ปชป. ชู ยกระดับคุณภาพหลักประกันสุขภาพ
"ประชาธิปัตย์" ยกระดับคุณภาพหลักประกันสุขภาพด้วยฐานข้อมูล "Big Data" ไม่เห็นด้วย ยุบรวม 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกล่าวในงานเสวนา เวทีมองไปข้างหน้า “พรรคการเมือง กับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะยกระดับคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้วยการนำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) แก้ปัญหารอคิวนาน ทำระบบส่งต่อคนไข้ราบรื่น ใช้ระบบการจัดการเพื่อสร้างความเป็นอิสระในเรื่องงบประมาณ การจัดการ และการกระจายอำนาจ
พรรคประชาธิปัตย์ มองไปข้างหน้า จากปัญหาขณะนี้ที่พบว่า 1. เราต้องการปรับปรุงคุณภาพบริการ ซึ่งแนวทางสำคัญอันหนึ่งที่จำเป็นจะต้องทำก็คือ การเอาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) กับเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ จะรวม หรือไม่รวมกองทุนก็ตาม ควรจะต้องรวมฐานข้อมูล เพื่อที่จะทำให้รัฐ หรือกองทุนที่บริหารเรื่องสุขภาพต่างๆ สามารถใช้ข้อมูลนี้แก้ปัญหาต่างๆ ของประชาชน เช่น ระยะเวลาที่ต้องมารอ ปัญหาการจ่ายยา หรือประเภทของยาที่มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ รวมถึงระบบการส่งต่อคนไข้
ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และการรวมข้อมูลเหล่านี้มาเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ไปรับบริการไม่ต้องเข้าคิวเป็นเวลานาน ได้รับการจ่ายยาที่เหมาะสม และมีระบบส่งต่อที่มีข้อมูลที่จะทำให้มีความราบรื่นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงการได้รับการดูแลกรณีฉุกเฉิน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ครอบคลุมและมีความลักลั่นอยู่
2. ถึงเวลาที่จะต้องมีหลักประกันเพิ่มเติมสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่าจะต้องได้รับการประกันว่าการเพิ่มขึ้นของงบประมาณนั้น ต้องไม่น้อยกว่าเงินเฟ้อ ไม่ไปขึ้นอยู่กับปัญหาฐานะการเงินการคลังของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะมีงบประมาณที่เพียงพอ
นอกจากนั้น สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการจะทำเพิ่มเติม คือ สิทธิ์ของกลุ่มต่างๆ ต้องได้รับการดูแลเป็นการเฉพาะมากขึ้น เราพูดถึงตั้งแต่ก่อนเกิด เรื่องไอโอดีน เรามีนโยบาย “เกิดปั๊บ รับสิทธิ์แสน” ผู้หญิง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแลการตรวจสุขภาพ สุขภาพจิตก็เป็นอีกเรื่องที่จะต้องมีการขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น ในการขยายสิทธิประโยชน์เหล่านี้ ระบบการบริหารก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วย
นอกจากจะไม่เอาซูเปอร์บอร์ดแล้ว ต้องให้ความเป็นอิสระมากขึ้นในการบริหารจัดการ และหลักการที่ควรจะมีตั้งแต่ต้น ซึ่งแม้เหมือนกับจะมี แต่ยังมีไม่เด็ดขาดก็คือ ในฐานะที่เป็นผู้ซื้อบริการ กับผู้ขายบริการ ต้องแยกออกจากกันอย่างชัดเจน กระทรวงสาธารณสุขยังคงมีบทบาทที่เข้ามาเกี่ยวข้องและทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือการขาดประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้นระบบที่จำเป็นอย่างมากก็คือ เรื่องกระจายอำนาจ เพราะการบริหารจัดการเงินควรที่จะให้อำนาจกับทางโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น ลงไปที่หน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลแต่ละโรงพยาบาล หรือเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลที่ส่งต่อกัน
ที่สำคัญจะต้องมีการทำงานเชื่อมโยงกับบริการในเชิงรุก และจะต้องนำเอาการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยทำงาน ก็คือทั้ง รพ.สต. อสม. ซึ่งเป็นระบบที่พรรคประชาธิปัตย์ให้การสนับสนุนมาตลอด วันนี้จะต้องทำงานในเชิงรุก เข้าไปดูแลคนติดบ้าน ติดเตียง จะต้องระดมกำลังให้ท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการจัดบริการเหล่านี้ ไม่ใช่ติดขัดปัญหากับ สตง. หรือการไม่ยอมกระจายอำนาจให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม
นอกจากนั้นบริการที่จะทำให้เกิดการทั่วถึง ก็ควรดึงคลินิกเอกชนเข้ามาอยู่ในกติกาที่จะสามารถช่วยจัดบริการให้กับประชาชนได้ ลดความจำเป็นในการเดินทาง ลดความยาวของคิวและเวลาที่ต้องเสียไป จนถึงทุกวันนี้ปัญหากติกาที่เกี่ยวข้องกับการดึงเอาหน่วยบริการเอกชนเข้ามายังมีอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้พรรคประชาธิปัตย์จะแก้โดยการนำเอาเทคโนโลยี เอาการรวมข้อมูล เอาระบบการจัดการที่สร้างความเป็นอิสระในเรื่องงบประมาณ การจัดการ และการกระจายอำนาจ มายกระดับคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นายอภิสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องสนับสนุนให้เป็นรัฐสวัสดิการ และยืนยันว่าไม่ใช่ประชานิยม พร้อมทั้งไม่เห็นด้วยกับการรวมกองทุนหลักประกันสุขภาพ ทั้ง 3 กองทุน เพราะอาจมีปัญหาในการบริหารจัดการ และการใช้สิทธิ์ของข้าราชการ โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวถึงประเด็นที่ประชาธิปัตย์มองถึงความท้าทายในอนาคตของระบบประกันสุขภาพ ว่า
1. ปัญหาเรื่องระบบการเงินการคลัง ถึงทุกวันนี้เรายังมีปัญหาปีแล้วปีเล่า ที่ สปสช. สำนักงบประมาณ และรัฐบาล ยังต้องมาต่อรองอยู่ตลอดเวลา และหลายปีที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามา ก็มีปัญหาว่าในที่สุดการจัดสรรงบประมาณไม่ได้เป็นไปตามที่ สปสช. คิดว่ามีความจำเป็น การปรับปรุงกติกาของการจัดสรรงบประมาณนี้ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
ส่วนระบบอื่นที่มีอยู่อีก 2 ระบบนั้น ในมุมมองของประชาธิปัตย์ อยากยืนยันว่า เช่น มาตรฐานการรักษาพยาบาล หรือคุณภาพของยา ต้องเท่าเทียมกัน แต่ประเด็นการรวมกองทุนนั้น ประชาธิปัตย์มีข้อคิดที่ต่างออกไป อย่างเช่น กรณีประกันสังคม พรรคฯ มองว่า คนที่อยู่ในระบบประกันสังคมคือคนที่เสีย 2 ต่อ เสียทั้งภาษีเพื่อมาดูแลระบบของทุกๆ คนอยู่แล้ว และยังเสียเงินสมทบเข้าไป รวมทั้งเงินส่วนหนึ่งที่อยู่ในกองทุนนี้ก็เป็นเงินที่ได้เสียไปแล้ว
ฉะนั้นสิ่งที่ประชาธิปัตย์อยากนำเสนอก็คือ เราควรจะเปิดโอกาสให้คนในระบบกองทุนประกันสังคมตัดสินใจว่าเขาอยากอยู่ในระบบนี้ต่อหรือไม่ ถ้าเขาไม่อยากจะเสียเงินสมทบก็ให้เขาออกมาอยู่กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ถ้าเขายังมีความประสงค์อยู่ต่อ ก็ให้สมทบเงิน และระบบนี้ก็สามารถแข่งขันกันได้ เพียงแต่มาตรฐานพื้นฐานของการรักษาพยาบาลกับคุณภาพยาต้องเท่าเทียมกัน
ส่วนกรณีของราชการ มองว่าคนที่เข้ามารับราชการบนเงื่อนไขที่คิดว่าเขาจะได้รับสิทธิ์นี้ ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลง ควรจะเริ่มต้นจากคนที่เข้ารับราชการใหม่ และต้องพูดตามความเป็นจริงว่า คนจำนวนมากที่ตัดสินใจเข้ามารับราชการนี้ยอมที่จะได้เงินเดือนต่ำกว่าถ้าเขาไปอยู่ภาคเอกชน เพื่อที่จะแลกกับสวัสดิการนี้ ในต่างจังหวัดเราจะพบครอบครัวจำนวนมากที่พ่อแม่คิดอย่างนี้ แล้วพยายามสนับสนุนให้ลูกเข้ารับราชการ เพราะฉะนั้นในส่วนของพรรคฯ มองว่า ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ก็ต้องมีการชดเชยในส่วนของคนที่เป็นข้าราชการว่าสิทธิ์ที่เขาคิดว่าเขาพึงจะได้นี้ แล้วเราไปเอาออกมาจากเขา เขาจะได้รับการชดเชยอย่างไร
ประเด็นหลักที่อยากย้ำก็คือ เราอย่าไปมองว่ารวมกองทุน ถ้าเราคิดว่าจะมาสร้าง หรือยกระดับมาตรฐานให้ดีขึ้น เพราะสิ่งที่เกรงก็คือ ถ้าเรารีบไปสู่การยุบกองทุน กลับมองว่าไม่แน่ใจว่าถ้าบริหารจัดการในแบบปัจจุบันแล้ว คุณภาพของคนในระบบหลักจะดีขึ้น แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่หลายคนเคยได้จากระบบราชการก็ดีอาจจะเสื่อมถอยลง นั่นไม่ควรจะเป็นเป้าหมาย ประเด็นหลักก็คือต้องหาเงินมาสนับสนุนให้เพียงพอ
ที่สำคัญก็คือ ระบบสวัสดิการที่มาจากภาษี เรายังไม่ได้พูดกันเลยว่า ระบบภาษีนี้เป็นธรรมหรือไม่ เพราะขณะนี้ภาษีของเรามีลักษณะถดถอยค่อนข้างมาก ถ้าเราพยายามหาเงินให้พอ แต่สุดท้ายเราต้องไปสู่ระบบ VAT 20% ก็ไม่เป็นประโยชน์ในแง่ของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตรงกันข้ามในแง่ของภาษีเงินได้ กลายเป็นว่ามนุษย์เงินเดือนไม่ได้มีรายได้มาก ซึ่งข้าราชการส่วนใหญ่ก็อยู่ในกลุ่มนี้ ก็เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะถูกหัก ณ ที่จ่าย แต่คนที่มีรายได้สูงจริงๆ รวยจริงๆ กลับมีช่องโหว่ช่องว่างในการที่ไม่ต้องเสียภาษี โดยได้รับสิทธิ์ยกเว้นต่างๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้คือโจทย์ที่ประชาธิปัตย์มองว่าสำคัญในการสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ
ส่วนกรณีของโรงพยาบาลเอกชนนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเข้าไปควบคุม เพราะกฎหมายปัจจุบันนี้อ่อนเกินไปที่ให้เพียงแค่แจ้งค่าบริการนั้นมันไม่เพียงพอ สำคัญก็คือในแง่ของการบริหารทรัพยากรในภาพรวมทั้งหมด เรามีความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายที่เชื่อมโยงกับเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ ประชาธิปัตย์ก็เป็นผู้ที่สนับสนุนระบบของ สสส. ระบบของสมัชชาสุขภาพ ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และในช่วงที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เราก็มีความชัดเจนในการเคารพสิ่งที่ปรากฏอยู่ในธรรมนูญสุขภาพ ก็คือการไม่ให้รัฐบาลไปสนับสนุนธุรกิจด้านการรักษาพยาบาลและสุขภาพ เพราะนั่นจะเป็นตัวที่สร้างความเหลื่อมล้ำ และดึงทรัพยากรออกไปจากบริการของภาครัฐ
ดังนั้น การลดความเหลื่อมล้ำ สำหรับพรรคฯ ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องยืนยัน เช่นเดียวกันกับกระบวนการพัฒนาทั้งหมด เรามีความจำเป็นที่จะต้องพูดให้ชัด ประชาธิปัตย์ก็บอกว่า วันนี้คุณภาพชีวิตของคน ความก้าวหน้า ความเป็นอยู่ของผู้คนทางเศรษฐกิจ จะไปผูกติดกับตัวเลข GDP อีกต่อไปไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นตัวสะท้อนที่ดีอีกต่อไป เพราะฉะนั้นนโยบาย กระบวนการที่พรรคฯ ทำอย่างสมัชชาสุขภาพขึ้น ก็เพื่อที่จะให้นโยบายไม่ใช่เฉพาะด้านสาธารสุข แต่นโยบายสาธารณะทุกมิติจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาวะของผู้คน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งระบบเหล่านี้จะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดที่ทำให้ประเทศเดินหน้าได้