก่อสร้าง ในระยะที่ 1 รวม 9 ล้านบาท
งบก้อนนี้แยกเป็น งบยุทธศาสตร์จังหวัด 4 ล้านบาท และงบจาก อบจ.ยโสธร โดย นายสฤษดิ์ ประดับศรี นายก อบจ.ยโสธร จำนวน 5 ล้านบาท
ขณะที่ในปีงบประมาณ 2553 ได้รับจัดสรรงบอีก 10.95 ล้านบาท จากเทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ใกล้เคียง รวม 10.95 ล้านบาท
นายวันชัย อุดมสิน ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวถึงที่มาของวิมานพญาแถนว่า จากข้อมูลทุกปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่มาชมประเพณีบุญบั้งไฟเสร็จก็มักจะเดินทางกลับ ชาวยโสธรจึงคิดว่าจังหวัดควรจะมีแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับบุญบั้งไฟด้วย
วิมานพญาแถน ประกอบด้วย อาคารพญาคันคาก อาคารพญานาค รวมทั้งอนุสาวรีย์ของ “พระสุนทรราชวงศา” ผู้สร้างเมืองยโสธรและเจ้าเมืองคนแรก
ปัจจุบัน "วิมานพญาแถน" ซึ่งเป็นความฝันของชาวยโสธรกำลังเข้าใกล้ความจริงทุกขณะ ท่ามกลางความยินดีปรีดาของคนยโสธร และการรอคอยของนักท่องเที่ยวที่จะได้ชมวิมานพญาแถนเป็นออปชั่นแถมเพิ่มเติมจากบุญบั้งไฟด้วย
"คำดี พรมมากอง"