"บิ๊กตู่"เย้ยดูดทำไม"เมื่อยปาก"
"บิ๊กตู่" งง ยุทธศาสตร์ชาติเขียนเป็นกรอบไว้ไม่รู้กลัวอะไรกัน เหน็บจะดูดทำไมให้เมื่อยปาก "บิ๊กป้อม" ท้าเปิดชื่อบิ๊กทหารเดินสายดูด ส.ส. ยันไม่มีใครมาพบที่บ้านพัก
คสช.-รัฐบาล ยังคงตกเป็นเป้าโจมตีจากพรรคการเมืองซีกตรงข้าม โดยเฉพาะความพยายามในการเดินสายทาบทามส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นๆ ของกลุ่มการเมืองที่ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่แฟลตดินแดง กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารและส่งมอบกุญแจห้องพักอาศัยโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ซึ่งรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ระยะที่ 1 แปลง G โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมงาน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้มาร่วมแสดงความยินดีกับการก่อสร้างแฟลตดินแดงใหม่ ในโครงการแรก หลังจากที่มีปัญหาติดค้างมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชน ข้าราชการ จนสามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ เพราะรัฐบาลไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ซึ่งเราพยายามทำให้เกิดความเท่าเทียมในเรื่องที่อยู่อาศัย เมื่อโครงการเกิดขึ้นแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเข้ามาดูแล เช่น การบริหารจัดการขยะ บริหารการอยู่อาศัย ที่สำคัญห้ามเป็นแหล่งซ่องสุมยาเสพติดอย่างเด็ดขาด ดังนั้น จึงต้องมีคณะกรรมการเข้ามาดูแล
นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ไม่ได้มาเรื่องการเมือง แต่มาทำการบ้านที่ทำมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งยังไม่เสร็จ และมีการบ้านเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ พร้อมกับโจทย์ที่ยากขึ้น ฉะนั้นการบ้านจะสำเร็จได้ต้องพวกเราทุกคน ทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และประชาชน ทุกคนต้องเข้าใจว่าปัญหาบ้านเมืองของเรานั้น ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากกฎหมาย เมื่อกฎหมายมีปัญหาก็ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย จากนั้นจึงนำไปสู่เรื่องการปฏิบัติความร่วมมือ วิธีการ ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าทุกอย่างในประเทศนี้ทำได้ ถ้าไม่ขัดแย้งกับกฎหมาย หรือกฎหมายที่ได้แก้ไขไปแล้ว นี้คือสิ่งที่รัฐบาลทำมา 4-5 ปี เพราะกฎหมายเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เกิดความเท่าเทียม ทุกคนมีโอกาสเข้าถึง
“เราต้องมาดูว่าจะช่วยบ้านเมืองอย่างไร ถ้าทุกคนคิดแต่เพียงว่าเราจะได้อะไร โดยไม่ต้องเสียอะไร โลกนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่มีเกิดขึ้นได้ มีแต่ว่าเราจะได้อะไรและเสียอะไรน้อยหน่อยในช่วงแรก อย่างเรื่องภาษี ถ้ามีกำลังทรัพย์มากก็เสียมาก มีกำลังทรัพย์น้อยก็เสียน้อย หรือไม่มีกำลังทรัพย์ก็ไม่มีต้องเสีย ถ้าสอนแบบที่สอนกันมาโครงการแบบนี้ก็จะไม่เกิด อีก 20 โครงการก็จะไม่เกิด รัฐบาลวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะที่ 1 โดย 4 ปีที่ผ่านมาได้มาเท่านี้ วันหน้าไม่ว่ารัฐบาลไหนที่อยากเข้ามานักหนา ใช้แบบเดิมไม่ได้อยู่แล้ว ต้องใช้แบบนี้คือตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ร.บ.การเงินการคลัง ตามกรอบที่เขาเขียนไว้ แค่นี้ยังกลัวกันเลย จะกลัวอะไรกันกับกรอบตัวนี้ที่เขียนไว้ ไม่ใช่เขียนไว้ห้ามทำอะไร ไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่ตรงนี้ มันไม่ใช่ แต่เป็นการเขียนให้กรอบทุกกระทรวงทำงาน แล้วรวมกันเป็นยุทธศาสตร์ชาติ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
เหน็บจะไปดูดให้เมื่อยปากทำไม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นกับประชาชนในทุกด้าน ทำให้ประชาชนมีความสุข แต่ไม่ใช่มีเงินเยอะ แต่ถ้ามีเงินเยอะแต่ผิดกฎหมาย หรือมีคดีก็ใช้เงินไม่ได้ ใครอยากมีคดีไหม ถ้าไม่อยากก็ค่อยๆ ทำมาหากินไป เดี๋ยวก็มั่นคง แข็งแรง รวยขึ้นเอง ถ้ามีเงินเยอะใช้ไม่ได้ หนีคดี จะมีไปทำไป ตายไปก็เอาไปไม่ได้สักบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายกฯ ได้ถามผู้ร่วมงานว่า “รู้ไหม กทม.มีทั้งหมดกี่เขต” โดยผู้ร่วมงานคนหนึ่งตะโกนตอบว่า “50 เขต” นายกฯ กล่าวว่า “ใช่ มี 50 เขต แต่ไม่ใช่ไปดูดเขตโน้นเขตนี้ จะไปดูดให้เมื่อยปากทำไม ใครจะไปดูด เชิญไปดูดกันมาแล้วกัน ผมไม่ได้ไปดูดกับใคร”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้จะเดินทางไป จ.ภูเก็ต และเชียงราย ก็ขอให้ช่วยกันอธิษฐานให้เครื่องบินที่ตนนั่งไปปลอดภัย คราวก่อนตอนไปอังกฤษ เครื่องสตาร์ทไม่ติด ต้องมาต่อแบตเตอรี่ข้างนอก แต่เครื่องก็ยังขึ้นได้ ก็ถามว่าเครื่องขึ้นไปแล้วจะดับไหม นักบินรับรองว่าไม่ดับ ฝากรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงไปแก้ไขด้วย มันมีปัญหาทุกอัน ตนเคยขึ้นมาแล้วก็ไม่ตก สมัยก่อน ส่วนที่บอกว่าจะซื้อเฮลิคอปเตอร์มาทำไม ถ้าไม่ซื้อแล้วจะให้ใช้อะไร ใช้จรวดหรืออย่างไร หรือจะใช้นกบิน เขาก็หาซื้อมาตามลำดับ เพื่อใช้ประโยชน์ ส่วนเรื่องที่กล่าวหาว่ามีการทุจริตซื้อแบบรัฐต่อรัฐก็ให้ไปหาหลักฐานมา เพราะบริษัทนั้นก็ต้องทุจริตกับเราด้วย ก็เอาสิ เพราะเป็นการซื้อขายระหว่างประเทศกับประเทศ
“วันนี้มาที่ดินแดง ก็อยากให้ทุกคนย้อนกลับไปปีก่อนๆ เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบริเวณรอบๆ นี้ คงยังไม่ลืมกัน อย่าให้เกิดขึ้นอีก เมื่ออยู่ที่สูงๆ แล้วก็ต้องช่วยกันเฝ้าตรวจการณ์กรุงเทพฯ ด้วย ใครเอาอาวุธมายิง มาขว้างระเบิด ที่นี้ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นส่วนที่สูงที่สุดในพื้นที่อันตราย ไม่โกรธเคืองกัน แต่อย่าให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอีก” นายกฯ กล่าว
สอนขรก.สวมหมวก-ทำความเคารพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่มาร่วมพิธีเปิดอาคาร หลังจากที่เห็นข้าราชการคนหนึ่งสวมหมวกผิดวิธี ว่า วิธีสวมหมวกของข้าราชการที่ถูกต้องจะต้องให้ข้างหลังสูงกว่าข้างหน้า ไม่ใช่ให้ข้างหน้าชะเง้อออกไปแบบนี้ มันน่าเกลียด จะต้องดึงส่วนหลังให้สูงขึ้นมาให้ส่วนด้านหน้าเสมอสายตา วัตถุประสงค์จริงๆ ก็คือเพื่อต้องการบังแดด ซึ่งต้องลองสวมกันใหม่เพื่อให้ถูกต้องวิธี จะได้สง่างามและสมบูรณ์แบบ ส่วนการทำวันทยหัตถ์ ที่เรียกว่า ตะเบ๊ะ นิ้วมือจะต้องเหยียดตรงและชิดกันไม่งอมือหรือเฉียง และเวลายืนตรงเพื่อต้อนรับหรือถวายความเคารพจะต้องยืนหลังตรง ขาตรง มองตรงไปข้างหน้า ส้นเท้าชิดปลายเท้าเปิดประมาณ 45 องศา ก็จะทำให้แถวและการยืนเป็นระเบียบวินัย ส่วนของสุภาพสตรีเวลาทำความเคารพโดยวิธีการถอนสายบัว ก็ใช้เท้าซ้ายไปด้านหลัง ทุกคนจะต้องทำให้ได้ทั้งหมด เพราะเรามีประเพณีที่งดงาม ถ้าทำเหมือนกันทั้งหมดก็จะดูดี แต่ถ้าทำกันแบบสะเปะสะปะถือว่าใช้ไม่ได้
“ผมจะเริ่มตรวจสอบข้าราชการก่อน ถ้าไม่ดีผมจะฝึกราชการที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพุธ โดยเริ่มจากระดับอธิบดี ปลัดกระทรวง” นายกฯ กล่าว
บิ๊กป้อมปัดบิ๊กทหารร่วมดูดส.ส.
ด้าน พล.อ.ประวิตร กล่าวปฏิเสธที่พรรคเพื่อไทยอ้างว่ามีนายทหารระดับสูงของกองทัพภาคที่ 2 ร่วมในขบวนการดูด ส.ส.ของพรรคว่า ดูดอย่างไร ไม่มี ส่วนที่ว่ามาพูดคุยในลักษณะชักชวนให้ไปร่วมงาน เขารู้จัก แล้วเขาจะคุยกันไม่ได้หรืออย่างไร เมื่อถามว่าหากมีการเสนออามิสสินจ้างสามารถทำได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวย้อนถามว่า “ที่บอกว่าไปเสนอเป็นใคร บอกชื่อมาได้หรือไม่ และการเสนอเป็นเรื่องของเขา เขาจะคุยกันก็ไม่เกี่ยวอะไร”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทหารในราชการไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวเกินกรอบความสนิทหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เกี่ยว เมื่อถามว่าชื่อของท่านมักจะถูกอ้างมาเกี่ยวข้องกับการดูดส.ส.ในช่วงเวลานี้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “เมื่อพูดว่าอ้างแล้วจะมาถามอะไร ยืนยันว่าไม่มีใครมาพบที่บ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) อย่างที่มีกระแสข่าว”
“สุชาติ”ยันมีทาบย้ายพรรคจริง
ส่วนนายสุชาติ ภิญโญ อดีตส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า มีการติดต่อทาบทามให้ย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐตามกลุ่มของตระกูล “รัตนเศรษฐ” จริง แต่ ณ วันนี้ตนอยู่กับพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ โดยหลังคสช.ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ก็จะต้องพิจารณาองค์ประกอบอีกหลายอย่าง เช่น กติกาในการเลือกตั้ง ที่สำคัญจะรอดูท่าทีของพรรคเพื่อไทยว่าจะมีแนวทางนโยบายหรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพรรคที่จะสามารถทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน
“ณ วันนี้การเมืองของไทยยังไม่มีความชัดเจน พรรคการเมืองต่างๆ ก็ยังทำกิจกรรมไม่ได้ ในฐานะที่เป็นอดีตส.ส.ก็ขออยู่กับประชาชนในพื้นที่ไปก่อน ถ้ามีความชัดเจนแล้วก็คงจะต้องตัดสินใจอีกครั้ง”
ต่อข้อถามถึงกระแสข่าวการใช้เงินดูดอดีตส.ส.ของพรรคการเมืองบางพรรคเพื่อให้ย้ายไปร่วมงาน โดยแบ่งเกรดเอ บี และซี มีตัวเลขตั้งแต่ 30 ล้านขึ้นไปนั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายสุชาติ ตอบว่า เรื่องนี้ไม่ทราบข้อเท็จจริง สำหรับตนแล้วถ้าจะย้ายพรรคก็จะไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมาได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาทั้งตัวบุคคลและนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ตนสังกัดโดยไม่ได้ใช้เงินซื้อเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด
พท.เมิน“สามมิตร”เปิดตัวอลังการ
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่กลุ่มสามมิตรโวจะเปิดตัวพรรคให้อลังการนั้นก็เป็นเรื่องของกลุ่มสามมิตร เราไม่ได้ตกอกตกใจอะไร ส่วนคนที่จะไปก็ไปไม่ได้ว่ากัน เพราะเราจะห้ามใครไปหรือไม่ไปไม่ได้ แต่เชื่อว่าคนจะไปน้อยมาก เขาจะได้แต่กลุ่มหลังๆ ดังนั้น กลุ่มสามมิตรจะเดินอย่างไรก็เป็นสิทธิของกลุ่มสามมิตร และที่ประกาศว่าจะบุกทุกกลุ่มทุกสี พรรคเพื่อไทยเองก็จะบุกทุกกลุ่มที่ยึดหลักความเป็นประชาธิปไตย ไม่อยู่ใต้อำนาจของเผด็จการทหาร พรรคเพื่อไทยลองคบกับทุกกลุ่มที่อยู่ในฝั่งของประชาธิปไตยด้วยกัน และพาประเทศไปสู่ระบบที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
เมื่อถามว่า ขณะนี้ภาคอีสานก็ถูกดูดไปกว่า 10 คนแล้ว นายสมคิด กล่าวว่า ไม่เป็นไร ส.ส.อีสานมีร้อยกว่าเขต ไปสัก 7-8 คน ถือว่าไม่เยอะ เป็นปกติ คนจะไปเราห้ามอะไรไม่ได้ พรรคเพื่อไทยไม่ได้หวั่นไหวอะไร ขณะนี้รอเพียงเขาปลดล็อกทางการเมืองเราก็จะสามารถพูดคุยกันในวงกว้างได้ เพราะขณะนี้คุยกันแต่ในวงแคบๆ บางทีก็ไม่ได้ข้อสรุปอะไร
“ไพรมารีโหวต”รอคสช.-กกต.เคาะ
ส่วนกระแสข่าวที่ว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำร่างแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่เพื่อทำไพรมารีโหวตและให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)สามารถแบ่งเขตการเลือกตั้ง รวมถึงอาจจะใช้การทำไพรมารีโหวตแบบภาคนั้น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ข่าวที่ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาไปยกร่างแก้ไขคำสั่งดังกล่าวเป็นความจริง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการทำไพรมารีโหวต โดยในการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมานั้น ได้พูดถึงการทำไพรมารีโหวตไว้ว่ามีประมาณ 3-4 แนวทาง คือ 1.ยังไม่เริ่มใช้ไพรมารีโหวต 2.มีการทำไพรมารีโหวตแบบจังหวัด ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาล 3.การทำไพรมารีโหวตแบบภาค 4.หากไม่ใช้การทำไพรมารีโหวตจะใช้รูปแบบใดมารองรับแทน เพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร เพราะหากไม่ทำไพรมารีโหวตก็จะไม่มีอะไรมารองรับตรงนี้และจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่กำหนดให้สมาชิกพรรคต้องมีส่วนร่วม
“จึงมีการมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำแนวทางเหล่านี้ไปจัดทำร่างในทุกรูปแบบแล้วนำเสนอ กกต.พิจารณา ส่วนคสช.จะเลือกใช้รูปแบบใดใน 4 รูปแบบดังกล่าว ก็เป็นเรื่องที่ คสช.จะเป็นผู้พิจารณา และจะส่งข้อพิจารณาของคสช.ไปให้ กกต.ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลือกแนวทางตามที่คสช.เลือก และขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะทำไพรมารีโหวตแบบภาคตามที่บางฝ่ายเข้าใจแล้วมีข่าวออกมา เพราะสิ่งที่เป็นข่าวเป็นแนวทางหนึ่งที่มีการสรุปความเห็นไปให้ กกต.เท่านั้น และขอย้ำว่าแนวทางเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวตนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กกต. คสช. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการกฤษฎีกา กำลังรวบรวมประมวลผล ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาในการพิจารณา ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่คิดว่าคงใช้เวลาไม่นาน” นายวิษณุกล่าว
วิษณุย้ำคลายล็อกก่อน90วันไม่ได้
ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมถึงไม่มีการคลายล็อกให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมหรือทำกิจกรรมได้ในช่วง 90 วันระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง นายวิษณุยืนยันว่า ไม่สามารถคลายล็อกให้พรรคการเมืองในช่วง 90 วันแรกได้ เพราะยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ลงมา แต่ถ้าพรรคการเมืองใดมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมอะไรก็ให้ไปขออนุญาตจากคสช.เป็นรายกรณี ไม่เช่นนั้นอาจมีสิ่งสอดแทรกจากบางพรรคการเมืองแล้วอาจจะส่งผลกระทบกับ 90 วันช่วงที่สอง เป็นช่วงที่รอการบังคับใช้จริงหลังจากมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ลงมาแล้ว จึงขออย่าไปทำอะไรให้เกิดปัญหาขึ้นมา เราเพียงแค่ป้องกันปัญหาเอาไว้เท่านั้นเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการคาดการณ์ว่าจะคลายล็อกให้แก่พรรคการเมืองได้ภายในเดือนสิงหาคมหรือไม่ รองนายกฯ ปฏิเสธว่า เรื่องนี้ไม่ทราบและยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็มีพรรคการเมืองไปขออนุญาตจากคสช.อยู่ทุกวัน ทั้งนี้ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่อธิบายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ยาก แต่ถือว่ามีความจำเป็นที่ยังไม่สามารถคลายล็อกให้ได้ และแม้จะเป็นการดำเนินงานคนละส่วนกันระหว่างกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. แต่เราคิดว่าไม่มีปัญหาและอุปสรรคอะไร
กรธ.เชื่อแค่โยนหินถามทาง
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรธ. กล่าวว่า กระแสข่าวที่ กรธ.หารือร่วมกับคสช.เพื่อคลายล็อกและปรับไพรมารีโหวตนั้น เท่าที่ทราบยังไม่มีเรื่องนี้เข้ามาในที่ประชุมกรธ. มองว่า กระแสข่าวน่าจะเป็นการโยนหินถามทาง เพราะการแก้ไขคำสั่งดังกล่าวเป็นอำนาจของ คสช. ทั้งยังไม่สมเหตุสมผลในเรื่องไพรมารีโหวต เนื่องจาก กรธ.เองไม่ได้เสนอให้มีตั้งแต่ต้น แต่เป็นสนช.ที่เสนอให้มี หากจะแก้เรื่องไพรมารีก็ควรไปถาม สนช.
“การแก้ไขคำสั่ง คสช. จึงไม่เกี่ยวอะไรกับ กรธ. ที่ตอนนี้ก็ประชุมกันแค่สัปดาห์ละครั้ง เพื่อพิจารณาทบทวนปรับแก้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้สละสลวย เตรียมจะปิดร้านเมื่อกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย อย่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป” นายปกรณ์ กล่าว
ปชป.จี้คสช.งัดม.44ไฟเขียวกกต.
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะอยู่ระหว่างที่กฤษฎีกาขอความเห็นจาก กกต. ว่ามีความเห็นเรื่องไพรมารีโหวต ซึ่งจะเดินตามมาตรา 145 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า (พ.ร.ป.) ด้วยพรรคการเมือง คือต้องทำไพรมารีแต่ละสาขา หากไม่มีสาขาก็ให้ทำไพรมารีโหวตเป็นจังหวัดในแต่ละจังหวัดโดยใช้ตัวแทน 100 คน หรือจะทำเป็นไพรมารีแบบภาคโดยแบ่งเป็น 4 ภาค คือภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยในแต่ละภาคให้มีสมาชิกเข้าร่วมประชุมเกินกว่า 250 คน ก็จะสามารถทำไพรมารีได้ทุกเขตในภาคนั้นๆ จากนั้น เมื่อ กกต.เห็นอย่างไรก็จะเสนอมาที่คสช. แต่คสช.จะเอาด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีการทำไพรมารีหรือไม่ เพราะการทำไพรมารีตามมาตรา 145 คือแต่ละสาขาหรือตัวแทนจังหวัด หรือทำไพรมารีเป็นภาคๆ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ กกต.มีอำนาจจัดการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เรียบร้อย ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถหาสมาชิกให้ได้เกิน 500 คน ในกรณีจะจัดตั้งเป็นสาขา หรือให้ได้เกิน 100 คนในกรณีจะตั้งเป็นตัวแทนจังหวัด
“ไม่ว่ากติกาจะออกมาในรูปใด ขอให้พรรคการเมืองมีเวลามากพอที่จะหาสมาชิกเพื่อตั้งสาขา มีเวลามากพอเพื่อทำไพรมารี เชื่อแน่ว่าพรรคการเมืองทุกพรรค พร้อมที่จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เดิมมี 2,500,000 คนและมีสาขาประมาณ 200 สาขา หากคสช.ให้เวลามากพอ เราเชื่อว่าสมาชิกทั้งหมดและสมาชิกใหม่ก็พร้อมที่จะเข้ามาเคียงข้างกับพรรค รวมทั้งสามารถจัดตั้งสาขาได้ครบ 200 หรือเกินกว่า ตามความต้องการของมวลสมาชิกอย่างแน่นอน อยากจะย้ำว่าการปฏิรูปการเมืองคือการที่ให้สมาชิกพรรคเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ไม่ใช่นายทุนพรรค จึงต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหาสมาชิกให้มาก และให้สมาชิกเข้าใจและยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค มิฉะนั้นแล้วการทำไพรมารีก็จะเป็นเพียงรูปแบบ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายของพรรคโดยใช่เหตุ” นายวิรัตน์ กล่าว
มท.1สั่งคุมเข้มงบไทยนิยม
ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบแนวทางการปฏิบัติงานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงมหาดไทย เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาของประชาชนและขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเชิงพื้นที่ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ผู้ว่าฯ นายอำเภอ และหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศกว่า 2,000 คน เข้าร่วมรับมอบนโยบาย
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นที่ จ.เชียงราย เป็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น ผู้ว่าฯ ต้องรู้เรื่องทั้งหมดเพื่อประสานงาน กฎหมายที่ผู้ว่าฯ มีอยู่ในมือ เช่น กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องนำมาบูรณาการในการทำงานร่วมกัน ตนไม่อยากให้ทุกพื้นที่มีการเกิดภัย แต่เมื่อเกิดแล้ว ผู้ว่าฯ มีความสำคัญจริงๆ จึงต้องวางแผนการทำงานไว้เสมอ ส่วนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดทำแผนงาน โครงการตามงบประมาณที่ได้รับ ต้องขอบคุณทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ลงไปทำให้เกิดความสำเร็จ ทั้งเรื่องหมู่บ้านละ 2 แสนบาท บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เรื่องโอท็อป เรื่องประชาธิปไตย เรื่องยาเสพติด เรื่องการกระจายข่าวสารของกระทรวงมหาดไทยนั้น รัฐบาลให้แนวทางว่าทำอย่างไรให้การทำงานของรัฐได้ซึมซับไปถึงประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้ใช้ไลน์แอพพลิเคชั่นในการสื่อสารไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ด้วยข้อความที่เข้าใจง่ายเพื่อนำสื่อสารต่อลงไปยังประชาชน
“ขอให้กำกับดูแลงบประมาณที่ลงไปด้วย ประเทศไทยมีความลำบากยากแค้นอยู่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร ที่เรียกกันว่าเศรษฐกิจฐานรากไม่ดี ต้องแก้ให้ตรงจุด ต้องดูว่าชุมชนขาดอะไร ก็ต้องมีช่องทางให้ชุมชนผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย ควบคู่ไปกับการพัฒนาการท่องเที่ยวด้วย กระทรวงมหาดไทย เป็นสถาบันที่สำคัญ เมื่อมีการกระจายอำนาจลงไปแล้วต้องทำให้ดี ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ในฐานะดูแลพื้นที่ ต้องกำกับการใช้อำนาจให้ดี เพราะหากกำกับไม่ดีจะถูกดึงอำนาจไป ก็ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ว่าฯ ยังเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลนี้อยู่” รมว.มหาดไทย กล่าว
ยึดความเหมาะสม-โปร่งใส
ด้าน ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยถูกจัดอันดับการร้องเรียนเรื่องทุจริตเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะในรอบสองปีที่ผ่านมานี้ มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรมการปกครองเยอะมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับกำนันผู้ใหญ่บ้านถึง 170 เรื่อง จาก 200 เรื่อง ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่มีมาก่อนหน้านี้ เช่น ตำบลละ 5 ล้านบาท โครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท และโครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาท ก็ขอฝากผู้ว่าฯ นายอำเภอ ช่วยกำกับดูแลไม่ให้มีการร้องเรียนหรือมีความขัดแย้งเกิดขึ้น โดยลงไปสร้างความรับรู้ ความเข้าใจว่าแผนงานโครงการต่างๆ ต้องมาจากความต้องการของประชาชน
ส่วนนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวว่า รมว.มหาดไทยเป็นห่วงในเรื่องการปฏิบัติตามมาตรา 157 ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เมตตากับผู้บริหารท้องถิ่น ช่วยแนะนำเร่งรัดในส่วนที่เป็นภารกิจหน้าที่ของนายก อบต. เช่น เรื่องขยะพิษ และขอให้นายก อบต.ช่วยรายงานเรื่องขยะพิษ หมั่นลงพื้นที่เพื่อรายงานให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอรับทราบ สำหรับเรื่องอาหารกลางวันเด็กและเบี้ยผู้สูงอายุ ถูกตั้งข้อสงสัยว่าตัวเลขเกินจริง ก็ขอให้ระมัดระวังเพราะระวังจะเกิดเหตุแบบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ แต่ขอเรียนว่าที่ค่าอาหารรายหัวไม่นิ่ง เพราะขึ้นอยู่กับการปิดเทอม เปิดเทอม รวมถึงจำนวนเด็กและผู้สูงอายุในแต่ละแห่ง ขณะเดียวกันขอให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอจัดระบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ดำเนินการตามหน้าที่ ขอให้มีการสื่อสารกันเพื่อลดช่องว่างไม่ให้มีการปล่อยปละละเลยในหน้าที่ หรืออาจจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามกำกับให้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ากรมไม่ได้ปล่อยปละละเลยในหน้าที่
ประชาธรรมไทยวุ่นกก.บห.ออก
ที่สำนักงานกกต. พ.ต.ท.ชำนาญ โตวงษ์ ว่าที่รองหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย พร้อมด้วยกรรมการบริหารอีก 6 คน เดินทางมาที่สำนักงาน กกต. เพื่อยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค โดยกล่าวว่า สาเหตุที่คณะกรรมการยื่นหนังสือลาออก เนื่องจากการทำงานไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ได้มีการปรึกษาหารือกันไว้ เช่น เรื่องนโยบายที่ว่าจะทำงานอย่างโปร่งใส แต่หัวหน้าพรรคกลับทำงานโดยไม่แจ้งข้อมูลข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการทราบ โดยมักจะดำเนินการตามอำเภอใจ ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว และการพูดคุยในที่ประชุมไม่ให้เกียรติคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นการก้าวล่วง ทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะการทำงานทางการเมืองร่วมกันทุกคนต้องมีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน พรรคการเมืองต้องไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเป็นของประชาชนคนไทยทุกคน
“ในอนาคตคาดว่าจะมีสมาชิกพรรคลาออกอีกเป็นจำนวนมาก กลุ่มของผมได้แจ้งลาออกให้หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทยทราบด้วยวาจา ผ่านทางโทรศัพท์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางหัวหน้าพรรคก็รู้สึกตกใจเล็กน้อย แต่เข้าใจเพราะว่าอุดมการณ์ไปคนละทางกัน” พ.ต.ท.ชำนาญ กล่าว
พ.ต.ท.ชำนาญ กล่าวอีกว่า หลังจากลาออกแล้ว ตนกับคณะมีความคิดที่จะรวมตัวกันเพื่อจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่มีอุดมการณ์ ที่กลุ่มของตนมุ่งหวังว่าจะทำงานเพื่อประชาธิปไตยและประชาชน โดยชื่อพรรคนั้นจะต้องปรึกษากันอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพรรคประชาธรรมไทย มีนายพิเชษฐ สถิรชวาล เป็นหัวหน้าพรรค อยู่ระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาเอกสารหลักฐาน ตามคำขอที่พรรคได้ยื่นขอจดตั้งพรรคต่อ กกต. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
อ๋อยยื่นเพิกถอนคำสั่งอายัดบัญชี
ที่ศาลปกครอง นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นร้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ที่สั่งระงับธุรกรรมทางการเงินของตนมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว ทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ ได้ ทั้งการเบิกเงิน ฝากเงิน ซื้อหุ้น หรือแม้แต่ซื้อประกันภัยก็ไมได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ร้องต่อ คสช. รัฐบาล และศูนย์ดำรงธรรมแล้วก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ และเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้วก็ยังดำเนินการต่อเนื่อง เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 ได้ระบุถึงการจะยกเลิกคำสั่ง คสช.ได้ โดยนายกรัฐมนตรี ครม. และฝ่ายนิติบัญญัตินั้น รัฐพึงที่จะยกเลิกกฎหมายที่สร้างภาระขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต โดยจะต้องยกเลิกกฎหมายลักษณะแบบนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือถึง เลขาฯ ครม. เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี และ ครม. ให้ดำเนินการแก้ไข แต่ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการ หากปล่อยไปก็หมายความว่า หลังเลือกตั้งตนจะต้องไปขอรัฐบาลใหม่หรือ ส.ส.ไปยกเลิกคำสั่งอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องมาขออำนาจศาลปกครองสั่งให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และหากศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่ามีอำนาจหน้าที่ที่จะกระทำได้ ก็ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว หรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งดังกล่าว
ฉบับ นสพ.คมชัดลึก