ตร.จ่อถก'คมนาคม-กทพ.' แก้กฎหมายเพิ่มความเร็ว
ตร.จ่อถก'คมนาคม-กทพ.' แก้กฎหมายเพิ่มความเร็ว
จากกรณีที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)เตรียมปรับแก้เนื้อหาในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การจราจรทางบกปี 2522 ให้ผู้ใช้รถใช้ถนน สามารถขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วที่สูงขึ้นจากเดิม 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นมาตรการที่สวนทางกับสถานการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามท้องถนนที่เพิ่มขึ้น
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3(ผบก.ส.3) ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจรา ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า แม้ว่าอุบัติเหตุจะมาจากการขับรถด้วยความเร็วสูง แต่ในการศึกษาของคณะทำงานพบว่า จากเดิมกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 เมื่อปี 2524 กำหนดความเร็วไว้ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มในเขตเทศบาล กำหนดความเร็วไว้ไม่เกิน 80 กม./ชม. และ2.นอกเขตเทศบาล ไม่เกิน 90 กม./ชม.
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ยังกล่าวว่า ถนนในประเทศไทย มีความเสียดทาน ความกว้างของถนน ตามมาตรฐานของสหรัฐ ซึ่งกำหนดความเร็วที่ 65 ไมล์/ชม. หรือประมาณ 105 กม./ชม. แต่ไม่ใช่ว่า ถนนทุกสายจะใช้ความเร็วระดับเดียวกัน เพียงแต่เฉพาะถนนในเส้นทางที่มีความพร้อมในการใช้ความเร็วนั้นๆ ได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดีคณะทำงานจำเป็นต้องหารือกับกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และประชาชนซึ่งต้องสามารถอธิบายได้ว่า การเพิ่มความเร็วระดับนี้จะปลอดภัยหรือไม่ อย่างไร
ส่วนการใช้ความเร็วในเส้นทางมอเตอร์เวย์ เป็นถนนที่ออกแบบมาโดยเฉพาะมีการคำนวณความเร็วที่เหมาะสมและกำหนดไว้ในกฎหมายพิเศษแล้ว เช่น มอเตอร์เวย์ สายตะวันออก กำหนดไว้ที่ 120 กม./ชม.และยังมีกล้องตรวจจับความเร็วตลอดเส้นทาง ซึ่งจะพบได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะเคารพกติกา นั่นแสดงว่า เป็นความเร็วที่เหมาะสมต่อการเดินทาง
ส่วนทางด่วนแต่กลับกำหนดความเร็วที่ 80 กม./ชม.สวนทางกับวัตถุประสงค์ของการใช้เส้นทางที่ต้องการความรวดเร็วแต่เนื่องจาก กฎกระทรวง ฉบับที่ 10 กำหนดไว้ให้ในเขตเทศบาล ต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีข้อเสนอที่จะเพิ่มความเร็ว แต่ต้องเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เพื่อหารือถึงความเร็วที่เหมาะสมบนพื้นฐานของความปลอดภัยนั้นควรอยู่ในระดับใดต่อไป
ตัวเลขเบื้องต้นตั้งไว้ที่ประมาณ 105 - 110 กม./ชม.กับถนนที่อยู่นอกเขตเทศบาล ส่วนถนนในเขตชุมชนที่ความเร็ว 80 กม./ชม.นั้นเหมาะสมแล้ว แต่ในจุดที่ควรลดความเร็วลง เช่น หน้าโรงเรียน โรงพยาบาล จะกำหนดให้ลดลงโดยกำกับด้วยป้ายจราจร สำหรับทางหลวงระหว่างเมือง ในเส้นทางตรง ยาว โดยไม่มีจุดตัดจะประมาณ 105-110 กม./ ชม. แต่เมื่อถึงจุดตัด ทางแยก ทางเชื่อม ก็จะลดความเร็ว โดยใช้ป้ายจราจรแสดงกำกับไว้ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับต่างประเทศนำมาใช้ควบคุมการเดินทางของประชาชนได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยอย่างไรก็ดีคณะทำงานเตรียมประชุมหารือกันร่วมกับหน่วยงานที่เกียวข้องในช่วงหลังสงกรานต์คาดว่า จากนี้ไปอีกไม่เกิน 30 วันก็จะมีคำตอบให้ประชาชน