ข่าว

เดือด!ผู้นำสหรัฐ-อิหร่านเปิดศึกน้ำลายไม่มีใครยอมใคร  

เดือด!ผู้นำสหรัฐ-อิหร่านเปิดศึกน้ำลายไม่มีใครยอมใคร  

23 ก.ค. 2561

อิหร่านขู่มะกันหากไม่เลิกจ้องเป็นศัตรูอาจลามเป็น"มารดาแห่งสงครามทั้งมวล" "ทรัมป์"ทนไม่ได้ซัดกลับ ระวังจะเจอผลตามมาแบบไม่เคยเห็นในประวัติศาสตร์ 

 

                        ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ทวิตกลางดึกวันอาทิตย์ตามเวลาในสหรัฐ เป็นข้อความถึงประธานาธิบดีฮาซัน โรฮานีแห่งอิหร่านโดยใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เน้นๆทุกคำว่า “อย่ามาขู่สหรัฐอเมริกันอีกเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้น จะเผชิญผลตามมาชนิดที่ว่าแทบไม่เคยมีประเทศใดเผชิญมาก่อนในประวัติศาสตร์ เราไม่ใช่ประเทศที่จะนิ่งเฉยกับกับถ้อยคำรุนแรงและความตายอย่างบ้าคลั่ง ระวังไว้” 

 

 

                        ทวิตเดือดดาลของทรัมป์ มีขึ้นหลังจาก ประธานาธิบดีโรฮานี กล่าวในที่ประชุมนักการทูตอิหร่าน ซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ โดยตือนประธานาธิบดีทรัมป์ว่า “ทรัมป์ควรรู้ว่าสันติภาพกับอิหร่าน คือมารดาแห่งสันติภาพทั้งมวล และสงครามกับอิหร่าน ก็คือมหาสงคราม”  

                        ถ้อยคำที่ทรัมป์ใช้แรงขึ้นระดับจาก ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่เพิ่งไปกล่าวสุนทรพจน์ที่ห้องสมุดโรนัลด์ เรแกน รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวหาคณะผู้นำอิหร่าน ใช้รายได้จากน้ำมันเข้ากระเป๋าตัวเองและหนุนหลังก่อการร้ายบนความเดือดร้อนของประชาชนตาดำๆ การทุจริตและฐานะความร่ำรวยของบรรดาผู้นำอิหร่าน แสดงให้เห็นว่าอิหร่านปกครองโดยกลุ่มมาเฟีย มากกว่ารัฐบาล และสหรัฐจะหนุนหลังชาวอิหร่านที่ไม่มีความสุขกับรัฐบาลนี้ แต่ไม่ได้ขยายความ 

                        รัฐบาลสหรัฐ เปิดฉากรุกทั้งด้วยสุนทรพจน์ และช่องทางออนไลน์ มุ่งหมายปลุกระดมและกดดันอิหร่านให้เลิกล้มโครงการนิวเคลียร์และหนุนหลังกลุ่มติดอาวุธในภูมิภาค 
            
                        ประธานาธิบดีทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงปี 2558  ที่ 5 ชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติกับเยอรมัน และอิหร่าน หรือ P5+1 ตกลงให้อิหร่านจำกัดโครงการพัฒนานิวเคลียร์  แลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก แต่ทรัมป์มองว่ามีจุดอ่อนและไม่แข็งแรงพอที่จะช่วยยับยั้งความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ 


                        เดิม สหรัฐมีแผนปิดตลาดส่งออกน้ำมันอิหร่านแบบเบ็ดเสร็จ ด้วยการกดดันทุกประเทศเลิกซื้อน้ำมันดิบอิหร่าน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่มาตรการแซงชั่นอิหร่านครั้งใหม่ มีผล แต่ต่อมา ผ่อนปรนท่าทีโดยละเว้นให้กับพันธมิตรบางประเทศที่ต้องพึ่งน้ำมันอิหร่าน