รีไซเคิลขยะพลาสติกสไตล์ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้พลาสติกมาก โดยเฉพาะกับการหีบห่อสิ่งละอันพันละน้อย แต่ก็ขึ้นชื่อว่ามีระเบียบเคร่งครัดเพื่อทำให้ขยะพลาสติกทั้งหลายต้องรีไซเคิลหรือรียูส
แต่ละวันที่ศูนย์วิศวกรรมอิชิคาวะ คันเคียว ซึ่งเป็นโรงงานรีไซเคิลขยะชานกรุงโตเกียว จะมีพลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ราว 10 ตันขนเข้าไปเติม เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูป
คนงานสวมหน้ากากและอุปกรณ์จำเป็น คุ้ยแยกสิ่งแปลกปลอมหรือปนเปื้อนออกจากพลาสติกกองมหึมา จากนั้น ขยะพลาสติกจะถูกนำไปบีบอัดเป็นมัดขนาดใหญ่ ใช้รถฟอร์กลิฟต์ขนย้ายไปไว้ในโรงเก็บ
นักวิจารณ์มักกล่าวหาผู้บริโภคและผู้ค้าปลีกในแดนอาทิตย์อุทัยว่า ใช้พลาสติกกันมากเหลือเกินในการหีบห่อสินค้าเกือบทุกสิ่งอย่าง กระทั่งผลไม้ 1 ชิ้น
ที่น่าสนใจคือ ญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายระดับชาติห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ส่วนการลงโทษ หรือการลดแรงจูงใจใช้ถุงพลาสติกก็น้อยมาก
แต่ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นมีกฎหมายซับซ้อนและเข้มงวดมากเช่นกันในการคัดแยกชนิดขยะ เพื่อช่วยให้อัตราการนำมาใช้ใหม่ หรือรียูส กับรีไซเคิล สูงที่สุด
ทางการท้องถิ่นทั่วกรุงโตเกียว และเมืองต่างๆทั่้วประเทศ ต่างมีกฎระเบียบของตัวเองว่าประชาชนจะต้องแยกขยะอย่างไร โดยจัดทำเป็นผังงานอธิบายชนิดขยะว่าอยู่หมวดไหน และพลาสติก กระป๋อง กระดาษและขยะนำไปรีไซเคิลได้ จะจัดเก็บตามวันแต่ละสัปดาห์
ส่วนใหญ่ จะแยกเป็นหมวดขยะเผาได้ เผาไม่ได้ รีไซเคิล และพลาสติก หลายเมืองยังกำหนดให้ประชาชนต้องแยกกระดาษแข็ง และชนิดพลาสติกอีกต่างหาก
ซึ่งสถาบันจัดการขยะพลาสติก ระบุว่า ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรับประกันว่าขยะพลาสติกปริมาณ 1 ใน 5 จะต้องผ่านกระบวนการรีไซเคิล
ที่เหลือ ส่วนใหญ่จะนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงหรือผลิตไฟฟ้า หรือทำความร้อน ราว 10% นำไปเผาโดยไม่ได้ผลิตพลังงาน กับอีกไม่ถึง 10% เท่านั้นที่จะไปอยู่ในแหล่งทิ้งขยะ