ข่าว

นักศึกษา ม.อุบลฯโชว์ผลงาน เสื่อเตยหนามด้วยยางพารา

นักศึกษา ม.อุบลฯโชว์ผลงาน เสื่อเตยหนามด้วยยางพารา

22 มี.ค. 2561

นศ.ม.อุบลฯโชว์ผลงาน “เพิ่มมูลค่าเสื่อเตยหนามด้วยน้ำยางพารา ส่งเสริมภูมิปัญญาบ้านโคกระเวียง” ประกวดผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ



           จากการส่งผลงานการบูรณาการร่วมกันระหว่างนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการตลาด คณะบริหารศาสตร์ และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี นายชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน และ นางสาวอุบลรัตน์ ยืนไพโรจน์ หัวหน้าโครงงาน
พร้อมสมาชิก จำนวน 17 คน ส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขันประกวดโครงงาน “เพิ่มพูนค่าเสื่อเตยหนามด้วยน้ำยางพารา ส่งเสริมภูมิปัญญาบ้านโคกระเวียง” เข้าร่วมโครงการ “กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน” ระดับอุดมศึกษา โครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ปี 2560

            นักศึกษา ม.อุบลฯโชว์ผลงาน เสื่อเตยหนามด้วยยางพารา ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รวมพลังแห่งปัญญา และสำนึกรักษ์แผ่นดิน “พลังแผ่นดิน ปัญญาแผ่นดิน” จัดโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาในการประยุกต์ใช้ความรู้จากห้องเรียนมาปฏิบัติจริงก่อนเข้าสู่ชีวิตการทำงานและปลูกฝังให้นิสิตนักศึกษารู้จักถึงการริเริ่ม สร้างสรรค์ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับสังคมและส่วนรวม เพื่อส่งเสริมให้คณาจารย์เป็นตัวแทนในการถ่ายทอดและขยายองค์ความรู้สู่นิสิตนักศึกษาและสู่สังคม เพื่อประโยชน์กับชุมชนกลุ่มเป้าหมาย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต หรือสิ่งแวดล้อม
            สำหรับโครงงาน “เพิ่มพูนค่าเสื่อเตยหนามด้วยน้ำยางพารา ส่งเสริมภูมิปัญญาบ้านโคกระเวียง” เป็น 1 ใน 20 โครงงาน/ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบที่ 3 ได้รับงบประมาณสนับสนุนทีมละ 75,000.- บาท เพื่อนำไปดำเนินกิจกรรมตามโครงงานที่นำเสนอ หลังจากดำเนินกิจกรรมตามโครงการไปแล้วประมาณ 2.5 เดือน ทุกทีมจะต้องส่งตัวแทนทีมละ 3 คน มานำเสนอความคืบหน้าการดำเนินโครงงานต่อคณะกรรมการ
             จากนั้นทีมนิสิตนักศึกษาที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จำนวน 20 ทีม จะต้องส่งตัวแทนทีมละ 3 คน มานำเสนอรายงานสรุปโครงงานตั้งแต่เริ่มโครงงานจนถึงปัจจุบันและแผนการต่อยอดโครงงานต่อคณะกรรมการ ในวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2561 ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

         นักศึกษา ม.อุบลฯโชว์ผลงาน เสื่อเตยหนามด้วยยางพารา
           สำหรับโครงงาน “เพิ่มพูนค่าเสื่อเตยหนามด้วยน้ำยางพารา ส่งเสริมภูมิปัญญาบ้านโคกระเวียง” ได้ส่ง นางสาวปริยชาติ คุณสว่าง นายปณิธาน ธรรมวิเศษ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ และ นายกฤษดา ตั้งสุภวงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการตลาด คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นตัวแทนนำเสนอโครงงานและแผนการต่อยอดโครงงานของชุมชนต่อคณะกรรมการ
           นายชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน กล่าวว่า สำหรับโครงงานดังกล่าว จัดทำขึ้น ณ บ้านโคกระเวียง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งประกอบอาชีพทำเสื่อจากเตยหนาม ในการนำเตยหนามมาตากแห้งและนำมาทอเป็นเสื่อ จากการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนการทอเสื่อใบเตยโคกระเวียงในปี พ.ศ. 2535 โดยส่งผลิตภัณฑ์ต่อให้พ่อค้าคนกลาง เดิมการทำเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้เฉลี่ย 40,000.- บาท/ครัวเรือน/เดือน ปัจจุบันเป็นอาชีพเสริมเนื่องจากมีรายได้ลดลงเหลือประมาณ 3,000.- บาท/ครัวเรือน/เดือน
           จากประสบการณ์ที่เคยทำโครงงานโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิตไส้หมอนขิดจากน้ำยางพารา ที่ ต.ศรีฐาน อ.ศรีฐาน จ.ยโสธร ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิ SCG พบว่าขั้นตอนการทำไส้หมอนขิด จากยางฟองน้ำที่ได้จากน้ำยางพาราขั้นตอนไม่ยุ่งยาก สามารถประยุกต์ใช้ในการทำเป็นแผ่นยางฟองน้ำเสริมเสื่อเตยหนามได้ เป็นการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ที่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนสามารถทำได้เอง

             นักศึกษา ม.อุบลฯโชว์ผลงาน เสื่อเตยหนามด้วยยางพารา
           ในส่วนการออกแบบผลิตภัณฑ์เรามีนักศึกษาจากสาขาออกแบบอุตสาหกรรม คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ทำหน้าที่ออกแบบผลิตภัณฑ์เพิ่มความน่าสนใจให้มากขึ้น ส่วนนักศึกษาจากสาขาการตลาด คณะบริหารศาสตร์ ทำหน้าที่ฝ่ายการตลาดหาช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์สู่กลุ่มเป้าหมาย และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ด้านการแปรรูปน้ำยางเป็นแผ่นยางฟองน้ำมาใช้เสริมเสื่อเตยหนาม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความนุ่มและแปลกใหม่มากขึ้น การใช้น้ำยางข้นจากสมาชิกวิสาหกิจชุมชนที่มีสวนยางอยู่แล้ว โดยวิธีการทำครีมเพราะเป็นวิธีง่ายไม่ต้องใช้เครื่องจักรที่มีราคาสูง
           จากการลงพื้นที่บ้านโคกระเวียงในการถ่ายทอดความรู้และพาทำแผ่นยางฟองน้ำ กระแสตอบรับจากชาวบ้านและวิสาหกิจชุมชนดีมาก เนื่องจากเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์เสื่อเตยหนาม น้ำยางพาราของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเพิ่มความหลากหลายให้แก่เสื่อเตยหนามบ้านโคกระเวียงให้ทันสมัยและปรับประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้หลายหลายยิ่งขึ้นต่อไป