
บอกเล่าท้องถิ่น-อบต.เกาะคอเขา พร้อมรับ "สึนามิ"ผุด 3 หอเตือนภัย 1 อาคารหลบภัย
"พื้นที่ของผมอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจากคลื่นยักษ์สินามิ เพราะฉะนั้นผมจึงถือเอาความปลอดภัยของประชาชนต้องมาก่อน" นี่คือพันธสัญญาของ จักษุ ลิ่มพานิช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะคอเขา จ.พังงา ซึ่งเคยลิ้มรสมหันตภัยสึนามิมาแล้วเมื่อปี 2547
จักษุ รู้รสชาติการสูญเสียคนในครอบครัว และญาติมิตรในเหตุการณ์สึนามิเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงต้องการใช้เหตุการณ์ความสูญเสียในครั้งนั้นมาเป็นบทเรียนราคาแพงเพื่อคุ้มครองชีวิตของประชาชนในอนาคตให้ได้รับความปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
คนที่เคยไป "บ้านน้ำเค็ม" ที่เคยสูญเสียอย่างหนักในเหตุการณ์สึนามิคงคุ้นเคยกับ "เกาะคอเขา" ด้วย เพราะเกาะคอเขาก็เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านน้ำเค็มนั่นเอง
ว่ากันว่า ถ้าไม่มีเกาะคอเขาบังคลื่นยักษ์ไว้อีกชั้น...บ้านน้ำเค็มคงถูกคลื่นถล่มราบยับเยินมากกว่านั้น !!
พื้นที่ ต.เกาะคอเขา อยู่ห่างจากบ้านน้ำเค็มประมาณ 1 กิโลเมตร ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน มีประชากรกว่า 800 คน ถ้านับ "ประชากรแฝง" ในรูปของนักท่องเที่ยวและพนักงานโรงแรม หรือรีสอร์ทเข้าไปด้วยก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 3,000 คน
การเดินทางไปเกาะคอเขานิยมเดินทางด้วยเรือ หรือแพขนานยนต์ โดยมีท่าเรืออยู่ที่บ้านน้ำเค็ม หรืออีกทางหนึ่งแต่ไม่เป็นที่นิยมกันคือ นั่งเรือจากท่าเรือบ้านทุ่งละออง ต.บางวัน อ.คุระบุรี มาขึ้นที่ท่าบ้านหัวเขา บนเกาะคอเขา
สิ่งปลูกสร้างสำคัญบนเกาะคือ โรงเรียน 2 แห่ง สถานีอนามัย 2 แห่ง สำนักสงฆ์ 3 แห่ง พร้อมโรงแรม และรีสอร์ทขนาด 3-4 ดาว กว่า 10 แห่ง
ด้วยสภาพพื้นที่ที่อยู่ปะปนกันระหว่างชาวบ้านท้องถิ่น เจ้าของธุรกิจโรงแรม และนักท่องเที่ยว แน่นอนว่าต้องมีเรื่องผลประโยชน์และความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้าง แต่จักษุก็พยายามครองตนไม่ยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์อันมิชอบ โดยยึดอาชีพประมงเลี้ยงชีพเป็นหลัก
ส่วนการเตรียมการป้องกันภัยธรรมชาติ เขาก็ไม่ได้ละเลย โดยบนเกาะแห่งนี้มี "หอเตือนภัย" ถึง 3 แห่ง และกำลังสร้างหอหลบภัย 3 ชั้น ขนาดความจุประมาณ 500 คน อีก 1 แห่ง
แต่เพื่อความปลอดภัยและครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด เขาก็อยากได้หอเตือนภัยเพิ่มขึ้นอีกสักแห่งที่ "บ้านป่าเกาะ" หมู่ 3 ตรงข้ามบ้านน้ำเค็ม เพราะจุดนี้เป็นจุดที่ได้รับความสูญเสียมากที่สุดในเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547
อย่างไรก็ตาม หลังจากประสานหน่วยงานรับผิดชอบไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนกลับมา โดยค่าใช้จ่ายในการสร้างหอเตือนภัยดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 9 แสนบาทเศษ
"แม้วันนี้หลายคนจะลืมเหตุการณ์ครั้งนั้นไปบ้างแล้ว แต่ผมเองในฐานะผู้นำคงไม่มีวันลืม เพราะถ้าเราลืมวันไหนก็เท่ากับว่าเราไม่ได้ระมัดระวังภัย ซึ่งไม่แน่ว่าหายนะจะเกิดขึ้นกับเราโดยไม่ได้ตั้งตัวอีก" นายก อบต.เกาะคอเขา ย้ำถึงภาระหน้าที่ของตน
บัญญัติ ชูเลิศ