ข่าว

คำร่วม พื้นที่ร่วม เขมร-ไทย

คำร่วม พื้นที่ร่วม เขมร-ไทย

12 ต.ค. 2552

ข้อเสนอการเปลี่ยนชื่อเขมรให้เป็นไทย นับเป็นความเห็นหนึ่งที่บรรดานักวิชาการและปราชญ์ต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์กันออกรสออกชาติ เพราะเป็นที่รู้กันว่า คำภาษาเหล่านี้ได้บ่งบอกและเล่าถึงอะไรจากชื่อของมันบ้าง

 ดังเช่นชื่อบ้าน “ภูมิซรอล” ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ชื่อภาษา ลูกครึ่ง บาลีและเขมร ที่แปลว่า บ้านต้นสน เป็นหมู่บ้านเล็กที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งไปจนถึงวิวาทกันของคนประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา และคนประเทศไทยด้วยกันเองอยู่เสมอ เนื่องเพราะเหตุปราสาทพระวิหาร ส่วน อ.กันทรลักษ์ ที่ชื่อแปลว่า บริเวณที่มีช่องเขามาก สอดคล้องกับภูมิประเทศที่มีช่องเขามากมาย เช่น ช่องตะโก ช่องสระแจง ช่องโอบก ช่องแบแบก ที่คนในอดีตใช้เป็นเส้นทางคมนาคมถึงกัน ระหว่างเขมรสูงภาคอีสานของไทย และเขมรต่ำ ในกัมพูชา รวมทั้งจากภาคอีสาน ไปที่ราบลุ่มภาคกลางด้วย

 ตามประวัติกล่าวว่า อ.กันทรลักษ์ เดิมชื่อ “เมืองอุทุมพรพิสัย” ขึ้นอยู่กับเมืองขุขันธ์ ตั้งอยู่ที่บ้านกันตวด ต.ห้วยอุทุมพร ริมเชิงเขาน้ำตก (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ ต.กระสานต์ จ.พระวิหาร ประเทศกัมพูชา)

 พ.ศ.2410 ย้ายจากบ้านตวด มาตั้งอยู่ที่บ้านผือใหม่ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ ต.เมือง อ.กันทรลักษ์) ตั้งเป็น อ.อุทุมพรพิสัย ต่อมา พ.ศ.2425 ได้รวม อ.อุทุมพรพิสัยกับ อ.กันทรลักษ์ ซึ่งอยู่ที่บ้านลาวเดิม (ปัจจุบันคือบ้านหลักหิน ต.บักดอง อ.ขุนหาญ) เข้าเป็นอำเภอเดียวกัน แล้วย้ายไปอยู่ที่บ้านเก่า ต.น้ำอ้อม เปลี่ยนชื่อเป็น “อ.กันทรลักษ์”

 พ.ศ.2445 ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์จากบ้านขนาเก่า ไปตั้งที่บ้านผืออีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2460 เปลี่ยนชื่อจาก อ.กันทรลักษ์ เป็น อ.น้ำอ้อม และ พ.ศ.2480 ก็เปลี่ยนชื่อจาก อ.น้ำอ้อม เป็น "อ.กันทรลักษ์" จนถึงปัจจุบันนี้

 ทั้งชื่อและสถานที่ตั้งชุมชนต่างเกี่ยวข้องเกี่ยวดองกับเขมร ทั้งแต่เดิมก็เคยอยู่ในเขตพื้นที่ประเทศกัมพูชามาก่อน

 น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทำนองนี้ไม่ถูกเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในสถานการณ์เช่นนี้บ้าง!
      เรือนอินทร์ หน้าพระลาน