ชี้คนจน 1.5 ล้านรายเมินฝึกอาชีพ
ชี้คนจน 1.5 ล้านรายเมินฝึกอาชีพ
คลัง เผยผลสำรวจพบคนจน 1.5 ล้านรายไม่ยอมเข้ารับการฝึกอาชีพ ด้าน “อภิศักดิ์” สั่งเอโอลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมขยายเวลาทำงานทีมเอโอออกไปอีก 1 เดือน มุ่งกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้มีบัตรฯ ที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี และอยู่ในวัยแรงงาน 5.26 ล้านราย
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะรองโฆษก กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คนจนเฟส 2)ว่า มีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการเมื่อเดือนก.พ.2561 จำนวน 6.4 ล้านราย จากผู้มีบัตร 11.4 ล้านราย ขณะที่ กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้มีบัตรฯ ที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี และอยู่ในวัยแรงงาน 5.26 ล้านราย
อย่างไรก็ดี ในกลุ่มเป้าหมายหลัก มีจำนวนนี้เป็นผู้แจ้งความประสงค์เข้าฝึกอาชีพจำนวน 3.11 ล้านราย จึงเหลือกลุ่มเป้าหมายอีก 2.14 ล้านรายราย เท่ากับว่า ผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ(เอโอ) ต้องลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้มีบัตรเป็นรายบุคคลในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.2561 ราว 8.5 ล้านราย
ล่าสุดเอโอสามารถสัมภาษณ์คนจนที่แจ้งความประสงค์ไปได้เพียง 5 ล้านราย ยังเหลืออีก 3.5 ล้านราย ดังนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2561 จึงเสนอให้ขยายเวลาในการสัมภาษณ์ออกไปอีก 1 เดือนจนถึงเดือนพ.ค.2561
ทั้งนี้ พบว่า กลุ่มคนที่สัมภาษณ์ไปแล้ว 5 ล้านราย ระบุว่า ไม่ต้องการพัฒนาตนเองถึง 30% หรือประมาณ 1.5 ล้านราย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอายุมากแล้วเกินกว่า 60 ปี บางคนไม่พร้อมในการฝึกอาชีพ และติดพื้นที่ไม่อยากเดินทาง ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายให้ทีมเอโอไอไปพูดคุยกับคนในกลุ่มนี้ใหม่ว่า ไม่สนใจเข้าร่วมพัฒนาตนเองเพราะอะไร
สำหรับกลุ่มคนที่สัมภาษณ์ไปแล้ว 70% หรือประมาณ 3.5 ล้านคนสนใจพัฒนาตนเองนั้นในจำนวนนี้ 2 ล้านคนสนใจฝึกอาชีพ โดยประมาณ 1 ล้านคนสนใจด้านการเกษตร กระทรวงการคลังส่งข้อมูลไปให้กระทรวงเกษตรในการดำเนินการต่อแล้ว และอีก 3 หมื่นคน อยากได้งานประสานไปยังกระทรวงแรงงานแล้ว ส่วนที่เหลือต้องการสินเชื่อ และมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นๆ
ส่วนคนที่แจ้งความประสงค์จะพัฒนาตนเอง แต่ต่อมาขอยกเลิกการแสดงความประสงค์ หรือไม่มาสัมภาษณ์ภายในเดือนมี.ค.-เม.ย.2561 หรือเข้ารับการสัมภาษณ์แล้ว แต่ไม่เลือกพัฒนาตนเอง หรือผู้ที่เลือกพัฒนาตนเอง แต่ต่อมาไม่พัฒนาตนเองโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือผู้ที่เข้ารับการอบรมแล้วแต่ไม่ตั้งใจประกอบอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังหยุดการจ่ายเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 100 บาทต่อคนต่อเดือน แล้วแต่กรณีตั้งแต่เดือนมิ.ย.2561 เป็นต้นไป หรือในเดือนถัดไปนับแต่ทราบผลการพิจารณาการไม่พัฒนาตนเอง ส่วนเงินที่จ่ายไปแล้วตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค.อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเรียกคืนหรือไม่อย่างไร
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ