มาเลเซียย้ำจุดยืนขริบอวัยวะเพศหญิงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
จุดยืนรัฐบาลมาเลเซียที่ว่าการขริบอวัยวะเพศหญิง เป็นเรื่องวัฒนธรรม จุดกระแสไม่พอใจ
การขริบอวัยวะเพศหญิง ( Female genital mutilation –เอฟจีเอ็ม ) กลายเป็นประเด็นถกเถียงในมาเลเซียขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 9 พ.ย. เจ้าหน้าที่รัฐบาลบอกคณะผู้แทนในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นกลไกตรวจสอบโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปกป้องการขริบอวัยะเพศทารกเพศหญิงว่า เป็นพันธกิจทางวัฒนธรรมในมาเลเซีย และยืนยันว่า ไม่ใช่รูปแบบหนึ่งของเอฟจีเอ็ม
ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่รัฐบาล สร้างความผิดหวัง และไม่พอใจให้กับนักเคลื่อนไหวและกลุ่มสิทธิในมาเลเซีย ขณะที่นานาประเทศเห็นตรงกันว่า เอฟจีเอ็มไม่มีประโยชน์ใดทางการแพทย์ แต่มาเลเซียยังยึดว่าเป็นวัฒนธรรม ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ล่าสุด ดร.วัน อาซิซะห์ วัน อิสมาอิล รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และรัฐมนตรีกระทรวงสตรี ครอบครัวและพัฒนาชุมชน กล่าวในรัฐสภาวันนี้ ย้ำจุดยืนว่าการขริบอวัยวะเพศหญิง เป็นส่วนหนึ่งอขงวัฒนธรรม แต่อย่านำไปเปรียบเทียบกับประเพณีปฏิบัติในบางประเทศแถบแอฟริกา ที่ถูกโลกประณาม กระนั้น กระทรวงของเธอกำลังหารือประเด็นนี้กับกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง และหากพบว่า ไม่มีประโยชน์อันใด เราควรทำอะไรบางอย่าง
การเข้าสุนัตของเพศหญิง ก็ถือเป็น เอฟจีเอ็ม ตามนิยามขององค์การอนามัยโลกเช่นกัน แต่องค์กรมุสลิมจำนวนมากไม่เห็นด้วย
ในมาเลเซีย รูปแบบเอฟจีเอ็มที่พบแพร่หลายที่สุดในหมู่ชาวมุสลิม อยู่ในประเภทที่ 1 คือนางพยาบาลผดุงครรภ์หรือแพทย์ ตัดปุ่มกระสัน (clitoral hood ) ตั้งแต่ยังแบเบาะหรือเป็นเด็กหญิง
มาเลเซียเคยถูกวิจารณ์หนักในที่ประชุมว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบครั้งที่ 69 ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ฐานที่ยังไฟเขียวให้มีการขริบอวัยวะเพศหญิงแบบเป็นอันตราย ทั้งที่ประเทศมุสลิมหลายแห่ง ประกาศแล้วว่าการทำเช่นนี้ไม่ใช่ประเพณีอิสลาม
ราซาลี อิสมาอิล ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่ถูกต้องที่บอกว่า เอฟจีเอ็ม เป็นวัฒนธรรมมาเลเซีย และเสี่ยงทำลายภาพลักษณ์ประเทศในสายตานานาชาติในแง่สิทธิมนุษยชน