ข่าว

ใต้โต๊ะโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

ใต้โต๊ะโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

29 พ.ค. 2561

คอลัมน์ : ที่นี่ไม่มีความลับ โดย...เอราวัณ

 
การได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานรัฐหลักๆ ที่บรรดาผู้ประกอบการต่างวิ่งจ่ายใต้โต๊ะอย่างน้อย 3 หน่วยงาน คือ การได้รับอนุญาตให้ผลิตไฟ เพื่อให้ได้รับเงินอุดหนุนในการผลิตไฟ จากกระทรวงพลังงาน, ใบอนุญาตรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิต คือใบรับซื้อจาก 1.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และ 3.การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แล้ว แต่ว่าการไฟฟ้าไหนจะรับซื้อ และเมื่อมีทั้ง 2 ใบแล้วจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อจัดสร้างโรงงานที่เรียกว่า(รง.4) 

ขั้นตอนมากมายขนาดนี้ได้กลายเป็นเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีบารมีเหนือเจ้าหน้าที่รัฐในแต่ละหน่วยงาน “ตั้งด่านเรียกเก็บค่าต๋ง” ในการประกอบธุรกิจนี้ ที่หนักสุดเห็นจะเป็นการ “เมาธ์” กันในวงการพลังงานว่าเวลานี้ใครอยากได้ใบรับซื้อไฟ (ppa) จาการไฟฟ้า ต้องจ่ายค่าต๋งให้กับ “ลูกชายและภรรยาน้อย” ให้กับคนระดับเสนาบดีบางคน ว่ากันว่าคิดแบบง่ายๆ “เมกละกิโล”

คนชอบข่าวลับ ๆ อย่าง "เอราวัณ" ก็ต้องไปหาคำอธิบายให้ผู้อ่านได้กระจ่าง พบว่า โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเหล่านี้ส่วนใหญ่กำลังผลิตจะขนาดโรงละ 8 หรือ 9 เมกะวัตต์เท่านั้น ถ้า  8 เมกะวัตต์ก็ต้องจ่ายใต้โต๊ะ 8 กิโลกรัม ถ้า 9 เมกะวัตต์ต้องจ่าย 8 กิโลกรัม
บังเอิญว่า ธนบัตรใบละ 1 พันบาท จำนวน 1 พันใบ (1 ล้านบาท) จะมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัมพอดี จึงกระฉ่อนกันมากว่า “ลูกชายและภรรยาน้อย” ต่างอิ่มหมีพีมันกับการตั้งด่านเรื่องนี้ ส่วนจะเป็น “ลูกชายกับภรรยาน้อย” ของคนระดับเสนาบดีคนใดนั้น ต้องสืบค้นกันเอาเอง บอกให้รู้แค่ว่าคนในวงการพลังงานรู้กันทั่ว

ด้วยผลประโยชน์มากมายมหาศาลเช่นนี้ จึงเป็นเหตุผลว่าตั้งแต่ตั้งกระทรวงพลังงาน มาเกือบ 16 ปี (ก่อตั้ง 3 ตุลาคม 2545) 2 การไฟฟ้าคือ กฟน.-กฟภ. ถึงยังต้องสังกัดอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ไม่ยอมมาสังกัดกระทรวงพลังงาน ทั้งๆ ที่ภารกิจทั้งหมดน่าจะเป็นทิศทางเดียวกันในการบริหารนโยบายและทิศทางพลังงานของประเทศ แต่ด้วยคนที่มาเป็น “รมว.มหาดไทย” ทุกยุคมักเป็นเบอร์ 2 ของรัฐบาล (รองจากนายกรัฐมนตรี) จึงมีกำลังดึง 2 หน่วยงานนี้ไว้อยู่ในสังกัด เพื่อ “อำนาจที่ตามมาด้วยผลประโยชน์”

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับ 3370 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.2561