ชพน. แนะแก้เหลื่อมล้ำเริ่มจากภาคเกษตรกรรม
ชพน. แนะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ให้เป็นธรรม เริ่มจากภาคเกษตรกรรม
ผู้สื่อข่าวรายว่า เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 62 ที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดเวทีสัมมนา “บทบาทพรรคการเมืองกับการลดความเลื่อมล้ำทางสังคม” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ซึ่งพรรคการเมือง 10 พรรค ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำในสังคม
นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวเสนอความคิดเห็นตอนหนึ่งว่า สังคมใดก็ตามที่มีความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงความเหลื่อมล้ำทั้งทางรายได้และทางความมั่งคั่ง ยิ่งความเหลื่อมล้ำมากเท่าใดก็จะก่อให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างมากขึ้นเท่านั้น และย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านอื่นๆ ตามมาอีกด้วย เช่น ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา และความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงสินค้าและบริการสาธารณะต่างๆ เป็นต้น
ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวอีกว่า ประเทศไทยของเราปัจจุบันมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากถึง 21 เท่า ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก หนทางหนึ่งในการกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมลงมา คือการเพิ่มรายได้ให้แก่คนจนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ซึ่งปัญหาใหญ่ของเกษตรกรก็คือปัญหาเรื่องน้ำที่ใช้ในการเกษตร เพราะเกษตรกรมักประสบกับปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถได้รับผลผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามฤดูกาล จนในที่สุดถึงกับต้องประสบกับปัญหาของการขาดทุน เป็นหนี้เป็นสินอยู่เรื่อยมา มีเกษตรจำนวนไม่น้อยที่จำต้องขายที่ทำกินของตนเองไปเพื่อใช้หนี้ และต้องเปลี่ยนจากการเป็นเจ้าของที่ดินมาเป็นผู้เช่าที่ดินทำกินแทน ดังนั้น พรรคชาติพัฒนาเห็นว่าการแก้ปัญหาของเกษตรกรในระยะยาวที่ต้องดำเนินการ มีแนวทางการแก้ปัญหาอยู่ 5 ประการ คือ
ประการแรก การแก้ปัญหาเรื่องน้ำที่ใช้ในการเกษตร รวมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ถ้าตราบใดก็ตามเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้สำเร็จ เราก็สามารถแก้ความยากจนได้ รัฐต้องลงทุนด้านการพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำหลักและแหล่งน้ำย่อยของประเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างพอเพียงในการเกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี แม้ว่าจะเป็นการลงทุนมหาศาลก็จำเป็นต้องทำ เพื่อการแก้ปัญหาให้แก่คนทั้งประเทศในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน
ประการที่สอง การปรับปรุงคุณภาพของดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะแก่การเกษตรกรรมอย่างจริงจัง โดยใช้องค์ความรู้ของศาสตร์พระราชาที่ล้นเกล้า ร.9 ทรงวิจัยคิดค้นมาให้แล้ว
ประการที่สาม เราต้องส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์กันอย่างกว้างขวางจริงจังเป็นรูปธรรม เพราะนอกจากจะเป็นการประหยัดเงินตราที่ต้องซื้อปุ๋ยมาจากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการรักษาคุณภาพของดินให้คงมีความสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลาอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย รวมทั้งผลิตผลที่ได้ก็มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งพืชผักอินทรีย์ทั้งหลายกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก และมีมูลค่าสูงกว่าผลิตผลที่ปลูกด้วยวิธีปกติ
นอกจากนั้น ประการที่สี่ สำหรับเกษตรกรที่มีความพร้อมก็ควรส่งเสริมให้ทำการเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งที่ใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เข้ามาช่วย โดยเฉพาะผักหรือผลไม้ที่มีราคาแพง เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรให้มากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง
ประการที่ห้า ส่งเสริมให้มีการทำวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอย่างเป็นรูปธรรม ที่สามารถผลิตสินค้าอาหารสำเร็จรูปประเภทต่างๆ จากผลิตผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่รับประทานตามปกติ ขนม ของขบเคี้ยว อาหารว่าง และอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งอาหารสำหรับคนป่วยเฉพาะโรค เป็นต้น ออกสู่ตลาดทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น และนำรายได้เข้าสู่ประเทศ เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นและมั่นคงขึ้น แทนการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรในรูปของวัตถุดิบ ซึ่งมีราคาถูก และมักมีราคาที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งมักถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว พรรคชาติพัฒนาเชื่อว่าฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรโดยรวมก็จะดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมา และจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้ในระดับหนึ่ง