ข่าว

ปธ.กกต.ส่งสัญญาณเตรียมจัดเลือกตั้งในลำดับเข้มข้น

ปธ.กกต.ส่งสัญญาณเตรียมจัดเลือกตั้งในลำดับเข้มข้น

08 ม.ค. 2562

กกต.รอรัฐบาลประกาศพ.ร.ฎ. "อิทธิพร" ยันไม่เคยกำหนด 10 มี.ค.เป็นตุ๊กตาวันเลือกตั้ง พร้อมย้ำประกาศผล 60 วัน ต้องอยู่ในกรอบจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน

 

          โรงแรมรามาการ์เดนส์-8 ม.ค.62-กกต.รอรัฐบาลประกาศพ.ร.ฎ. "อิทธิพร" ยันไม่เคยกำหนด 10 มี.ค.เป็นตุ๊กตาวันเลือกตั้ง พร้อมย้ำประกาศผล 60 วัน ต้องอยู่ในกรอบจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน ยึดหลักไม่ให้ผิดกฎหมาย   ขณะนี้ยังไม่พิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ  ปัดไม่มีหน้าที่ส่งสัญญาณถึง มท. แจ้งเลื่อนการเลือกตั้ง มีแต่สัญญาณเตรียมจัดเลือกตั้งในลำดับเข้มข้น

          นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการกำหนดวันเลือกตั้งว่า การประชุมเมื่อวันที่ 4 ม.ค. กกต.ได้รับทราบใน 3 เรื่องเท่านั้น คือ กำหนดวันพระราชพิธี ความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง และเมื่อมีพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง กกต.จึงจะพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วที่สุดและจะประกาศวัน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีวันอะไรเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับวันที่เราจะได้รับแจ้งว่า พ.ร.ฎ.จะมีขึ้นเมื่อไร รวมทั้งกระแสข่าวที่ระบุว่าจะมีการจัดเลือกตั้งในวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งยืนยันว่ากกต.ไม่ได้กำหนดวันใดขึ้นเป็นตุ๊กตาทั้งสิ้น  ส่วนประเด็นต้องประกาศผลภายใน 150 วันนับแต่พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลใช้บังคับหรือไม่ กกต.ได้มีการพูดคุยกันแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่จะนำไปสู่การลงมติ เราเพียงแต่ทราบดีว่ามีปัญหาข้อกฎหมายว่าการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ หมายรวมถึงจะต้องประกาศผลการเลือกตั้งด้วยหรือไม่ การพิจารณาของกกต.ยังอยู่บนพื้นฐานว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรในชั้นนี้เราจะทำให้มั่นใจว่าเราจะประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้ภายใน 60 วัน และคำนึงถึงเรื่องการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน เมื่อถึงเวลาที่เราต้องกำหนดวันเลือกตั้ง เรื่องของการประกาศผลจะเป็นประเด็นที่เราจะหยิบมาพิจารณาอีกครั้ง

 

           ปธ.กกต.ส่งสัญญาณเตรียมจัดเลือกตั้งในลำดับเข้มข้น

            เมื่อถามว่าหากต้องการให้เกิดความชัดเจนควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า    เป็นช่องทางหนึ่งถ้ามีข้อสงสัยก็ไปศาลได้ แต่ขณะเดียวกันตนเห็นว่า ถ้ากรรมการมีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการกำหนดวัน คณะกรรมการก็สามารถดำเนินการไปได้ตามที่มีความเห็นพ้อง ขณะนี้จึงยังไม่ถึงเวลาที่จะพิจารณาให้ชัดเจนว่าจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน และประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน เป็นประเด็นที่มีการพูดกันมาก่อนหน้านี้นานแล้ว แต่สิ่งที่เราอยากจะเน้นคือเมื่อมีการประกาศวันเลือกตั้งแล้ว กกต.ต้องทำให้มั่นใจได้ว่า กกต.ต้องประกาศผลให้ได้ภายใน 60 วัน ไม่ให้ผิดกฎหมาย นี่เป็นเกณฑ์สำคัญที่เราอยากจะพิจารณาในสิ่งที่เป็นปัจจุบันมากกว่า อย่างอื่นพูดไปแล้วเป็นเรื่องในอนาคต ซึ่งยังไม่ควรที่จะพูด

           "ผมเข้าใจกระแสในขณะนี้ ไม่ได้มองว่าเป็นเผือกร้อนโยนมาให้ กกต.  เรื่องของการจัดการเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติของกกต. ซึ่งเราตระหนักดีว่าเมื่อมีการประกาศใช้พรป.เลือกตั้ง ส.ส. กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ทุกอย่างเข้ามาอยู่ในหน้าที่และความรับผิดชอบ หรือเข้าสู่โหมดการทำงานของ กกต. ซึ่ง กกต.ต้องพยายามดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย และต้องให้ความชัดเจนได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่อยากพูดอะไรไปแล้วยังไม่สามารถยืนยันได้"นายอิทธิพรกล่าว

           นายอิทธิพร กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนที่อยากให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. ว่า เป็นการแสดงออกตามสิทธิของประชาชน ความเห็นทุกความเห็นมีความหมายที่ กกต.จะนำมาประกอบการตัดสินใจ แต่ทั้งหลายทั้งปวงการปฏิบัติต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย เรายึดเรื่องนี้เป็นสำคัญ

           ส่วนที่มีหนังสือของกระทรวงมหาดไทยไปยังสำนักการทะเบียนอ้างว่ากกต.มีหนังสือแจ้งมาให้ระงับการเตรียมจัดการเลือกตั้ง ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นในเดือนก.พ.หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องหนังสือดังกล่าว เห็นเพียงข่าวจากสื่อเท่านั้น สำหรับสัญญาณของ กกต.ก็อย่างที่สื่อเห็นในขณะนี้ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมในลำดับเข้มข้น ในส่วนของสำนักงานกกต. ถ้ามีการเลือกตั้งวันใดนับจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ กกต.ต้องเตรียมความพร้อมของตัวเองเป็นหลัก เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่ากกต.ไม่ได้ส่งสัญญาณไปยังกรมการปกครองใช่หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว และไม่ใช่เรารู้กันกับกระทรวงมหาดไทย กกต.จะไม่ส่งสัญญาณใดๆทั้งสิ้น กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้ทันเวลาเรียบร้อย ไม่มีหน้าที่ส่งสัญญาณใดๆ  

 

รองเลขา กกต.ฝ่ายสืบสวนฯ  กำชับกกต.จังหวัด เกาะติดหาข่าวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.  – การลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย "ปาบึก"  ต้องไม่ให้มีนัยยะแอบแฝง  เตรียมประสาน มท.-คมนาคม-กทม. คุมป้ายหาเสียงในช่วงที่ยังไม่มีพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง   

             ด้าน นายดุษฎี พรสุขสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)   กล่าวในการประชุมเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง ส.ส. ให้กับผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ ว่า    ผอ.เลือกตั้งประจำจังหวัดต้องสั่งเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เพราะบางครั้งพฤติกรรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมายอาจไม่ได้เกิดจากตัวผู้สมัคร โดยตรง   แม้จะยังไม่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. ก็ขอให้เก็บข้อมูลไว้เพื่อเป็นการสืบสวนในทางการข่าว    เพราะหากมีการร้องเรียนที่ กกต.ต้องพิจารณาจะได้นำมาเป็นข้อมูลและพยานหลักฐานมาใช้ในภายหลัง   พร้อมระบุว่าจะเสนอให้เลขา กกต.ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวง 3 หน่วยงาน   คือ กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร  เกี่ยวกับเรื่องกวดขันการปิดป้ายหาเสียงในช่วงที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง   โดยให้ทั้ง 3 หน่วยงานดูแลเรื่องการปิดป้าย ในช่วงที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง    กกต.จึงไม่สามารถไปดำเนินการกับป้ายหาเสียงของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.  เกรงว่าจะมีปัญหาตามมาเรื่องการลักทรัพย์ และค่าใช้จ่ายในการปลดป้าย   ซึ่งหาก 3 หน่วยงานรับเรื่องไปจะได้มีผลในทางกฎหมาย

        นายดุษฎี  กล่าวอีกว่า ขอให้ ผอ.เลือกตั้งประจำจังหวัด กำชับให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เพื่อเป็นเก็บเป็นข้อมูล แต่อย่าไปยืนยันหรือวินิจฉัย ว่าสิ่งใดทำ ทำไม่ได้ เพราะผู้สมัครจะนำไปเป็นหลักฐาน ในการดำเนินการ  รวมทั้งการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดภาคใต้ที่ประสบภัยพิบัติปาบึก ขอให้ไปสังเกตการณ์   เพราะการลงพื้นที่ช่วยประชาชนไม่ใช่เรื่องผิด แต่ขอให้ดูว่าลงพื้นที่ของนักการเมืองและว่าที่ผู้สมัครมีนัยยะแอบแฝงหรือไม่ ดูได้ง่ายๆว่า ลงพื้นที่ที่ประสบภัย หรือว่าไปในเขตที่ไม่ได้เกิดเหตุ  เพราะอาจมีเรื่องการหาเสียงแฝง

         รองเลขาธิการกกต.ฝ่ายสืบสวนฯ กล่าวถึงระงับสิทธิสมัครชั่วคราว (ใบส้ม) ของผู้สมัคร ส.ว. บุรีรัมย์ ว่า  กรณีนี้ กกต.จะทำให้เป็นคดีตัวอย่าง เพื่อใช้สำหรับการเลือกตั้ง  ส.ส.โดยตามกฎหมายแล้ว กกต.จะต้องมีการพิจารณาว่าจะเสนอให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  (ใบแดง) และเพิกถอนสิทธิ์สมัคร (ใบดำ)   โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างที่สำนักงานจะเสนอให้ กกต.พิจารณา  หากเห็นว่า เป็นความผิดทางอาญา ก็ส่งไปยังอัยการเพื่อตั้งเรื่องเสนอศาล หรือ จะต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่ผู้สมัคร ส.ว.รายชี้โชคดีที่การเลือกตั้ง ส.ว. ไม่ได้ถูกล้ม ไป เพราะหากถูกล้มไปด้วยจะต้องถูกเรียกค่าเสียหาในการจัดการเลือก ส.ว.ใหม่ 1,300 ล้านบาท