ข่าว

กฎหมายใหม่สวีเดน"ข่มขืนคือข่มขืน"ต่อให้ไม่ใช้กำลัง

กฎหมายใหม่สวีเดน"ข่มขืนคือข่มขืน"ต่อให้ไม่ใช้กำลัง

24 พ.ค. 2561

อีกผลผลิตจากกระแส #MeToo กฎหมายใหม่สวีเดน บัญญัติชัดเพศสัมพันธ์"ไม่สมยอม" เท่ากับข่มขืน ต่อให้ไม่มีการข่มขู่คุกคาม หรือใช้กำลัง 


                                        กฎหมายใหม่ของสวีเดนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่  1 กรกฎาคมนี้ ปรับปรุงจากกฎหมายเดิมที่ให้ความสำคัญหรือจำเป็นต้องมีหลักฐานว่า ผู้กระทำใช้กำลัง หรือเหยื่อตกอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง เช่น อยู่ในอาการมึนเมา เป็นถ้อยคำใหม่ว่า บุคคลต้องสมยอมกับกิจกรรมทางเพศ ด้วยคำพูด หรือภาษากายอย่างชัดแจ้ง เพื่อจะได้นำไปสู่การตัดสินให้ผู้กระทำมีความผิด 


                                     รัฐบาลสวีเดนเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาและสภาลงมติผ่านความเห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียง 257 ต่อ 38 เสียง  แม้สภาที่ปรึกษากฎหมายสวีเดนที่จะกลั่นกรองร่างกฎหมายทุกฉบับชี้ว่า กฎหมายที่มีอยู่เดิม ถือว่าเพียงพอแล้ว 

                                     กฎหมายใหม่ไม่ได้ไปไกลถึงขั้นว่า อีกฝ่ายต้องแสดงออกถึงการสมยอมเสียก่อน จึงจะเป็นเงื่อนไขของเพศสัมพันธ์แบบสมยอมได้ แต่เน้นย้ำว่า การไม่ต่อต้าน ไม่ใช่สัญญาณถึงการตกลงมีเซ็กส์ 
“หากผู้ใดต้องการมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นในสภาพสงบอยู่ หรือส่งสัญญาณคลุมเครือ บุคคลผู้นั้นจะต้องมั่นใจว่าอีกฝ่ายสมยอม” 

                                     กฎหมายใหม่บัญญัติเพิ่ม 2 ฐานความผิด คือ ข่มขืนโดยประมาท และ การล่วงละเมิดทางเพศโดยประมาท  มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี  


                                     รัฐบาลสวีเดนระบุว่า การล่วงละเมิดทางเพศในประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยหญิงสาวเผชิญความเสี่ยงมากที่สุด 

                                     โทมัส โทเบ โฆษกพรรคมอเดอเรต ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า พรรคออกเสียงสนับสนุนร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้แม้มีความกังวลอยู่บ้าง โดยเฉพาะการพุ่งไปที่เหยื่อมากเกินไป เช่น เหยื่อสื่อสารได้ชัดเจนหรือไม่ว่าตกลงมีเพศสัมพันธ์ กระนั้น เชื่อว่า การผ่านร่างกฎหมายใหม่อาจช่วยเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้หญิง 

                                     แอนนา บลุส นักวิจัยด้านสิทธิสตรียุโรป จากองค์การแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า การแก้กฎหมายจะทำให้สวีเดนเป็น 1 ใน 10 ประเทศยุโรปที่รับรองว่า เซ็กส์โดยปราศจากความสมยอม คือข่มขืน 
                                     ประเทศยุโปส่วนใหญ่ยังนิยาม ข่มขืน โดยอิงกับการใช้กำลังบังคับทางกาย ข่มขู่ หรือคุกคาม คำนิยามล้าสมัยเหล่านี้ ก่อความเสียหายอย่างไม่สามารถประเมินได้  หวังว่าความเคลื่อนไหวของสวีเดนจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายและทัศนคติทั่วยุโรปต่อไป 


                                     กระแส #MeToo ในรอบปีที่ผ่านมา กระตุ้นให้หลายประเทศทั่วโลก สำรวจนิยามหรือแนวคิดเรื่องการยินยอมกันใหม่ และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายความผิดฐานข่มขืนให้เข้มงวดกว่าเดิม