ข่าว

"ทองหลาง"...พืชพี่เลี้ยง 

"ทองหลาง"...พืชพี่เลี้ยง 

01 ก.ย. 2561

คอลัมน์ - ไม้ใบทำเงิน โดย - อุดม ฐิตวัฒนะสกุล [email protected] 

 

               ทองหลาง(Indian Coral Tree) พืชตระกูลถั่วลำต้นใหญ่ ไม้อีกชนิดที่ต้องกล่าวถึงเพราะเป็นไม้ที่ให้คุณประโยชน์นานับประการ สำคัญในระดับต้นๆของการทำการเกษตรในเขตราบลุ่มภาคกลางมาช้านาน นับได้ดั่งวิถีชีวิตของคนพื้นถิ่นที่ต้องใช้สอยพึ่งพาทุกส่วนของพืชชายน้ำชนิดนี้ ที่ขึ้นง่ายโตไวเข้าไปสู่วิถีเกษตรท้องถิ่นที่ถูกเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนมาทำการเกษตรแบบพืชข้ามแดนโดยมีการค้าทางเรือในอดีตเป็นจุดเชื่อมโยง ที่สามารถปลูกได้และมีผลดีเพราะยังมีระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับตัวต่อพืชสวนเหล่านั้น จนได้ชื่อแห่งเมืองเกษตรใหม่ที่ได้รวบรวมพันธุ์ไม้นานาชนิดตลอดเส้นทางการเดินเรือมาปลูกยังที่ลุ่มแห่งนี้

\"ทองหลาง\"...พืชพี่เลี้ยง 

                เมื่อครั้งผมยังเด็ก ก็ได้ยินการเล่าเรื่องจากผู้ใหญ่ที่มักสนทนากับเรือขายพันธุ์ไม้ที่มักจะแวะเวียนมาที่บ้านชายคลองย่านฝั่งธนอยู่เป็นเนืองนิจแม้จะยังไม่ค่อยรู้อะไรมากแต่ผู้ใหญ่ที่บ้านก็นำวิธีการมาใช้จริงจนความรู้ซึมทราบไปกับทุกการกระทำทางงานเกษตรที่นับเป็นภูมิปัญญาสืบสานเรื่อยมาคล้ายทฤษฎี โดยการที่เราจะทำให้ได้ดีต้องมีปัจจัยการผลิตพร้อม สิ่งที่เหมือนขาดไม่ได้คือต้องมีพืชพี่เลี้ยง ที่มักปลูกกันเป็นปกติคือต้นทองหลางที่ปลูกได้ง่าย โดยใช้กิ่งปักแทนการปลูกด้วยเมล็ดตรงจุดที่ต้องการก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยเรามักปลูกริมตลิ่งชายคลองเพื่อลดการพังทลายจากแรงคลื่นและกระแสน้ำกัดเซาะ แม้ช่วงฤดูน้ำหลากจนถึงช่วงน้ำแล้งต้นทองหลางก็ยังโตตระหง่านได้ดีเช่นเดิม 

 

\"ทองหลาง\"...พืชพี่เลี้ยง 

                   นับเป็นพืชสะเทินน้ำสะเทินบกที่ดีมากอีกชนิดหนึ่ง นอกจากนั้นในร่องสวนแปลงผลิต เรายังนำกิ่งทองหลางมาปักริมขอบร่องด้านทิศตะวันตกอย่างไม่ใกล้กันจนเกินไปเพื่อช่วยพรางแสงช่วงเวลาบ่ายที่มีความร้อนสะสมมากกว่าเวลาเช้า หากต้นโตใหญ่จนเกินไปก็ต้องตัดแต่งให้โปร่งพอดี กิ่งก้านใบสดที่ถูกแต่งจะถูกแยกเพื่อประโยชน์นานา ทั้งเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์และบางส่วนจะวางให้ย่อยสลายบนพื้นดินรอบโคนไม้เติมอินทรีย์สารอย่างตั้งใจแม้ใบที่หลุดร่วงเองตามธรรมชาติก็สารถมารถเติมธาตุในพื้นที่ได้ตลอดเวลา 

                  จะมีมากหน่อยเมื่อพ้นฤดูฝนไปสักระยะ ลำต้นที่ถูกตัดแต่งในระดับไม่สูงก็จะเกิดยอดใหม่ในปริมาณที่มากเราก็สามารถเก็บใบที่แก่พอดีสำหรับขายเพื่อใช้ห่อเมี่ยงคำอาหารว่างแบบไทยๆหรือใช้กินกับส้มตำก็เคยได้รับความนิยมเช่นกัน ลำต้นทองหลางยังใช้แทนเสาเพื่อปลูกพลูให้ยึดเกาะอย่างแทบจะไม่ต้องดูแลและเก็บใบสดได้อีกทาง

                 ถึงวันนี้ทองหลางเริ่มหายากเพราะจากสภาพสวนที่ทำการเกษตรได้ดีถูกเปลี่ยนวิถีเป็นสภาพเมืองที่ขยายไล่ที่แปลงเกษตรให้ไกลออกไปกลายเป็นสังคมเมืองที่มีมูลค่าที่ดินเป็นตัวเร่งอีกทาง ไม้ผลและพืชสวนอื่น ๆ ที่เคยเลื่องชื่อถูกกระจายไปในภูมิภาคหลากหลายที่แบบสภาพการปลูกแบบไร่ ไม่มีร่องน้ำขุดใช้แบบพื้นที่เขตดินเหนียว แต่นั่นก็อาจไม่ใช่ปัญหาของการผลิตโดยตรงเพราะพืชยังให้ผลผลิตจากวิธีปลูกเลี้ยงดูแลที่ถูกพัฒนาไปแล้ว โดยทิ้งร่องรอยของความต่างบางประเด็นไปบ้างก็สุดแล้วแต่ผู้บริโภคจะเลือกเอง ซึ่งพื้นที่ปลูกเดิมที่พร้อมจะแปรเปลี่ยนไปเป็นเมืองได้ทุกเมื่ออย่างหลายพิ้นที่ที่มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว อย่างบางลำพู บางบำหรุ ยานนาวาและอีกหลายต่อหลายที่ ก็เคยเป็นร่องสวนเกษตรมาก่อน 

 

\"ทองหลาง\"...พืชพี่เลี้ยง 

                   จึงต้องดูพื้นที่อนุรักษ์อย่างบางเขตรอบเมืองหลวงที่มีผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงอย่างส้ม มะม่วง ทุเรียนและอีกหลายชนิดที่มีคุณค่าเหมือนเป็นแหล่งต้นกำเนิดและมีมูลค่าอย่างเป็นที่น่าภาคภูมิใจต้องค่อยๆเลือนลางจากภาพความทรงจำไปทีละน้อย ที่เราเห็นอาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมและพืชพี่เลี้ยงที่ทำให้เกิดสิ่งดีๆขึ้นมากมาย 

\"ทองหลาง\"...พืชพี่เลี้ยง 

                  แม้จะมีเกษตรกรหัวอนุรักษ์ที่ใช้ทองหลางไปปลูกร่วมกับพืชสวนอื่นในที่ใหม่ เพื่อให้เกิดจุลินทรีย์เกื้อประโยชน์ดังกล่าว ณ วันนี้ก็ยังมีไม่มาก ที่จะเข้าใจถึงความสามารถของรากทองหลางที่จะแผ่ขยายดักจับเชื้อไรโซเบี้ยม ที่มีอยู่ในธรรมชาติและตรึงไนโตรเจนส่งผ่านให้กับพืชร่วมแปลง รวมถึงธาตุอาหารต่างๆที่เกิดขึ้นจากระบบนิเวศสมบูรณ์ในการจัดการนี้ ที่ยากจะหาพืชอื่นมาทำหน้าที่นี้ได้ดีเท่า โดยเป็นทั้งพืชพี่เลี้ยงที่ทุกส่วนได้ประโยชน์ใช้สอย ส่วนหนึ่งเป็นพืชสมุนไพร ส่วนใบที่มีมากทั้งปีนำมาสู่กระบวนการย่อยสลายให้เป็นส่วนผสมของดินพร้อมปลูกพืชกระถางที่มีการทำเป็นอาชีพได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงการถูกจัดให้เป็นหนึ่งในไม้มงคลทั้ง 9 ชนิด ที่ไม้ทองหลางเป็นไม้ศูนย์กลาง 

                  หมายถึงการมีเงินทองที่มีการทำจำหน่ายร่วมกับไม้อื่นอีกแปดอย่างที่ล้วนแล้วเป็นสินค้าขนาดเล็กแต่ราคาสูงที่ขาดไม่ได้ในพิธีมงคล และทุกอย่างทางการผลิตคงจะดีไม่น้อยที่เราสามารถลดต้นทุนการผลิต ทั้งยังได้มูลค่าทางการตลาดในทิศทางและกระแสที่สังคมต้องการ ดังที่มีการกล่าวให้เราได้คิดว่า‘สูงสุดคืนสู่สามัญ’ งานเกษตรที่พัฒนาตามหลายๆประเทศมานั้น สิ่งที่ต้องการที่แท้อีกอย่างคือความปลอดภัยในทิศทางเกษตรอินทรีย์ที่เราเคยมีมานั่นเอง!