"บิ๊กอ๊อด" กับโลกฟุตบอลที่เปลี่ยนแปลงไป
อาเซียนมีประชากร 600 ล้านคน เอาส่วนหนึ่งมาดูฟุตบอล มันเป็นการขยายตลาด สร้างมูลค่าให้กับฟุตบอลไทยได้
พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ชี้แจงถึงแนวคิดการเพิ่มโควต้านักเตะอาเซียน ในการแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก ฤดูกาล 2019
แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประชุมร่วมระหว่างสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ, บริษัท ไทยลีก จำกัด และสโมสรสมาชิกจาก โตโยต้า ไทยลีก เมื่อวันจันทร์ที่ 9 กรกฏาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยทุกฝ่ายต่างร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการเพิ่มโควต้านักเตะอาเซียนมีโอกาสในการเพิ่มมูลค่าของลีก และเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับทุกสโมสรนำไปพัฒนาศักยภาพทีมได้ในอนาคต
พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กล่าวว่า "ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า โลกของฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ปัจจุบันไม่ใช่แค่การแข่งขันฟุตบอลอย่างเดียว แต่ยังมีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย บนพื้นฐานของคนทำทีมฟุตบอล โดยเฉพาะประเทศที่เริ่มพัฒนากีฬาฟุตบอลอย่างประเทศไทย ปัจจัยสำคัญก็คืองบประมาณในการทำทีม สโมสรต่างๆ ลงทุนหลายร้อยล้าน ซึ่งแต่ละสโมสรก็มีงบประมาณไม่เท่ากัน"
"ที่ผ่านมาทุกสโมสรจะต้องดิ้นรนหาผู้สนับสนุน หรือ สปอนเซอร์ ผมอยากเปรียบเทียบประเทศไทย เหมือนบ่อน้ำ สโมสรต่างๆ ก็เหมือนปลาที่อยู่ในบ่อน้ำ ทุกคนก็แย่งอาหารกันกิน วันหนึ่งถ้าอาหารหมด หรือหากเศรษฐกิจไม่ดี สปอนเซอร์ไม่มี เขาจะอยู่กันอย่างไร"
"วันนี้เราต้องคิดรูปแบบใหม่ โดยการระดมความเห็นจากทุกฝ่าย ไม่ได้คิดโดยลำพัง หรือนั่งนึกกันเอาเอง เราก็มองประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น พรีเมียร์ลีก อังกฤษ มูลค่าของลีกมีค่ามหาศาล เงินที่ตกไปยังสโมสรก็มหาศาล เราอยากเป็นแบบนั้น"
"ผมมีโอกาสไปชมเกมนัดเปิดสนามในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่มอสโก ช่วงนั้นก็มีการประชุมฟีฟ่า และเอเอฟซี การประชุมเอเอฟซีวันนั้นมีเรื่องสำคัญเกิดขึ้น คือ มีการประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลในความรับผิดชอบของเอเอฟซี ซึ่งเดิมมีบริษัทหนึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มาโดยตลอด แต่ในการประมูลครั้งนี้มีอีกบริษัทหนึ่งยื่นประมูลแข่ง โดยให้เงินตอบแทนแก่เอเอฟซี มากกว่าบริษัทเก่าถึง 7 เท่าตัว ลองคิดเล่นๆว่า ถ้าบริษัทเดิม ให้ค่าลิขสิทธิ์เอเอฟซี 1,000 ล้านบาท ก็แสดงว่าบริษัทใหม่ต้องทุ่ม 7,000 ล้านบาท”
"ที่ผ่านมาผมมีความคิดมาโดยตลอด และเห็นใจสโมสรฟุตบอลในบ้านเราว่า เขาทุกทีมทำสโมสรฟุตบอล ด้วยความรัก และความเหนื่อยยาก โดยเฉพาะสโมสรเล็กๆ ที่ต้องตะเกียกตะกายไปหาสปอนเซอร์ แล้วเมื่อไหร่จะมีโอกาสผลักดันหรือพัฒนาทีมตัวเองไปแข่งกับทีมใหญ่ๆ ของลีกได้"
"ในที่ประชุมสโมสรสมาชิกวันนั้น มีความคิดและความเห็นตรงกันว่า เมื่อโลกฟุตบอลเปลี่ยนไป มันเป็นธุรกิจมากขึ้น เมื่อเป็นธุรกิจเราต้องเพิ่มมูลค่า ประเทศไทยมีประชากร 70 กว่าล้านคน มันก็เหมือนปลาในบ่อมีแค่นี้ แต่ถ้าเรามองทุกประเทศในอาเซียนมีประชากรร่วมกว่า 600 ล้านคน เราไม่ต้องคาดหวังว่าคนในอาเซียนทั้งหมดจะดูฟุตบอลไทยลีก แต่เอาส่วนหนึ่งมาดูฟุตบอล มันเป็นการขยายตลาด สร้างมูลค่าให้กับฟุตบอลไทยได้ แต่เราก็ต้องวางแผนหรือเขียนระเบียบ กติกาในการนำนักกีฬาที่เป็นโควต้าอาเซียนเข้ามาให้ดี รวมทั้งแผนการตลาดด้วยเช่นกัน"
"คิดดูว่าถ้าเกิดประเทศเพื่อนบ้านดูฟุตบอลลีกไทย เหมือนอย่างที่เราดูฟุตบอล เจลีก เพราะมีนักเตะของไทยไปเล่นอยู่ที่นั่น ทั้ง ธีรศิลป์, ธีราทร, ชนาธิป เอาง่ายๆ ผมเองไม่เคยดูฟุตบอลเจลีก แต่เดี๋ยวนี้วันที่ต้นสังกัดของนักเตะทั้งสามคนมีเกมแข่งขัน บ่ายๆ ผมก็เปิดทีวีดูฟุตบอลเจลีก"
"นี่คือเหตุผลที่ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว ถ้าหากประเทศไทยอยากจะเป็นศูนย์กลางฟุตบอลของอาเซียน เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด อย่าไปปิดกั้น อย่าไปกลัวว่านักเตะไทยจะไม่มีพื้นที่เล่น นักเตะอาเซียนจะมาแย่งนักเตะไทยทำมาหากิน มองในมุมตรงข้าม นี่ทำให้เกิดการแข่งขัน นักเตะไทยมีแรงจูงใจในการพัฒนาฝีเท้า และยกระดับวงการฟุตบอลไทยโดยรวม" นายกสมาคมฯ กล่าวปิดท้าย