"ใบเลื่อย"ฟิโลโชว์ใบที่เคยบูม ตอน10
คอลัมนื -ไม้ใบทำเงิน โดย - อุดม ฐิตวัฒนะสกุล [email protected]
ไม้ประดับที่มีการใช้ในระบบแบบหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกระแสนิยมในแต่ละยุคสมัย ที่ผู้ใช้มักจะตื่นเต้นกับของที่มีมาใหม่ หากสวยถูกใจจนดูสะดุดตาก็มีโอกาสที่จะถูกดึงมาใช้ในงานต่อ ๆ ไป หรือขยายการใช้ได้มากขึ้นตามลำดับ ไม่ต่างอะไรกับการยินดีที่มีของใหม่ให้ได้ใช้ก่อนใครหรือได้ประโยชน์จากการนั้นในระดับต้นจนถึงระดับต่อมาตามแบบแฟชั่นที่ถูกจุดกระแสนั้นขึ้นมา ทั้งเป็นการจงใจหรือเป็นไปได้แบบบังเอิญล้วนแทบทุกสิ่งที่อยู่รอบกายเรา เพียงต้นแบบที่ใช่เป็นสิ่งที่ทั่วไปชอบ ถูกนำเสนอในจังหวะที่สอดคล้องและลงตัว สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นก็จะเป็นที่นิยมและยอมรับได้เพียงเวลาไม่ช้านาน
ฟิโลใบเลื่อย(Philodendron) เป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียกเฉพาะ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในกระแสไม้ที่เคยดังในอดีต ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่เทอะทะมีก้านใบยาว ใบเป็นแผ่นเรียวปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหยักพริ้วทั้งสองข้างคล้ายซี่ของฟันเลื่อย ทำให้สิ่งที่เห็นและดูคล้าย จึงถูกเรียกขานตามสิ่งที่เห็นไปในที่สุด
ไม้ชนิดนี้ในยุคหนึ่งถูกยกให้เป็นไม้ประดับที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งทั้งต้นประดับ และปลูกเพื่อการตัดใบจัดร่วมกับดอกไม้นานาชนิด นับเป็นไม้ลูกผสมอีกชนิดที่ผู้ใช้ยอมรับกระแส จากเสน่ห์ที่มีอยู่ในความแปลกและความแตกต่างอย่างไม่เคยมีเหมือนมาก่อน การใช้ตามกระแสมีระยะเวลายาวนานอยู่หลายปี จนมีการขยายพันธุ์ด้วยปริมาณที่มากจากมุมมองของการสร้างงานสร้างรายได้ที่ขาดความพอดี ทำให้ในช่วงเวลาต่อมา ต้นและใบที่เคยมีราคาสูงกลับขยับต่ำเกินจุดสมดุลของระบบ ช่วงเวลาที่ผ่านมานับเป็นจุดเตือนใจที่ดีของอาชีพอีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่แม้จะนับเป็นโอกาสก็ใช่ว่าจะยั่งยืนยาวนานนัก ทุกสิ่งล้วนต้องเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดและปรับตัวตามระบบที่แท้จริงต่อไป
ช่วงเวลาที่ ใบเลื่อย หายไปจากระบบในช่วงหนึ่งนั้นก็มีไม้ชนิดอื่นเข้ามาทดแทน ทำให้ฟิโลนี้เกือบจะสูญพันธุ์ไปเลยก็ว่าได้ คนที่ใช้แทบจะไม่เห็นและให้ลืมไปเลยว่าฟิโลใบเลื่อยที่เคยยิ่งใหญ่ในระบบกลับจะหาต้นและใบเพื่อใช้เพียงเล็กน้อยตามรูปแบบการจัดเฉพาะก็ยากเต็มที เมื่อเริ่มมีการหาไม้ที่แทบจะไม่มีอยู่ในระบบเลยก็เหมือนถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางความกล้าๆกลัวๆที่มีอดีตเป็นบทเรียนสำคัญมาแล้ว ยิ่งทำให้ไม้ที่มีเหลืออยู่ไม่มากคงเป็นได้แค่เพียงไม้ที่ใช้ตามความคิดถึงเท่านั้น
มีปลูกและขยายตามที่หาได้จากที่ยังคงหลงเหลือจากกลุ่มไม้ในพื้นที่ที่ปล่อยไว้แบบไม่ได้ดูแล ในรูปแบบตัดชำธรรมดา ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพิ่มจำนวนอย่างไร้ขอบเขตจำกัดเพื่อตอบโจทย์แบบเก่าอีกเลย ไม้ชนิดนี้จึงมีเพียงแค่ปลูกอนุรักษ์และใช้งานตามแต่โอกาสอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ไม่หวือหวามากนัก หากจะใช้ในปริมาณที่มากก็มักหาไม้ชนิดอื่นทดแทนกันได้ ใบเลื่อย จึงเป็นไม้ในความทรงจำของหลายๆคนที่เคยผ่านตาและนำมาใช้งานมาแล้ว ที่ทำให้ได้คิดและพอเข้าใจได้ว่า ความหลากหลายที่มีมามักเป็นแฟชั่นจริงๆที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามจังหวะและโอกาส ทั้งขึ้นและลงที่มีวันกลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม ถ้าการลงไปแล้วนั้นมีปัจจัยเกื้อหนุนใหม่ที่เหมาะสมและลงตัว
ไม้ดอกไม้ประดับอีกหลายต่อหลายชนิด มักมีระบบที่คล้ายคลึงกันกับฟิโลใบเลื่อยนี้ ที่หยุดเพียงช่วงระยะสั้นหรือยาวนานมากนั้นผู้ผลิตคงต้องรอคอยให้เกิดความต้องการใหม่ จะเป็นช่วงเวลาใดนั้นอาจสุดจะคาดเดา แต่การจับสัญญาณที่มีมาในรูปแบบต่าง ๆ ก็พอจะคะเนได้ในระดับหนึ่งเหมือนการได้ข้ามไปสู่อนาคตเพื่อกำหนดการผลิตในปัจจุบันได้คงจะเป็นเรื่องที่ดี การคิดตามแนวทางพื้นฐานอย่างหนึ่งคือ การรู้ในส่วนที่เป็นปัจจุบัน ทั้งการผ่านสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับรู้เรื่องราวมาในอดีตก็ที่จะอนุมาณในทิศทางสู่อนาคตได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ตรงจนถึงที่สุด
แต่ก็พอที่จะเป็นแนวทางความคิดได้ ที่หลายคนเรียกว่า วิสัยทัศน์ กำหนดชนิดพืชพันธุ์เก่า ที่เคยดังมาในอดีต ได้นำกลับมาทำปริมาณและแนวทางการทำตลาดใหม่สวนทางกับคนส่วนใหญ่ที่มุ่งทะยานไปข้างหน้าในทิศทางเดียว ได้กลับมามองและเห็นคุณค่าไม้ที่เคยดังและใช้มากในช่วงที่ผ่านมา ได้รับการเก็บมาทำและนำมาใช้ใหม่อย่างที่เคยด้วยความรู้สึกดีๆที่เคยมีความสำเร็จควบคู่กันมาแล้วอีกครั้งหนึ่ง..