ข่าว

มวลน้ำถล่มชุมชน-รีสอร์ตท้ายเขื่อนแก่งกระจาน

มวลน้ำถล่มชุมชน-รีสอร์ตท้ายเขื่อนแก่งกระจาน

08 ส.ค. 2561

มวลน้ำเขื่อนทะลักท่วมหมู่บ้านแก่งกระจาน-รีสอร์ท 8 แห่ง คาดกระทบ 4 อำเภอ "บิ๊กตู่" ชมบูรณาการรับมือได้ดี ด้าน 2 เขื่อนเมืองกาญจน์น้ำสูงระบายเอ่อท่วมแควน้อย

     คืบหน้ากรณีเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้ระบายน้ำภายในเขื่อนลงพื้นที่ด้านล่าง เนื่องจากปริมาณน้ำเกิน 100% ของความจุเขื่อน จนล้นสปิลเวย์และเพื่อให้การกักเก็บน้ำอยู่ในเกณฑ์  สำหรับรองรับน้ำในช่วงตลอดฤดูฝน โดยมวลน้ำจะไหลผ่านเขื่อนเพชรบุรีและเข้าตัวเมืองเพชรบุรีภายในคืนวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งอาจส่งผลกระทบมีน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายเขื่อน 5 อำเภอ คือ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองเพชรบุรี และอ.บ้านแหลม ก่อนไหลลงทะเล โดยหน่วยงานได้วางแผนเบี่ยงน้ำช่วงไหลเข้าเขื่อนเพชรไปลงคลองย่อยเพื่อลดผลกระทบ พร้อมให้หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ขนย้ายของขึ้นที่สูงและเตรียมมาตรการรองรับมวลน้ำที่หลากลงสู่พื้นที่นั้น

     ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าพบกระแสน้ำไหลแรงหลังจากที่น้ำล้นสปิลเวย์เขื่อนแก่งกระจานเมื่อวานนี้ (6 ส.ค.) โดยเฉพาะบริเวณทางข้ามไปยังรีสอร์ทต้นน้ำเพชร และอีก 8 รีสอร์ท ที่อยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณหมู่ 1 ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน ได้มีน้ำล้นตลิ่งและไหลแรงจนไม่สามารถข้ามได้แล้ว และมวลน้ำเข้าท่วมถนนจนสัญจรไม่ได้และกัดเซาะถนนบางช่วงจนทรุดด้วย

มวลน้ำถล่มชุมชน-รีสอร์ตท้ายเขื่อนแก่งกระจาน

ชุมชนแรก-รีสอร์ทท้ายเขื่อนอ่วม

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 07.00 น. บ้านแก่งกระจาน หมู่ 1 ต.แก่งกระจาน เป็นชุมชนแรกท้ายเขื่อนที่มวลน้ำล้นสปิลเวย์จากเขื่อนแก่งกระจานไหลผ่านมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นไหลเชี่ยวและแรงมาก มวลน้ำไหลตัดผ่านถนนที่ใช้สัญจรเข้าไปยังรีสอร์ทจำนวน 8 แห่งเกือบขาดทั้งหมด ทำให้ทางที่ข้ามไปยังรีสอร์ทณัฐพลรี, ต้นน้ำเพชร, ธารน้ำเพชร, เพชรธารา, บ้านพักจันทร์แก้ว, หาดทอง และบ้านอิงน้ำ ยังเหลือให้เห็นเป็นคันดินอยู่บ้าง ส่วนถนนก่อนเข้าไปยังสุณีรีสอร์ท ซึ่งอยู่ติดกับรีสอร์ทณัฐพลรี ถูกกระแสน้ำกัดเซาะขาดแล้วไม่สามารถข้ามได้ นอกจากนี้มีบ้านเรือนและรีสอร์ทที่อยู่เลียบทางระบายน้ำสปิลเวย์บางส่วนได้รับผลกระทบโดยน้ำไหลเข้าท่วมบ้านต้องเก็บข้าวของยกขึ้นที่สูงเพื่อหนีน้ำ

     ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจาน 06.00 น. มีปริมาณน้ำ 725 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 102% ซึ่งเกินความจุ โดยปริมาณน้ำไหลเข้า 28.34 ล้านลบ.ม. น้ำไหลออก 13.33 ล้านลบ.ม. และมีปริมาณน้ำไหลล้นผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 33 ซม. และอัตราการระบาย 154.37 ลบ.ม.ต่อวินาที

     ทั้งนี้น้ำที่ล้นสปิลเวย์จะส่งผลกระทบให้มีน้ำท่วมพื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และอ.บ้านแหลม ก่อนไหลลงทะเลต่อไป 

     ด้านนายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำในบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อช่วงเช้าวันนี้มีระดับน้ำที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและเริ่มเอ่อล้นเข้ามาในเขตพื้นที่ด้านบนของอุทยานแล้ว ทั้งนี้ได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลังปริมาณระดับน้ำสูงขึ้นและเริ่มเอ่อล้นทางเดินและจุดกางเต็นท์

     มีรายงานด้วยว่าสำหรับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบริเวณจุดชมวิวป้ายอุทยานแห่งชาติพบว่ามีปริมาณน้ำขึ้นอย่างรวดเร็วคาดว่าวันนี้อาจจะต้องปิดห้ามนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมโซนนี้

      มีรายงานจากกรมชลประทานชี้แจงกรณีน้ำในคลองชลประทานลดลงเนื่องจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ 3 ปรับลดน้ำลง เพราะจะมีการขุดขยายคลองเพื่อผันน้ำไปลงคลองระบายน้ำ D9 เพื่อเปิดเส้นทางน้ำให้คลองส่งน้ำสายใหญ่ 3 ให้ทันกรณีมวลน้ำมาถึงเขื่อนเพชรบุรีในอัตราที่คาดการณ์ไว้ โดยจะสามารถระบายน้ำเพิ่มจากเดิมจากอัตรา 20 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เป็นประมาณ 55 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนที่คลองสุเอด แบ่งน้ำได้ประมาณ 4 ลบ.ม.ต่อวินาที ได้ประสานให้เร่งดำเนินการซ่อมแซมคลองดาดและหากจำเป็นจะขุดเปิดเส้นทางน้ำ

     ทั้งนี้หลังจากปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเพชรบุรีเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้แล้ว จะเริ่มใช้คลองส่งน้ำทั้ง 4 สายตัดแบ่งปริมาณน้ำให้เข้าพื้นที่ เพิ่มจากเดิมที่ 50 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็นประมาณ 90 ลบ.ม.ต่อวินาทีต่อไป

     เวลา 12.00 น. ระดับน้ำบริเวณหลังที่ว่าการอำเภอท่ายางได้เพิ่มขึ้น 20 ซม.ไม่มีฝนตก ส่วนที่ อ.แก่งกระจาน สถานการณ์น้ำที่ป่าแก่งกระจานบ้านโป่งลึก-บางกลอย ปริมาณน้ำยังมีมากแต่ฝนไม่ตกแล้ว ขณะที่ อ.บ้านแหลม ทางกองพันทหารช่างได้นำเครื่องจักรลงขุดลอกขยายคูคลองเพื่อรับมวลน้ำ

มวลน้ำถล่มชุมชน-รีสอร์ตท้ายเขื่อนแก่งกระจาน

รองผู้ว่าฯ เพชรมั่นใจรับมือได้

     วันเดียวกัน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี เพื่อประชุมกับ ผบก.ภ.จว.เพชรบุรีและหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมหลังเขื่อนแก่งกระจานระบายน้ำล้นสปิลเวย์พร้อมส่งมอบกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและอุปกรณ์ต่างๆ ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีเพื่อสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพร้อมสิ่งของและเวชภัณฑ์ยาไปแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ด้วย

      พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า ได้รับคำสั่งจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. โดยสั่งให้บูรณาการตำรวจทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจภธร ภาค 7, กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี, ตำรวจน้ำ, ตำรวจท่องเที่ยว, ตำรวจทางหลวง, ตำรวจตระเวนชายแดน, ตำรวจสื่อสาร, ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, ตำรวจรถไฟ, ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ เป็นต้น พร้อมนำเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือประชาชน อาทิ เฮลิคอปเตอร์ เรือท้องแบน เรือยาง เวชภัณฑ์ยา รถบิ๊กฟู้ด จำนวนกว่า 60 คัน สำหรับลำเลียงผู้ป่วย บรรทุกสิ่งของในกรณีเกิดเหตุการณ์วิกฤติ โดยนำกำลังทั้งหมดประมาณเกือบ 2,000 กว่านายเตรียมพร้อมสนับสนุน ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดจะใช้เป็นส่วนไหนบ้างก็เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรง

     ด้านนายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า จังหวัดมีการทำงานและซักซ้อมแผนการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับตำรวจมาโดยตลอด ซึ่งทำให้เกิดผลดีในหลายด้าน ทั้งการจราจร การช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง การส่งเสบียงเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่ได้ผลดีที่สุดคือการติดตั้งระบบสื่อสารในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ถึงประชาชน ทั้งนี้ขอความร่วมมือจากประชาชนในการฟังข่าวสารจากทางราชการเป็นหลักเพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก ส่วนสถานการณ์ตอนนี้ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเชื่อว่าสามารถรับมือได้

“บิ๊กตู่”ชมเตรียมการรับมือน้ำได้ดี

     เวลา 13.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่าวภายหลังการประชุมครม.ว่า การประชุมคสช.วันนี้ได้หารือถึงการบริหารจัดการน้ำ โดยจะหาแนวทางที่เหมาะสมในการรับมือ ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานให้ทราบว่ามีการเตรียมการเป็นอย่างดีจึงขอชมเชยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีที่เตรียมการรับมือ โดยวันที่ 8 สิงหาคม จะลงพื้นที่เพื่อไปดูระดับน้ำเนื่องจากปัจจุบันมีระดับน้ำที่สูงจึงต้องไปดูแผนที่เตรียมการไว้ว่าครบถ้วนหรือไม่ พร้อมตรวจดูการทำงานของหน่วยป้องกันภัยของพลเรือนที่ร่วมบูรณาการทำงานกับฝ่ายทหารเตรียมการรองรับกรณีน้ำเข้ามามากกว่าปริมาณที่สามารถรองรับ 

      อย่างไรก็ตามวันนี้คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำยังคงทรงตัวและลดลงหลังจากที่ได้ระบายน้ำออกแล้ว ทั้งนี้หลายคนเป็นห่วงการระบายน้ำบริเวณเขื่อนแก่งกระจานที่น้ำล้นสปิลเวย์โดยการระบายน้ำออกจะต้องดูว่าเขื่อนมีความแข็งแรงที่จะพอรองรับได้หรือไม่พร้อมดูน้ำที่ระบายออกมาว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่เพื่อที่ภาคประชาชนจะได้เตรียมการรองรับ

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า จะไปตรวจงานในเรื่องเหล่านี้ซึ่งหลายพื้นที่อาจจะต้องมีแผนอพยพประชาชนจึงขอให้ทุกคนได้ติดตามสถานการณ์ฝนและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพมือถือหรือกูเกิลว่าเดือนสิงหาคมปริมาณน้ำแต่ละจังหวัดเป็นอย่างไร โดยบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำ เขตการระบายน้ำออกจะต้องเตรียมการรับมือโดยเก็บข้าวของไว้ในที่สูง พร้อมเตรียมอพยพไปในพื้นที่ปลอดภัยหากมีปริมาณน้ำมากขึ้นเนื่องจากมีลมพายุเข้ามาจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตามรัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา โดยได้ตัดตอนน้ำทั้งก่อนเข้าเขื่อนและท้ายเขื่อน พร้อมทำทางระบายน้ำเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อชาวบ้านให้ได้มากที่สุด

เบี่ยงน้ำช่วยลดผลกระทบได้มาก

     ทั้งนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยสอดคล้องกับที่ได้สั่งการไปแล้วว่าให้มีการขุดขยายเส้นทางน้ำตามธรรมชาติเพื่อเก็บกักและระบายน้ำไว้ในพื้นที่แก้มลิง พร้อมชดเชยประชาชนที่ได้รับผลกระทบและเตรียมสนับสนุนสร้างอาชีพให้ประชาชน เช่น ทำประมงพื้นบ้านเหมือนกันที่ได้ทำไปแล้วที่ จ.พิษณุโลก ต.บางระกำ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยประชาชนมีความพอใจ

     “วันนี้มีปลาเยอะแยะและวันนี้ก็ขอห้องเย็นมาอีกเพื่อจะเก็บปลาจำนวนมากซึ่งจะเป็นอาชีพเสริมขึ้นมาในช่วงตอนที่ทำนาไม่ได้ รัฐบาลได้คิดในทุกมิติเพราะเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะเสียหายน้อยที่สุดและรัฐบาลต้องดูแล ส่วนที่ปริมาณน้ำในแอ่งน้ำยังมากอยู่ก็จะต้องระบายพร่องน้ำและคาดหวังว่าสถานการณ์ภัยธรรมชาติจะดีขึ้น ที่สำคัญคือการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนว่าจะต้องเตรียมการอย่างไร โดยกำนันผู้ใหญ่บ้านจะต้องช่วยกันเตรียมความพร้อมแก่ประชาชน ซึ่งวันที่ 8 สิงหาคม ผมจะบังคับบัญชาในเรื่องนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

มวลน้ำถล่มชุมชน-รีสอร์ตท้ายเขื่อนแก่งกระจาน

     นายกฯ กล่าวด้วยว่า วันนี้ได้ให้แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้ในอนาคตเพราะหลายพื้นที่ทำโครงการใหม่ๆ แล้วสามารถระบายน้ำได้เช่นเดียวกับที่เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในประตูระบายน้ำคลอง D9 โดยตอนนี้ทำได้แล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ ได้สั่งการให้เปิดการระบายน้ำออกด้านข้างด้วยและจะสามารถลดปริมาณน้ำได้กว่า 50 ล้านลบ.ม. จากนั้นจะเหลือ 100 กว่าล้านลบ.ม. เพราะถ้าปล่อยออกช่องทางเดิมทั้งหมดน้ำก็จะท่วมทั้งหมด รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำอย่างมาก โดยให้ความสำคัญตั้งแต่แรกก่อนที่จะมีสถานการณ์น้ำเกิดขึ้น

ชี้4อำเภอได้รับผลกระทบบ้าง

     ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่ามั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการและรับมือได้แม้ว่าจะมีน้ำล้นสปิลเวย์หรือมีน้ำทะเลหนุนในช่วง 2 วันนี้ แต่สถานการณ์ไม่รุนแรง โดยจะมี 4 อำเภอที่อาจได้รับผลกระทบบ้าง คือ อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองเพชรบุรี และอ.บ้านแหลม อย่างไรก็ตามได้กำชับให้ฝ่ายปกครองเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมสำหรับการแจ้งเตือนซึ่งตอนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นได้เตรียมการป้องกันทั้งกระสอบทรายและปั๊มน้ำโดยคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมาก มีเพียงบริเวณที่อยู่ใกล้น้ำเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่การประเมิณสถานการณ์หรือการเตรียมอพยพ ทุกหน่วยงานร่วมกันประเมินแล้ว

     นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนดังกล่าว เราใช้ 3 ช่องทางคือ ประตูปิดเปิดธรรมดา ช่องทางน้ำล้น (สปิลเวย์) และใช้เครื่องสูบน้ำออก โดยน้ำทั้งหมดจะลงมาสู่แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งมวลน้ำใหญ่กำลังเคลื่อนตัวลงมา โดยกระทรวงเกษตรฯ และสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แยกมวลน้ำดังกล่าวให้ออกไปทางซ้ายและขวาของแม่น้ำเพชรบุรีโดยส่วนหนึ่งใช้เครื่องสูบน้ำเป็นทางลัดสู่อ่าวไทย อีกส่วนกำลังดูพื้นที่ว่างที่ยังไม่มีการทำเกษตรให้น้ำลงพื้นที่นั้น ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับที่ทำในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามการใช้เครื่องสูบน้ำและการผันน้ำออกทางซ้ายขวาทำให้น้ำที่จะลงไปสู่ตัวเมืองเพชรบุรีลงไปช้าและมีปริมาณน้อยลง จึงมีเวลาให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมความพร้อม

มวลน้ำถล่มชุมชน-รีสอร์ตท้ายเขื่อนแก่งกระจาน

ปัจจัยเสี่ยงฝนตกหนักลงมาเติม

     นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ส่วนราชการทั้งระดับพื้นที่และส่วนกลางจะพยายามเร่งระบายน้ำตามวิธีดังกล่าวให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในเมืองเพชรบุรีให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ได้รับรายงานล่าสุดเมื่อเวลา 07.00 น. ว่าระดับน้ำยังอยู่ในระดับล่างไม่ขึ้นมาริมตลิ่ง ซึ่งแผนการบริหารจัดการน้ำก็ยังเป็นไปตามที่กล่าวไว้แต่ปัจจัยที่เรายังไม่กล่าวถึงคือฝนที่จะตกลงมาใหม่หรือไม่ ซึ่งตลอด 24 ชม.ที่ผ่านมายังไม่มีฝนในปริมาณที่มาก 

     ผู้สื่อข่าวถามว่ามีแผนรองรับในกรณีที่มีฝนตกหนักหรือไม่ นายกฤษฎา กล่าวว่า ต้องดูปริมาณน้ำก่อน เราคาดการณ์ว่าถ้ามีปริมาณน้ำไหลอยู่ที่ประมาณ 70-80 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ถ้าขึ้นมา 200-300 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำในเมืองเพชรบุรีน้ำท่วม แต่จะไม่ท่วมกระจายเหมือนเมื่อก่อนเพราะเรามีพนังกั้นและเครื่องสูบน้ำคอยรองรับไว้จากกรมชลประทาน 35 เครื่อง ซึ่งได้เริ่มสูบน้ำออกไปแล้ว

      เมื่อถามว่านายกฯ ยังมีกำหนดการเดินทางไปตรวจการระบายน้ำที่เพชรบุรี นายกฤษฎา ยืนยันว่า นายกฯ ยังมีกำหนดการเดิมเพื่อไปเยี่ยมประชาชนแม้ว่าน้ำจะยังไม่ท่วม ซึ่งจะไปดูการบริหารจัดการน้ำ ต่อข้อถามกรณีมีกระแสข่าวว่าเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เสี่ยงเขื่อนแตก นายกฤษฎา ยืนยันว่าเขื่อนดังกล่าวใช้หลักการระบายน้ำแบบเดียวกัน ส่วนพื้นที่อื่นตามลุ่มแม่น้ำโขงที่ตอนนี้ก็ประสบปัญหาเช่นกันนั้นขณะนี้ยังบริหารจัดการได้ แต่ด้วยน้ำในแม่น้ำโขงมีปริมาณที่มากทำให้ระบายได้ช้า ทั้งนี้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังคงรับน้ำได้อยู่ น้ำจะไม่ท่วมแบบปี 2554 แน่นอน

     ส่วนนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ถึงความวิตกกังวลของสถานประกอบการกรณีน้ำเริ่มจ่อเข้าตัวเมืองเพชรบุรีซึ่งมีสถานท่องเที่ยวและรีสอร์ทจำนวนหลายแห่งว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจเรียบร้อยแล้วแต่เบื้องต้นเท่าที่ได้รับรายงานยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก ทั้งนี้ผู้ประกอบการและเจ้าของรีสอร์ทต่างๆ ก็มีความตื่นตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งจะต้องแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวให้มีความระมัดระวังรวมทั้งเส้นทางการจราจรที่จะมุ่งสู่ภาคใต้ก็ต้องแจ้งเตือนเพื่อให้ทุกคนได้รับทราบ

     ขณะที่พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานในที่ประชุมครม.ถึงการลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำที่ จ.เพชรบุรี เมื่อวาน (6 ส.ค.) ว่ามีการพร่องน้ำอย่างไรบ้าง และเหตุใดถึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าต้องมีการพร่องน้ำตอนนี้ ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย ชี้แจงว่าขณะนี้มีมาตรการในการรักษาระดับน้ำให้อยู่ 60% และในส่วนที่มีความห่วงใยว่าเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีระดับเต็มความจุของเขื่อน ในขณะที่เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนปราณบุรี ก็มีระดับน้ำเกือบจะเต็มความจุเขื่อนนั้น ขอให้มั่นใจเขื่อนดังกล่าวมีศักยภาพรับน้ำได้ เนื่องจากมีทางน้ำล้น (สปิลเวย์) ที่จะมีความยืดหยุ่นซึ่งเป็นเทคนิควิศวกรรมน้ำ ยืนยันว่ายังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ไม่มีโอกาสที่น้ำจะล้นสันเขื่อน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งผู้ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อไปดูรายละเอียดเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนในแต่ละเขื่อน ซึ่งเป็นเทคนิคที่สูงกว่าสปิลเวย์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าแม้จะเกิดแผ่นดินไหวเขื่อนก็จะรับได้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าไม่มีการเปรียบเทียบตัวเลขน้ำเทียบกับน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แต่อย่างใด

มวลน้ำถล่มชุมชน-รีสอร์ตท้ายเขื่อนแก่งกระจาน

2 เขื่อนเมืองกาญจน์รับน้ำได้อีก

     วันเดียวกัน นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ (อขว.) อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า เวลา 08.00 น.วันนี้ปริมาณน้ำในเขื่อน 7,505 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 85% ของความจุ โดย กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณปรับแผนระบายน้ำช่วง 6-12 สิงหาคม เฉลี่ย 43 ล้านลบ.ม.ต่อวัน เนื่องจากมีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนมาก ส่วนความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนวชิราลงกรณมีการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานสากลและตรวจสอบเขื่อนเป็นประจำทุกวันจึงขอให้ประชาชนมั่นใจในความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน ทั้งนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรมรีสอร์ทและแพพักที่อยู่ท้ายน้ำในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ แต่ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่มีระดับตลิ่งไม่สูงก็เริ่มทยอยขนย้ายสิ่งของขึ้นไปไว้ยังที่สูงแล้ว และบางแห่งน้ำก็เอ่อล้นเข้าท่วมบริเวณสนามหญ้าบ้างแล้วแต่ไม่มากนัก

     ด้านนายประเสริฐ อินทับ ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ (อขศ.) เปิดเผยว่า เวลา 08.00 น. วันนี้ปริมาณน้ำอยู่ที่ 15,434.41 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 86.98% ของความจุ โดยวันนี้มีแผนการระบายน้ำ 20 ล้านลบ.ม. ซึ่งเมื่อวาน (6 ส.ค.) มีน้ำเข้า 47.63 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีก 2,322.11 ล้านลบ.ม. จึงทำให้มั่นใจได้ว่าเขื่อนศรีนครินทร์ยังคงรองรับปริมาณน้ำได้อีกโดยไม่เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยของตัวเขื่อนรวมไปถึงความปลอดภัยของประชาชนด้านท้ายน้ำ

เอ่อแควน้อยเก็บของขึ้นที่สูง

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเขื่อนวชิราลงกรณได้ระบายน้ำออก 43 ล้านลบ.ม. ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำแควน้อยเริ่มสูงขึ้นจากเดิม 50 ซม. โดยชุมชนหมู่บ้านปากแซง หมู่บ้านเขาโทน หมู่ 3 ต.ท่าสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี มวลน้ำได้เอ่อสูงเข้าถึงบ้านเรือนรวมทั้งที่พักรีสอร์ทต่างๆกว่า 20 แห่ง ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย โดยชาวบ้านต่างเก็บข้าวของขนย้ายหนีน้ำที่มีระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้น น.ส.พรสุดา มุสิกโปฏก ปลัดเทศบาลตำบลน้ำตกไทรโยคน้อย พร้อมคณะ ได้เข้าตรวจสอบระดับน้ำพบว่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงเตรียมให้เจ้าหน้าที่ช่วยชาวบ้านขนย้ายสิ่งของไว้ที่สูง ส่วนเครื่องสูบน้ำที่ตั้งอยู่ในแพสำหรับสูบน้ำจากแม่น้ำแควน้อยขึ้นไปยังที่กักเก็บน้ำบริเวณตลาดท่าเสาและจ่ายน้ำประปาไปทั้งพื้นที่เขตเทศบาลน้ำตกไทรโยคน้อยไม่สามารถใช้การได้เนื่องจากระดับน้ำที่สูงขึ้นทำให้ท่อที่ส่งน้ำยาวไม่พอเจ้าหน้าที่ต้องนำรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนรวมทั้งผู้ประกอบการรีสอร์ทและที่พักต่างๆ เป็นการแก้ไขความเดือดร้อนในเบื้องต้น

     ด้านนายเดโช ประกาศแก่นทราย นายอำเภอไทรโยค เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำที่เอ่อล้นจากการที่เขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ ปล่อยลงสู่แม่น้ำแควน้อย ทำให้ปริมาณน้ำเอ่อล้นท่วมบริเวณตลิ่งอยู่บ้างเล็กน้อยและมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือนคือที่ท่าน้ำปากแซง หมู่ 3 ต.ท่าเสา โดยน้ำได้เอ่อล้นเข้าท่วมในช่วงเวลา 4 ทุ่มของคืนที่ผ่านมา ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ช่วยขนย้ายสิ่งของ

      ส่วนกรณีผู้ประกอบการโรงแรมและรีสอร์ทที่อยู่ตามธรรมชาติหรือตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อยทางอำเภอยังไม่ได้รับรายงานเข้ามาว่ามีที่ใดได้รับความเสียหายจากการถูกน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมห้องพัก จะมีก็เพียงแค่น้ำเอ่อล้นท่วมริมตลิ่งของโรงแรมและรีสอร์ทซึ่งมีอยู่หลายแห่งเช่นกัน แต่เป็นเพราะพื้นที่มีตลิ่งค่อนข้างต่ำ

มวลน้ำถล่มชุมชน-รีสอร์ตท้ายเขื่อนแก่งกระจาน

      “ภาพรวมยังไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวหรือแม้กระทั่งโรงแรมแรม หรือรีสอร์ท รวมทั้งแพล่อง ดังนั้นนักท่องเที่ยวสามารถมาท่องเที่ยวตามที่ได้จองเอาไว้ได้เพราะน้ำที่เอ่อและมีปริมาณเพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่น้ำป่าไหลหลากแต่เป็นน้ำที่ถูกระบายออกมาจากเขื่อนด้านบนและเมื่อปล่อยลงมาเขื่อนที่อยู่ด้านล่างก็ระบายลงสู่แม่น้ำแม่กลองต่อไป จึงขอให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาสบายใจได้” นายเดโชกล่าว

ยันเขื่อน77แห่งอีสานแข็งแรง

      ขณะที่นายวิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในเขตพื้นที่ดูแล 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ มีเขื่อนขนาดใหญ่จำนวน 6 แห่ง ใน จ.นครราชสีมา จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำปลายมาศ และจ.บุรีรัมย์ 1 แห่ง คือเขื่อนลำนางรอง ซึ่งภาพรวมปริมาณน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 6 แห่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บรวมประมาณ 600 ล้านลบ.ม. หรือเฉลี่ย 53% ของความจุกักเก็บทั้งหมด ดังนั้นถือว่ายังไม่มากนักสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก โดยบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอในฤดูแล้งหน้า 

      ส่วนเขื่อนขนาดกลางในพื้นที่มีทั้งหมด 71 แห่ง ซึ่งปีนี้กรมชลประทานมีนโยบายว่าทั้งเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางต้องมีปริมาณน้ำไม่เกิน 80% เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดน้ำล้นเขื่อนได้ ซึ่งที่ผ่านมาเขื่อนขนาดใหญ่ไม่มีปริมาณน้ำเกินมีเพียงเขื่อนขนาดกลางที่เกินอยู่แห่งเดียวคือเขื่อนลำเชียงไกรตอนบน ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วมีน้ำกักเก็บอยู่ที่ 101% ดังนั้นจึงลงพื้นที่สำรวจทางน้ำพร้อมเจรจาขอทำลายคันดินของชาวบ้านที่ขวางทางน้ำผ่านก่อนเปิดประตูระบายน้ำ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที จนเหลือ 88% โดยไม่มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ

       ส่วนเรื่องที่ห่วงว่าสันเขื่อนมีความแข็งแรงหรือไม่ขอให้สบายใจได้เพราะเจ้าหน้าที่มีการสำรวจสันเขื่อนและรายงานผลให้ทราบตลอดช่วงหน้าฝนหากตรวจพบแตกร้าวหรือน้ำซึมจะแจ้งฝ่ายซ่อมบำรุงรักษาซ่อมแซมในทันที แต่จนปัจจุบันได้รับรายงานว่าสันเขื่อนทุกแห่งมีความแข็งแรงมั่นคงดีจึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าไม่มีทางเกิดเหตุการณ์เขื่อนแตกแน่นอน

เตือน31จว.ระวังพายุฝนหนัก

      กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ “คลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้และฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย” ฉบับที่ 13 ลงวันที่ 7 สิงหาคม ว่า ช่วงวันที่ 7-9 สิงหาคมนี้ ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มไว้ด้วย โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามภาคต่างๆ มีดังนี้ ภาคเหนือ เชียงราย พะเยา น่าน ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง ราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี และนครสวรรค์ ภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด ภาคใต้ ระนอง และพังงา

     สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตกและภาคตะวันออกให้ระวังคลื่นที่พัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

      ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย มีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง

ฉบับ นสพ.คมชัดลึก