ข่าว

 ส่องวิถีชาว"ลัวะ"บ้านห้วยขาบ หลังโคลนถล่มเมืองน่าน 

 ส่องวิถีชาว"ลัวะ"บ้านห้วยขาบ หลังโคลนถล่มเมืองน่าน 

05 ก.ย. 2561

 ส่องวิถีชาว"ลัวะ"บ้านห้วยขาบ สู่บ้านหลังใหม่หลังโคลนถล่มเมืองน่าน 

 

             จากเหตุการณ์ดินจากภูเขาถล่มลงมาทับบ้านเรือนชาวลัวะบ้านห้วยขาบ ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทำให้มีบ้านเรือนเสียหายจำนวน 6 หลัง มีผู้เสียชีวิต 8 คน ต่อมาจังหวัดน่านได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตภัยพิบัติ และอพยพชาวบ้านห้วยขาบทั้งหมู่บ้าน จำนวน 60 ครัวเรือน (เดิมมี 61 ครัวเรือน แต่เสียชีวิตทั้งครอบครัว 6 คน) จำนวน 253 คน ให้มาพักอาศัยที่ อบต.บ่อเกลือเหนือ วัดสว้าเหนือ และโบสถ์คริสต์ สภาพความเป็นอยู่แออัดเพราะพื้นที่แต่ละแห่งคับแคบ ต้องกางมุ้งหรือเต็นท์ติดกัน

             ต่อมาเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ชาวห้วยขาบที่อยู่ในศูนย์พักพิงต่างๆ ได้ย้ายเข้าอยู่ในบ้านพักชั่วคราวที่บริเวณสนามกีฬา อบต.ดงพญา ห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร โดยมี ไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีมอบบ้านชั่วคราว และรับมอบเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สภาอุตสาหกรรม (ภาคเหนือ) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ

             บ้านพักชั่วคราวเป็นห้องแถวจำนวน 60 ห้อง ขนาดประมาณ 3.6 x 4 ตารางเมตร ใช้แผ่นเมทัลชีทเป็นผนังและหลังคา ยกพื้นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร สนับสนุนงบประมาณโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จำนวน 1 ล้านบาทเศษ และห้องสุขา-ห้องอาบน้ำรวม 20 ห้อง สนับสนุนโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 150,000 บาท ก่อสร้างด้วยแรงงานจากจิตอาสา เช่น นักศึกษาจากวิทยาลัยการอาชีพปัว วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา วิทยาลัยเทคนิคน่าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหารพรานและ ตชด. ช่างชุมชนจากโครงการบ้านมั่นคง ฯลฯ

 

             อ.บ่อเกลือ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 134 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชัน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 838 ตารางกิโลเมตร มีทั้งหมด 4 ตำบล ประชากรมีหลายเผ่าพันธุ์ เช่น ลัวะ ขมุ ม้ง เย้า คนเมือง ฯลฯ ส่วนบ้านห้วยขาบตั้งอยู่ใน ต.บ่อเกลือเหนือ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ มี 61 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 261 คน(ก่อนเกิดภัยพิบัติ) อยู่อาศัยที่บ้านห้วยขาบมานานไม่ต่ำกว่า 50-60 ปี มีอาชีพปลูกกาแฟ ถั่วดาวอินคา และปลูกข้าวไร่ (ข้าวเหนียว) ตามเชิงเขาเอาไว้กินในครัวเรือน

               กลุ่มชาติพันธุ์ ‘ลัวะ’ หรือ ‘ละว้า’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาจักรล้านนามาก่อนการตั้งเมืองเชียงใหม่ มีภาษาพูดเป็นของตนเอง แต่ด้วยผลจากสงครามการสู้รบในอดีต ทำให้อาณาจักรลัวะแตกพ่ายล่มสลาย แต่ชนเผ่าลัวะยังสืบเชื้อสายกระจายตัวอยู่หลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น น่าน เชียงใหม่ ฯลฯ ปัจจุบันชนเผ่าลัวะรวมทั้งชาติพันธุ์อื่นๆ ประสบปัญหาต่างๆ เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ ทำให้คนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและภูเขามาก่อนกลายเป็นผู้บุกรุกป่า ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ฯลฯ

               ภานุวิชญ์ จันธี ผู้นำบ้านห้วยขาบ เล่าว่า อาชีพหลักของชาวบ้านห้วยขาบคือปลูกถั่วดาวอินคา (ถั่วชนิดหนึ่งมีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกาใต้ เมล็ดกินได้ หรือสกัดเอาน้ำมัน ใช้ทำอาหาร เครื่องสำอาง เปลือกใช้ชงเป็นชา) ส่งขายให้พ่อค้าใน อ.บ่อเกลือ ราคาเมล็ดตากแห้งกิโลกรัมละ 80 บาท พ่อค้าจะส่งขายต่อที่ประเทศจีน ชาวห้วยขาบจะปลูกถั่วดาวอินคาครอบครัวหนึ่งไม่เกิน 1-2 ไร่ สามารถเก็บขายได้ทั้งปี 

              นอกจากนี้ยังปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิก้า ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี โดยชาวบ้านรวมกลุ่มกันปลูกกาแฟส่งขายให้บริษัทซีพีตามโครงการ ‘สร้างป่า สร้างรายได้’ ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวม 47 ราย มีพื้นที่ปลูกประมาณ 300 ไร่ โดยโครงการสนับสนุนโรงสีกาแฟให้ชาวบ้าน เพื่อจำหน่ายในลักษณะกาแฟ ‘กะลา’ ราคากิโลกรัมละ 110-120 บาท

                  ชาวลัวะบ้านห้วยขาบมีประเพณีและความเชื่อเป็นของตัวเอง นับถือผีบรรพบุรุษ ผีดิน ผีฟ้า ประเพณีสำคัญที่ยังสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน เช่น ประเพณี ‘กินดอกแดง’ หรือการเฉลิมฉลองข้าวใหม่ การปลูกข้าวไร่ของชาวลัวะนั้น จะนำเมล็ดพันธุ์ของต้นหงอนไก่ที่มีดอกสีแดงมาปลูกพร้อมกับการปลูกข้าว เมื่อรวงข้าวสุก ต้นหงอนไก่ก็จะผลิดอกสีแดงบานเต็มไร่ข้าว ชาวลัวะจะจัดพิธีกินดอกแดงขึ้น มีการฆ่าไก่หรือหมูเพื่อเซ่นไหว้ หลังจากนั้นจึงเฉลิมฉลองและกินข้าวร่วมกัน พิธีนี้จะมีขึ้นในราวเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ คือหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งฉางแล้ว

                หลังเหตุการณ์ดินถล่มบ้านห้วยขาบเพียงไม่กี่วัน  รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หน่วยวิจัยดินถล่ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิชาการจากกรมทรัพยากรธรณี ได้เดินทางมาสำรวจพื้นที่ที่บ้านห้วยขาบ หลังจากนั้นจึงได้มีการแถลงข่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า

              “พื้นที่ใน อ.บ่อเกลือ เป็นภูเขาที่มีแนวรอยเลื่อนตัดที่ซับซ้อนต่างจากที่อื่น สิ่งที่พบที่บ้านห้วยขาบคือ จุดที่ดินถล่มเป็นชั้นหินทรายกับหินทรายแป้งเป็นชั้นๆ ชาวบ้านบอกว่าเคยเป็นถ้ำมาก่อน เมื่อฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันน้ำจึงซึมลงไปตามพื้นที่รับน้ำบนภูเขาหินทรายซึ่งชันกว่าที่อื่น เกิดการกัดเซาะไปเรื่อยๆ จนชะง่อนเขาพัง และพบหลักฐานว่าพื้นที่นี้ในสมัยโบราณเคยเกิดดินถล่มมาก่อน และในอนาคตก็อาจเกิดดินถล่มได้อีก ดังนั้นชาวบ้านควรย้ายออกมา เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย”

 

               ขณะนี้ชาวบ้านห้วยขาบทั้ง 60 ครอบครัวได้ย้ายเข้าอยู่อาศัยในบ้านพักชั่วคราวที่สร้างขึ้นบริเวณสนามกีฬา อบต.ดงพญาแล้ว แต่ละครอบครัวต้องอยู่อาศัยในห้องแคบๆ ขนาด 3.6 x 4 ตารางเมตร เมื่อรวมกับข้าวของ เสื้อผ้า ฯลฯ ที่ขนมาจากหมู่บ้านเดิมจึงทำให้ห้องพักแคบลงอีก ส่วนห้องอาบน้ำและห้องสุขาเป็นห้องรวม ครอบครัวที่ได้ห้องพักห่างจากห้องสุขา ต้องเดินไปใช้บริการประมาณ 150-200 เมตร ถือว่าไกลพอสมควร โดยเฉพาะในเวลาค่ำคืน

                ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ รวมทั้งสัตว์เลี้ยง เช่น หมู ไก่ ไม่ได้ขนย้ายมา เพราะที่พักชั่วคราวคับแคบและไม่สะดวก ดังนั้นแต่ละครอบครัวจึงอยากสร้างบ้านพักถาวรหรือสร้างหมู่บ้านใหม่โดยเร็ว แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย เพราะพื้นที่ที่ทางราชการจัดสรรให้ไปอยู่ใหม่เป็นป่าสงวนฯ ต้องได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ก่อน

               ปรีชา สมชัย นายอำเภอบ่อเกลือ กล่าวว่า พื้นที่ที่จะตั้งหมู่บ้านใหม่มีเนื้อที่ประมาณ 244 ไร่ ชาวบ้านเรียกพื้นที่นั้นว่า “นาหลุม” เป็นพื้นที่ราบ อยู่ใน ต.ดงพญา ห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร ตามขั้นตอนจะต้องมีการสำรวจแนวเขตที่ดินให้ชัดเจน เพื่อกันพื้นที่ที่จะสร้างหมู่บ้านใหม่ออกจากเขตป่าสงวนฯ หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) จะเสนอขอใช้พื้นที่ดังกล่าวไปยังคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งดูแลกรมป่าไม้อนุมัติการใช้พื้นที่ โดยจะให้ชาวบ้านเข้าใช้ประโยชน์ในลักษณะที่ดินแปลงรวม แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ และจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันนับจากนี้หรือภายในเดือนตุลาคม 2561

   

            สยาม นนท์คำจันทร์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยบ้านห้วยขาบ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดสร้างที่พักชั่วคราวและบ้านพักถาวรให้แก่ชาวบ้านห้วยขาบ เผยว่า ในระยะแรกชาวบ้านห้วยขาบจะอาศัยอยู่ในบ้านพักชั่วคราวก่อนอย่างน้อย 6 เดือน เมื่อกรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างบ้านพักและที่ดินทำกินแล้ว จึงจะดำเนินการก่อสร้างพักถาวรหรือสร้างหมู่บ้านใหม่ได้

               ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินระดับอำเภอได้ลงพื้นที่สำรวจแนวเขตที่ดินที่บ้านนาหลุมแล้ว ขณะนี้เจ้าหน้าที่ พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่ทำกินอยู่ในพื้นที่แปลงนี้เพื่อนำมาจัดสรรให้ชาวห้วยขาบ หลังจากนั้นจึงจะออกแบบบ้านและวางผังหมู่บ้านใหม่ โดยให้ชาวห้วยขาบได้มีส่วนร่วมในการออกแบบเพื่อให้ตรงกับความต้องการ 

                 ส่วนงบประมาณในการดำเนินการสร้างบ้านและสร้างหมู่บ้านใหม่นั้น สยาม กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นบ้านแต่ละหลังจะต้องใช้งบประมาณราว 250,000 บาท รวมทั้งหมด 15 ล้านบาท โดยใช้วัสดุเก่า เช่น ไม้ ประตู หน้าต่าง ฯลฯ ที่ยังใช้ได้เพื่อช่วยลดต้นทุน แต่เนื่องจาก พอช.มีงบสนับสนุนการก่อสร้างบ้านพักและสาธารณูปโภคตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท ครัวเรือนละ 72,000 บาท (สร้างบ้าน 40,000 บาท, สาธารณูปโภค 24,800 บาท และงบสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน 7,200 บาท) รวมงบช่วยเหลือทั้งหมด 4,320,000 บาท ซึ่งยังไม่เพียงพอ ยังขาดอีกประมาณ 10 ล้านบาทเศษ ดังนั้นจึงต้องเสนอให้หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนร่วมสนับสนุน

 

               “หากเป็นไปตามแผนงานคาดว่าในช่วงปลายปีนี้จะเริ่มก่อสร้างหมู่บ้านใหม่ได้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 เดือน หรือในช่วงกลางปีหน้าจึงจะแล้วเสร็จ หลังจากที่ชาวบ้านย้ายเข้าอยู่อาศัยในหมู่บ้านใหม่แล้ว พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พมจ.น่าน สำนักงานเกษตรจังหวัด วิทยาลัยอาชีพ สภาองค์กรชุมชน กลุ่มฮักเมืองน่าน จะส่งเสริมด้านอาชีพเกษตรกรรมที่ยั่งยืน รวมทั้งด้านสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าดินจะถล่มหรือต้องนอนฝันร้ายอีกต่อไป” สยามย้ำทิ้งท้าย