ข่าว

"ตะเบ๊ะ" มาจากไหน ทำอย่างไรให้ถูกหลัก

"ตะเบ๊ะ" มาจากไหน ทำอย่างไรให้ถูกหลัก

11 ก.ค. 2561

"ตะเบ๊ะ" มาจากไหน ทำอย่างไรให้ถูกหลัก โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

 

               "ครูฝึกตู่" เตรียมติวเข้มข้าราชการทำเนียบฯ "ตะเบ๊ะ" ให้ถูกท่า เปิดตำนาน และท่าที่ถูกต้อง

 

               กลายเป็นเรื่องขึ้นมาเมื่อวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไปเปิดอาคารพักอาศัยแปลง G หรือแฟลตดินแดงเดิมที่มีการปรับปรุงใหม่

 
                แต่ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีเห็นข้าราชการคนหนึ่งสวมหมวกผิดวิธี จึงบอกว่า "วิธีสวมหมวกของข้าราชการที่ถูกต้อง จะต้องให้ข้างหลังสูงกว่าข้างหน้า ไม่ใช่ให้ข้างหน้าชะเง้อออกไปแบบนี้ มันน่าเกลียด จะต้องดึงส่วนหลังให้สูงขึ้นมาให้ส่วนด้านหน้าเสมอสายตา วัตถุประสงค์จริงๆ ก็คือ เพื่อต้องการบังแดด ซึ่งต้องลองสวมกันใหม่เพื่อให้ถูกต้องวิธี จะได้สง่างามและสมบูรณ์แบบ"

 

               เรื่องราวลามไปถึงการทำวันทยาหัตถ์ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ตะเบ๊ะ" โดยนายกฯ ในฐานะอดีตทหารได้ออกโรงสั่งสอนการทำวันทยาหัตถ์ที่ถูกต้อง โดยบอกว่า 

 

               "นิ้วมือจะต้องเหยียดตรงและชิดกัน ไม่งอมือหรือเฉียง และเวลายืนตรงเพื่อต้อนรับหรือถวายความเคารพจะต้องยืนหลังตรง ขาตรง มองตรงไปข้างหน้า ส้นเท้าชิดปลายเท้าเปิดประมาณ 45 องศา ก็จะทำให้แถวและการยืนเป็นระเบียบวินัย ในส่วนของสุภาพสตรีเวลาทำความเคารพโดยวิธีการถอนสายบัว ก็ใช้เท้าซ้ายไปด้านหลัง" 

 

               และระบุว่าจะเริ่มตรวจสอบข้าราชการ โดยจะฝึกข้าราชการที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพุธ ซึ่งตามปกติช่วงบ่ายวันพุธ ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ รับตำแหน่งก็จะกำหนดให้เป็นช่วงเวลาออกกำลังกายประจำสัปดาห์

 

               คำถามมีอยู่ว่า วันทยาหัตถ์ หรือ "ตะเบ๊ะ" มาจากไหน เรื่องนี้ไม่มีใครระบุไว้แน่ชัด เรื่องเล่าด้านหนึ่งบอกว่า การวันทยาหัตถ์นั้นเกิดตั้งแต่ยุคกลางที่อัศวินใช้มือยกดาบขึ้นแสดงความเป็นมิตร

 

               อีกทฤษฎีหนึ่งระบุว่ามาจากยุคกรีกโบราณ ที่จะยกขึ้นเพื่อให้เห็นว่ามาอย่างสันติไม่มีอาวุธ 

 

               ขณะที่ยุคโรมัน กองทหารเมื่อตรวจพลจะใช้วิธียกฝ่ามือไปข้างหน้า 

 

               ส่วนยุคกลาง หรือเป็นยุคอัศวิน ที่มีเกราะเหล็กปิดบังหน้า ก็จะใช้วิธียกเกราะที่ปิดบังใบหน้า เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้านายเห็น

 

               ว่ากันว่า ต่อมากองทัพอังกฤษ เริ่มธรรมเนียมที่พลทหารและทหารชั้นประทวนต้องถอดหมวกออกเพื่อแสดงการทักทายนายทหารยศสูงกว่า แต่ธรรมเนียมนี้ถูกยกเลิกไปในศตวรรษที่ 18 เพราะการใส่หมวกหรือเครื่องประดับศีรษะกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก หลังจากนั้น กองทัพอังกฤษจึงใช้วิธีทำวันทยาหัตถ์โดยผายออกด้านนอก (ซึ่งปัจจุบันบางประเทศยังใช้อยู่) แต่ต่อมากองทัพเรืออังกฤษเองได้ปรับรูปแบบโดยให้ฝ่ามือคว่ำลง เนื่องจากเชื่อว่าทหารเรือต้องทำงานบนเรือ ทำให้มือสกปรกมีคราบเลอะเทอะ เมื่อผายมือทักทายก็จะดูไม่ดี  

 

               ซึ่งต่อมาวิธีการนี้ก็แพร่หลายกลายมาเป็นการวันทยาหัตถ์ยามที่ผู้อยู่ในเครื่องแบบต้องใส่หมวก และวันนี้ในเวลาที่มีการแข่งขันกีฬาที่ผู้เล่นต้องใส่หมวกหรือพิธีต่างๆ เราก็ยังเห็นการยกมือจับปีกหมวก ซึ่งมีท่าทางคล้ายการวันทยาหัตถ์ 

 

               การวันทยาหัตถ์ที่ถูกทำอย่างไร ตามคู่มือการฝึกท่าบุคคลของทหาร ระบุว่า ท่าตรงหน้าวันทยหัตถ์ เมื่อได้ยินคำบอก “วันทยหัตถ์” หรือ “ตรงหน้า, วันทยหัตถ์” ให้ยกมือขวาขึ้นอย่างรวดเร็วและแข็งแรง ในลักษณะงอแขนท่อนล่างเข้าหาลำตัว ฝ่ามือเหยียดตรงไปตามแนวแขนท่อนล่าง นิ้วทั้งห้าเรียงชิดติดกันและข้อมือไม่หัก โดยนำปลายนิ้วชี้ไปแตะตรงขอบล่างของหมวก ประมาณเหนือแนวหางตาขวา หรือที่ขอบของกระบังหมวกทางด้านขวา หรือที่ขอบปีกหมวกทางด้านขวา ประมาณเหนือแนวหางตาขวา โดยเปิดฝ่ามือทางด้านนิ้วก้อยประมาณ 30 องศา แขนขวาท่อนบนเหยียดออกไปด้านข้างเสมอแนวไหล่และเฉียงไปข้างหน้าเล็กน้อย ร่างกายส่วนอื่นไม่เสียลักษณะท่าตรง สายตามองตรงไปข้างหน้าในแนวระดับ

 

นอกจากนี้ยังมีทางขวาวันทยาหัตถ์ และทางซ้ายวันทยาหัตถ์ เมื่อแสดงความเคารพผู้บังคับบัญชาที่มาในอีกด้านด้วย