ข่าว

ดึง 10 ชาติอาเซียนร่วมปราบอาชญากรไซเบอร์

ดึง 10 ชาติอาเซียนร่วมปราบอาชญากรไซเบอร์

27 มิ.ย. 2561

"ดีเอสไอ"เดินหน้าปราบอาชญากรรมไซเบอร์ ดึง10 ชาติอาเซียนร่วมวงถกสภาพปัญหา วางแนวป้องกัน ปลัดยธ.ชี้อาชญากรรมไซเบอร์เป็นเทรนใหม่ที่ทั่วโลกต้องตื่นตัว เฝ้าระวัง

 

27 มิถุนายน 2561 ดีเอสไอเดินหน้าปราบอาชญากรรมไซเบอร์ ดึง10 ชาติอาเซียนร่วมวงถกสภาพปัญหา วางแนวป้องกัน ปลัดยธ.ชี้อาชญากรรมไซเบอร์เป็นเทรนใหม่ที่ทั่วโลกต้องตื่นตัว เฝ้าระวัง พบในกลุ่มเออีซีโดนกันถ้วนหน้า
 

 

 

 

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดการสัมมนา "แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และกำหนดมาตรการ แนวทางการบังคับใช้กฎหมายในกลุ่ม ASEAN Economic Community (AEC) ในการป้องกันอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์" โดยมีผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ผู้เชี่ยวชาญในด้านอาชญากรรมไซเบอร์และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เข้าร่วมหารือ


นายวิศิษฏ์ กล่าวว่า อาชญากรรมคอมพิวเตอร์เป็นระเด็นที่ทุกประเทศในโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากอาชญากรามประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดและสร้างความเสียหายในวงกว้าง แม้ทุกประเทศจะมีมาตรการจัดการกับอาชญากร แต่ขีดจำกัดในข้อกฎหมายระหว่างประเทศเอื้อให้คนร้ายสามารถกระทำความผิดได้สะดวกยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างช่องทางให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายใช้ติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลอาชญากรรมไซเบอร์. ตั้งแต่อาชญากรรมพื้นฐานในกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ขึ้นไปจนถึงอาชญากรรมที่มีความสลับซับซ้อน เพื่อลดช่องว่างในการปราบปรามการกระทำความผิดทางไซเบอร์ ตลอดจนปรับแก้กฎหมายเพื่อยับยั้งการเกิดอาชญากรรม

 

ปัจจุบันทั่วโลกยอมรับว่าอาชญากรรมไซเบอร์เป็นเทรนใหม่ แม้แต่องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ก็ให้ความสำคัญและเห็นว่าไม่ควรรอให้สถานการณ์รุนแรงกว่านี้แล้วค่อยหาวิธีการกับปัญหาในส่วนของประเทศไทยแม้ว่าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะมีบทลงโทษรุนแรง แต่ประเด็นสำคัญคือเราสามารถติดตามจับกุมคนร้าย ระงับยับยั้งก่อนที่อาชญากรรมจะขยายตัวได้หรือไม่

 

ซึ่งอาชญากรทั่วไปจะต้องก่อเหตุด้วยตนเอง แต่อาชญากรทางไซเบอร์มีระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำให้อาชญากรรมดินไปได้ต่อเนื่อง โดยที่คนร้ายไม่ต้องเข้าไปดำเนินการเอง ไม่ต้องเดินทางเข้าไปในประเทศนั้นๆก็สามารถสร้างความเสียหายหรือฉ้อโกงหลอกลวงเพื่อให้ได้ทรัพย์สินออกมา. ในส่วนของผู้บังคับใช้กฎหมายจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบในกรตรวจจับเช่นกัน"ปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าว


ด้านพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า โครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียน จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และกำหนดมาตรการ แนวทางการบังคับใช้กฎหมายในกลุ่มเออีซีเพื่อพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของบุคลากรกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด้านการป้องกันและสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมไซเบอร์ อีกทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในประเทศ


จากการประสานข้อมูลระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษพบข้อมูลอาชญากรรมทางไซเบอร์ ดังนี้. ในประเทศไทยคดีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องคอลเซ็นเตอร์ ที่หลอกลวงคนไทย สร้างความเสียหายมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยคนร้ายจะตั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์ในหลายประเทศหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงินไปให้คนร้าย.

 

ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบโทรศัพท์และสื่ออิเลคทรอนิกส์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 มีการแจ้งข้อมูลการหลอกลวง 452 คดี ความเสียหายประมาณ 245 ล้านบาท ตำรวจออกหมายจับแล้ว 547หมาย จับกุมได้ 396 ราย ซึ่งการแก้ปัญหาได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศต่อเนื่อง จนสามารถทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้หลายครั้ง แต่ปัญหานี้ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง


ขณะที่ประเทศฟิลิปินส์ อาชญากรรมทางไซเบอร์ส่วนใหญ่เป็นการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต เปลี่ยนจากรูปแบบการหลอกลวงให้ลงทุนเงินในสกุลเข้ารหัส หรือคริปโตเคอเรนซี่ซึ่งตรวจสอบได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ที่มีฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ตมากสุดกว่าร้อยละ 50 ของคดีไซเบอร์ทั้งหมด ส่วนออสเตรเลีย คดีไซเบอร์ที่เกิดกับภาครัฐ 

 

ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 48 คือการหลอกลวง ที่เกิดจากความพยายามหลอกลวงผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์โดยการสร้างอีเมล์ หรือหน้าเว็บปลอมขึ้นมา เพื่อหวังผลในการให้ผู้ใช้งานเกิดความสับสน และทำธุรกรรมต่าง ๆ บนเว็บไซต์ปลอมที่ถูกสร้างขึ้นนั้น ส่วนในภาคเอกชนพบการแฮกเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ เช่น ข้อมูลบัตรเครดิต