สืบสานรักษาต่อยอดพัฒนาแหล่งน้ำสร้างสุขปวงประชา"ในหลวงร.10"
สืบสาน รักษา ต่อยอดพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างสุขปวงประชา"ในหลวงร.10"
“...พระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรามีมากหลายด้วยพระบารมีและพระเมตตา ได้พระราชทานแนวความคิด พระราชดำริและข้อปฏิบัติในการพัฒนาความเจริญและความสุขให้แก่ประเทศชาติ และประชาชนหลายด้านหลายสิ่ง หากจะได้ศึกษาและน้อมนำพระราชดำริต่างๆ นี้มาปฏิบัติให้ถูกต้อง เหมาะสมและเพียงพอต่อสถานการณ์ ก็เชื่อแน่ว่าจะแก้ปัญหา ทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ประเทศชาติและตนเอง ซึ่งจะนำพามาสู่ความสุขและความเจริญกับทุกๆ คน ตามพระราชปณิธานของล้นเกล้าล้นกระหม่อมตลอดไป...”
พระราชปรารภในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาแหล่งน้ำมาตั้งแต่ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จากการที่ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ชนบททุรกันดารห่างไกลทั่วทุกภูมิภาค ของประเทศ จนถึงปัจจุบัน(2561) ได้มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ดำเนินการโดยกรมชลประทาน หน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ รวมแล้ว 61 โครงการ ใน 12 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค โดยแห่งแรกในปี 2534 ได้พระราชทานความช่วยเหลือในการพัฒนาแหล่งน้ำที่ ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหลายประเภท ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ ฝาย แก้มลิง บ่อเก็บน้ำ ท่อระบายน้ำ ระบบส่งน้ำ และการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ ฝาย อาคารบังคับน้ำระบบและท่อส่งน้ำ ทำนบดิน การจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและอุปโภคบริโภคของประชาชน ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการ หลายโครงการเป็นการต่อยอดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนเพิ่มมากยิ่งขึ้น
61 โครงการ ที่กระจายในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ 6 โครงการ ใน จ.เชียงราย และเชียงใหม่ ภาคอีสาน 12 โครงการ ใน 6 จังหวัด คือ อุบลราชธานี มุกดาหาร บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุดรธานี และสกลนคร ภาคกลาง 1 โครงการที่ จ.ราชบุรี ภาคใต้ 37 โครงการ ใน 3 จังหวัดชายแดนคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยโครงการต่างๆ เหล่านี้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้แก่ประเทศได้มากกว่า 13 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้มากกว่า 19,384 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า 5,600 ครัวเรือน
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2534 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่บริเวณโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ต.ยางหัก และโครงการสวนป่าสิริกิติ์ บ้านห้วยม่วง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง มีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่
จากนั้นกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริโดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น 5 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยพุกรูด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำเขาหัวแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจัน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และอ่างเก็บน้ำหินสีตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งอ่างเก็บน้ำทั้ง 5แห่ง ได้ช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในตำบลยางหักมากกว่า 7,300 ไร่ ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมสร้างรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่โครงการเป็นอย่างมากและในปี 2562 นี้ กรมชลประทานกำลังจะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านโปร่งพรหมในพื้นที่ตำบลยางหักขึ้นอีก 1 แห่งเป็นแห่งที่ 6 ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกขึ้นอีก 950ไร่
นราธิวาสเป็นจังหวัดที่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มากถึง 19 โครงการ ใน 7 อำเภอ คืออ.จะแนะ 2 โครงการ อ.รือเสาะ 4 โครงการ อ.ศรีสาคร 2 โครงการ อ.ยี่งอ 3 โครงการ อ.สุไหงปาดี 3 โครงการ อ.ตากใบ 2 โครงการ อ.ระแงะ 3 โครงการ เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นในขณะที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ส่วนใหญ่เป็นโครงการชลประทานขนาดเล็ก เพื่อจัดหาน้ำให้แก่ชุมชน และศาสนสถานในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร บ้านกูแบสีรา ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ด้วยทรงทราบถึงความทุกข์ยากแร้นแค้นของราษฎรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ที่มีชีวิตเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอกต้องประสบปัญหาน้ำไหลหลากจากภูเขา ในฤดูแล้งก็ขาดแคลนน้ำ บ่อน้ำที่ขุดมีสนิมไม่สามารถใช้ดื่มกินได้ด้วยเหตุดังกล่าวจึงได้พระราชทานคำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยนอกจากการขุดคลองระบายน้ำท่วมขังแล้วยังได้จัดหาน้ำเพื่อการเกษตรด้วยการวางระบบส่งน้ำทำให้ประชาชนในพื้นที่บ้านปูลากาชิงและหมู่บ้านใกล้เคียงในต.กอลำ อ.ยะรัง ได้รับประโยชน์ด้วย
นอกจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำฯอื่นที่มีความสำคัญและอำนวยประโยชน์ให้กับพื้นที่การเกษตรและเกษตรกรจำนวนมาก เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จ.ยะลา มีโครงการก่อสร้างฝายต้นน้ำและระบบส่งน้ำ 19 แห่ง ซึ่งราษฎรมีส่วนร่วมในการดำเนินการและภาคเอกชนให้การสนับสนุน โครงการก่อสร้างฝายและระบบส่งน้ำใหม่ 4 โครงการ และโครงการปรับปรุงระบบส่งน้ำ 5 โครงการ เพื่อให้ราษฎรทั้ง 4 ตำบล ของอำเภอธารโตมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ รวมทั้งโครงการจัดหาน้ำให้ราษฎรบ้านปลักปลา ต.โฆษิต อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง โดยการก่อสร้างระบบส่งน้ำเพื่อรับน้ำจากคลองมูโนะ ความยาว 4,230 เมตร สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรทำนาได้ 2,000 ไร่อีกด้วย
จากนั้นวันที่ 1 ธันวาคม 2545 ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎร 4 หมู่บ้าน ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา ต.หนองแวง อ.ละหานทราย คือ บ้านศรีทายาท บ้านราษฎร์รักแดน บ้านแท่นทัพไทย และบ้านไผทรวมพล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของประเทศ หลังจากที่ได้ทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรแล้วได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยกรมชลประทานรับผิดชอบปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ที่มีอยู่เดิมให้เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน หลังจากการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำความเป็นอยู่ของราษฎรทั้ง 4 หมู่บ้านดีขึ้น มีผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนและมีเหลือจำหน่ายได้ด้วย
อย่างไรก็ตามพระราชกรณียกิจในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่มีมาตั้งแต่ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารนั้น แสดงถึงพระปรีชาสามารถและพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นที่จะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระบรมชนกนาถ เพื่อพัฒนาประเทศชาติสู่ความมั่งคั่ง ยั่งยืนและนำความสุขสู่พสกนิกรทั้งหลายโดยทั่วกัน