"กลันตัน" ! สายแข็ง...แหล่งวัฒนธรรมคนสยาม
"คนสยาม"โกตาบารู......รัฐกลันตัน เหนียวแน่นวัฒนธรรมไทย
11 ธันวาคม 2561 ด้วยพรรคอิสลามมาเลเซีย (PAS) มีฐานอำนาจอยู่ในรัฐนี้มานานหลายปี"กลันตัน"จึงเป็นรัฐที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมทางสังคมมากที่สุดในประเทศ องค์ประกอบทางชาติพันธุ์
ประกอบด้วยชาวมลายูร้อยละ 95 ชาวไทยร้อยละ 3 ชาวจีนร้อยละ 1.9 และอื่น ๆ ร้อยละ 0.1 ณ ที่่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและผูกพันกับประเทศไทยอย่างเหนียวแน่น "จันทรรัตน์ งามชนะ"รองกงสุลใหญ่ รักษาการแทนกงสุลใหญ่โกตาบารู รัฐกลันตัน ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นอยู่ของชาวสยามหรือคนมาเลย์เชื้อสายไทยว่า รัฐกลันตันแม้จะไม่มีความโดดเด่น ทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเฉกเช่นรัฐอื่น ๆ ในมาเลเซีย แต่หากเอ่ยถึงการยึดมั่นขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี"รัฐกลันตัน"ถือเป็นเมืองที่มีความเคร่งครัดกับวัฒนธรรมและมาอย่างยาวนานแม้ว่าจะมีประชากรที่มีความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ ก็ตามหากแต่มีความเป็นอยู่อย่างกลมเกลียว แม้ว่าแต่เดิมรัฐกลันตันจะอยู่ภายใต้การปกครองของสยามหรือประเทศไทยก่อนมีการแบ่งแยกดินแดนให้เป็นของมาเลเซีย
คนสยามหรือคนมาเลย์เชื้อสายไทยจะผูกพันกับวัดเพราะที่นี่มีวัดมากถึง 20 แห่งบางแห่งมีอายุเก่าแก่นับร้อยปี รวมทั้งมีการประกอบกิจกรรมทางศาสนายึดแบบอย่างวิถีและประเพณีไทยทุกประการไม่ว่าจะเป็นเทศกาลงานบุญใด เช่นประเพณีชิงเปรต สงกรานต์ ลอยกระทง วันเข้าและออกพรรษา เป็นต้น หรือแม้กระทั่งในรายละเอียดอื่น ๆ ก็ทำให้เชื่อว่าคนที่นี่ยึดมั่นกับประเพณี ศรัทรา ในพระพุทธศาสนาเช่น การสวดมนต์ที่พระสวดอย่างไรก็สามารถสวดได้อย่างถูกต้องแม่นยำตามไปด้วย จึงถือว่าการรวมกลุ่มของคนสยามที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม อย่างมาก
คนสยามแม้จะอยู่ในผืนแผ่นดินของมาเลเซียแต่ก็ได้รับการดูแล อำนวยความสะดวกจากกระทรวงการต่างประเทศ โดยผ่านสถานกงสุลเช่นที่"โกตาบารู"เช่น เกี่ยวกับกิจกรรมการทางศาสนา ดังจะเห็นได้จากการขอพระราชทานกฐินพระราชทาน โดยการประสานของกองการทูตวัฒนธรรม กรมสารนิเทศ ที่ถือเป็นการเผยแพร่และส่งเสริมศาสนาในชุมนุมคนสยามหรือคนมาเลย์เชื้อสายไทย ที่อาศัยในรัฐกลันตัน
นอกจากนี้ยังสนับสนุนเรื่องการศึกษาของเด็กที่จะส่งเสริมเรื่องการเรียนภาษาไทย โดยใช้วัดเป็นสถานที่เล่าเรียนของเด็ก ๆ ใช้เวลาในช่วงศุกร์และเสาร์ เนื่องจากที่นี่จะทำงานในวันอาทิตย์ ถึงวันพฤหัสบดี ทั้งนี้เด็กจะเล่าเรียนตามระบบปกติของประเทศมาเลเซีย ส่วนระบบการเรียนภาษาไทยจะใช้หลักสูตรของมูลนิธิพระวิเชียรโมลี ที่เน้นการเรียนการสอนศาสนา วัฒนธรรม แต่มีปัญหาขาดคแลนครูผู้ฝึกสอน จึงแก้ไขด้วยวิธีการให้รุ่นพี่ที่เรียนจบไปแล้วก็กลับมาสอนรุ่นน้อง
การสนับสนุนการศึกษาของคนสยามหรือเด็กที่อาศัยในรัฐกลันตัน กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทมาอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปี โดยได้จัดทำโครงการที่สำคัญคือ จัดหาครูผู้สอนอาทิจาก"สุไงโกลก" รวมทั้งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา มาทำการสอนแต่ในปี 2561 นี้ไม่มีนักศึกษาจึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการมาร่วมทำกิจกรรมแทนเช่นการสอนการแต่งกลอนคือเน้นการใช้ภาษาเป็นหลัก นอกจากนี้ยังสนับสนุนการศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยทักษิณในระดับชั้นปริญญาตรีด้านนาฏศิลป์ ให้กับนักเรียนด้วย และมีความพยายามเสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้การเรียนในวัดเป็นการศึกษานอกโรงเรียน นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศยังให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ให้กับสมาคมสยามรัฐกลันตัน ศูนย์การเรียนการสอน วัฒนธรรมไทย การสนับสนุนคณะสงฆ์ในกลุ่มละ 50,000 บาท ต่อเนื่องในทุกปี
"กลันตันเป็นเมืองที่เคร่งครัดในศาสนามาก หากต้องการเรียนหรือศึกษาวัฒนธรรม หรือคนไทยอยากรู้ถึงความเป็นอยู่ของคนมาเลย์เชื้อสายไทย(คนสยาม) ว่าเป็นอย่างไรที่นี่ถือเป็นรัฐสำคัญสำหรับคนที่สนใจในประเด็นดังกล่าว" รองกงสุลใหญ่ รักษาการแทนกงสุลใหญ่โกตาบารูระบุ และบอกด้วยว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารับรู้ได้ว่าคนสยามยังคงเหนียวแน่นกับรากเง้าประเพณีถิ่นกำเนิดและอนุรักษ์ไว้นั่นคือภาษา....."เจ๊ะเห" เป็นภาษาที่คนตากใบและคนสยามในรัฐกลันตัน ยังคงใช้พูดจาติดต่อสื่อสาร ดังจะเห็นได้จากมีการจัดงาน "รวมพลคนแหล่งเจ๊ะเห" ซึ่งแปลว่า "นัดรวมพลคนพูดเจ๊ะเห"
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า"รัฐกลันตัน"ไม่เฟื่องฟูด้านเศรษฐกิจมากนัก แม้ว่าภาครัฐจะพยายามจัดงานหรือกิจกรรมการค้าการลงทุนด้านการแสดงสินค้าต่าง ๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก อีกทั้งการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากไม่เหมือนรัฐอื่น ๆ ขณะที่การท่องเที่ยวรัฐบาลเองก็มีพยายามโปรโมทเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรเช่นกัน แม้ในพื้นที่มีแหล่งท่องเที่ยวเช่นทะเล
รวมทั้งมีอาหารหลากหลาย และมีโรงแรมขนาดเล็กเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงโฮมสเตย์ด้วย แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยมากนักคนที่อาศัยในรัฐกลันตันส่วนมากจะไปทำงานในรัฐอื่น เศรษฐกิจหรือการค้าขายที่นี่ในรูปแบบระหว่างไทยกับกลันตันจะอยู่ในระดับรายย่อย แต่หากมีการนำมูลค่ามารวมกันเชื่อว่าคงเป็นเม็ดเงินจำนวนมาก การที่เศรษฐกิจของที่นี่อาจไม่กระเตื้องอาจเพราะมีระเบียบ ผู้ประกอบการอาจไม่รู้ช่องทาง หรือรายใหญ่อาจไม่สนใจ
"โกตาบารู รัฐกลันตัน"แม้จะเป็นแหล่งที่คนมาเลย์เชื้อสายไทย(คนสยาม)อาศัยอยู่จำนวนมาก มีอารยธรรมของความเป็นไทย อย่างเข้มแข็ง แต่ที่นี่ก็มีสัญลักษณ์รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวมุสลิมดังจะเห็นได้จากพิพิธภัณฑ์ที่แต่เดิมเป็นวังเก่า (พระราชวังจาฮาร์เป็นพระราชวังที่สร้างด้วยไม้ ) ที่มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ตามประเพณีโบราณกาลของราชวงศ์มาเลเซีย ที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตของดินแดนแห่งดินแดนแห่งนี้ผ่านความสวยงามทั้งวัง มัสยิด เป็นต้น
รวมทั้งวังบางแห่งจะใช้ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญเช่นวันประสูติสุลต่านหรือเพื่อให้ประชาชนเข้าเฝ้าสุลต่านเช่นวันออกศีลหรือ"รอมาฏอน"........ (ประตูวัง อิสตานา บาไล เบซาร์)
วังอีกแห่งที่ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์
สำหรับมัยิดที่สำคัญของ"โกตาบารู"....อุสตัส รุสลี บิน เจ้ะ โซ้ะ "อิหม่าม"มัสยิด Muhummadi kuta Bharu Kelantan กล่าวว่า คนไทยกับชาวมาเลย์เหมือนเป็นพี่น้องกันมี ต่างกันเพียงแม่น้ำโกลกที่แบ่งแยกสองฝั่งเท่านั้น แต่มีความสัมพันธ์และยึดมั่นในความดี ชาวไทบมุสลิมมีความเข้าใจกันและกัน อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุขเป็นญาติที่ไม่มีวันตัดขาดตลอดไป
ทั้งนีั้มัสยิดแห่งนี้แต่เดิมเป็นมัสยิดไม้อายุ 150 ปี สร้างในปี 1861 ต่อมาปี 1921 สำนักงบของศานาอิสลามได้ก่อสร้างมัสยิดซีเมนต์แห่งแรกในรัฐกลันตันและตั้งชื่อว่า มัสยิด Muhammadi เมื่อ วันที่ 31 กันยายน 1961 และนำชื่อสุลต่านองค์ที่ 1 -4 ของรัฐกลันตันมาตั้งและเป็นมัสยิดที่มีความพิเศษที่พระราชาธิบดีของมาเลเซียองค์ปัจจุบันขณะเป็นสุลต่านขับรถยนตร์พระที่นี่งเป็นการส่วนพระองค์มาละหมาด
"มัสยิดกัมปงเล้าต์"เป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในรัฐกลันตันเดิมตั้งอยู่ที่ กัมปงเล้าต์ ตุมปัต ริมฝั่งแม่น้ำกลันตัน แต่ได้ย้ายมาตั้งในตำแหน่งปัจจุบันนี้
ภาพแห่งความสุขของคนสยามในมาเลเซียได้ถูกตอกย้ำผ่าน "ศ.พิณ อุตรพันธุ์ ประธานสมาคมสยามรัฐกลันตัน"บอกว่า ประชาชนที่นี่มีความผูกพันกับประเพณีวัฒนธรรม มาอย่างช้านาน และมีความสมัครสมานสามัคคีปรองดอง ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ความเป็นอยู่ของคนไทยที่นี่มีความปลอดภัย หากินง่าย รัฐบาลมาเลเซียให้การสนับสนุนประเพณีสำคัญของไทย แม้ว่ารัฐกลันตัน 90 เปอร์เซ็นต์นับถืออิสลาม 10 เปอร์เซ็นต์นับถือพุทธ ก็อยู่ร่วมกันได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่เราก็ต้องยึดระบบระเบียบของทางมาเลเซีย เช่น ไม่สามารถลาบวชได้เพราะจะไม่ได้รับเงินเดือน แต่ลาพักร้อนเพื่อไปบวชได้ รวมทั้งอาจมีข้อห้ามบางอย่างที่ดินเราขายให้กับคนมาเลเซียแต่ซื้อคืนไม่ได้แต่หากขายให้คนจีน อินเดียเราชื้อกลับคืนได้ เป็นต้น
แม้เราต้องอยู่ในระบบของมาเลเซียแต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นการเรียนการสอนของคนไทย เนื่องจากได้เปิดสอนภาษาไทยมานานกว่า 100 ปีแต่เพิ่งเริ่มจริงจังประมาณ 60- 70 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงแรก ๆ อาจมีปัญหาบ้าง โดยจะมีการสอนแบบพี่สอนน้องคือรุ่นพี่ที่จบไปก็จะมาสอนน้อง ๆ ที่กำลังศึกษา และใช้วัดทุกวัดเป็นที่เรียนเช่นที่วัดโพธิวราราม จะเรียนสองวันคือศุกร์และเสาร์เนื่องจากเป็นวันหยุด หลักสูตรจะเน้นศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม
สอดคล้องกับ"ดาบตำรวจสุภาพ นิลวัฒน์"เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า แม้ว่าจะมีญาติพี่น้องคือยายอาศัย ในอำเภอตุมปัต เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย แต่แต่ไปมาหาสู่กันโดยตลอดไม่มีความรู้สึกแตกต่างว่าอยู่คนประเทศแต่อย่างใด แม้ว่าตนจะทำงานในประเทศไทยก็ตาม สำหรับความเป็นอยู่ที่นี่ค่อนข้างมีความสงบเงียบ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ปลอดภัย ที่มีกฏหมายที่เข้มแข็ง มีความมั่นคงอยู่กันอย่างพี่น้อง และถือว่าคนสยามในรัฐกลันตันก็เป็นคนไทยเช่นกัน ทุกคนที่นี่รักประเทศไทย เพียงแต่เกิดและเป็นคนมาเลเซีย คนที่นี่จะอยู่กันอย่ากลมกลืนและให้ความสำคัญกับคนสยาม เด็ก ๆ ที่นี่จะเรียนหนังสือไทย ให้อ่านออกเขียนได้
รวมถึง"เกษม แดนสะอาด"เป็นคนบ้าน ยุงเกา อ.ตุมปัต โกตามารู รัฐกลันตัน กล่าวว่า ตนอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิดทำงานรับราชการในประเทศมาเลเซีย ส่วนชาวบ้านที่นี่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ปลูกผัก ทำนาตลอดจนทำงานในบริษัท ห้างร้าน แม้ว่าจะต่างชนชาติหรือศาสนาแต่ไม่มีปัญหาที่จะร่วมกัน เราดำเนินวิถีพุทธไปตามปกติ ที่นี่มีความสงบ สมัครสมานสามัคคี เมื่อมีงานเทศกาลต่าง ๆ ตามพุทธศาสนาทุกคนล้วนพร้อมใจร่วมงาน
ขณะที่ภาครัฐที่มีบทบาทในการดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับคนมาเลย์เชื้อสวายไทย..."วิชาวัฒน์ อิศรภักดี"ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ บอกด้วยว่า มีความภูมิใจที่ชุมชนสยามในรัฐกลันตันมีความเข้มแข็ง ตลอดจนสามารถรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี เชื่อว่าชุมชนชาวสยามจะสามารถใช้วัฒนธรรมดำรงตนได้อย่างกลมกลืน อีกทั้งสามารถส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ชาวสยามยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นหลังจากที่มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างมิตรภาพ เครือข่ายการค้าการลงทุน
เสียงเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนให้เรารู้ว่าคนมาเลย์(เชื้อสายไทย)ต่างอยู่ในดินแดนที่แม่น้ำโก-ลกเป็นเส้นคั่นอย่างมีความสุข