ความคาดหวังการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง
"นิด้าโพล" เผยความคาดหวังการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง ส่วนใหญ่มองน่าจะดีขึ้น พร้อมเปิดความเห็นปชช.ต่อ 5 ด้านคาดหวัง เชื่อได้นักการเมืองเสียสละ-นายกฯมีความเป็นผู้นำ
วันที่ 19 มกราคม 2562 นางอัญชนา ณ ระนอง ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อความคาดหวังของประชาชนหลังเลือกตั้ง 2562 ในงานสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ มองเมืองไทย ให้ไกลกว่า ได้เลือกตั้ง ซึ่งจัดโดย ผู้เข้าเข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา ตามเทคนิคการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระหว่างวันที่ 10 - 14 มกราคม จากประชาชนตามการสุ่ม จำนวน 1,253 ตัวอย่าง
โดยผลสำรวจความคาดหวังประชาชน ด้านเศรษฐกิจ ความเห็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.09 คาดหวังจะได้รับการแก้ไขปัญหาปากท้องและหนี้สิน รองลงมา ร้อยละ 16.92 ส่งเสริมราคาสินค้า พืช ผลทางการเมือง, ร้อยละ 15.01 มีอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ และลดอัตราว่างงาน, ร้อยละ 13.25 ลดค่าครองชีพ, ร้อยละ 11.09 การค้าขาย และใช้สอยมีความคล่องตัว
ด้านการเมือง ความเห็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 25.30 คาดหวังว่านักการเมืองมีความเสียสละมีคุณธรรม, รองลงมา ร้อยละ 24.42 อยากได้นายกรัฐมนตรีที่มีความเป็นผู้นำและมีความสามารถบริหารประเทศ, ร้อยละ 14.45 คาดหวังต่อการปฏิรูปการเมือง และไม่มีความขัดแย้ง, ร้อยละ 12.21 อยากเห็นการเมืองเป็นประชาธิปไตย, ร้อยละ 11.97 คาดหวังต่อนักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ
ด้านกฎหมาย ความเห็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.73 คาดหวังต่อการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ รองลงมาร้อยละ 25.06 บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด, ร้อยละ 18.28 ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการร่างกฎหมาย, ร้อยละ 11.09 ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย
ด้านเกษตรกรรม ความเห็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.26 คาดหวังว่าราคาสินค้าเกษตรจะสูงขึ้น รองลงมาร้อยละ 14.60 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น, ร้อยละ 13.09 ไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง, ร้อยละ 12.05 มีแหล่งตลาดในการจำหน่ายสินค้าเกษตร, ร้อยละ 7.26 สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ทัดเทียมกับต่างประเทศ
ด้านการศึกษา ความเห็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 29.69 คาดหวังต่อการกระจายโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม รองลงมา ร้อยละ 23.78 คาดหวังต่อการพัฒนาครู, ร้อยละ 21.55 คาดหวังต่อโครงการเรียนฟรี จนจบปริญญาตรี, ร้อยละ 10.62 พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เท่าเทียมต่างประเทศ
นอกจากนั้นการสำรวจดังกล่าวยังสอบถามถึงความคาดหวังด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรหลังเลือกตั้ง โดยความเห็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.79 ระบุว่าต้องกากรให้ประเทศสงบสุขและประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 22.11 ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย, ร้อยละ 13.88 ประเทศที่ไม่มีคอร์รัปชั่น โปร่งใส ตรวจสอบได้, ร้อยละ 8.14 ต้องการให้ไทยเป็นผู้ทำทางเศรษกิจของอาเซียน
และประเด็นความเห็นที่ความเป็นอยู่จะดีหรือไม่หลังเลือกตั้ง โดยเสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.47 คาดว่า น่าจะดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 24.42 ระบุว่า เหมือนเดิม และคำถามสุดท้ายต่อการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 98.08 ระบุว่า จะไปใช้สิทธิ์ขณะที่ ร้อยละ 1.36 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ส่วนร้อยละ 0.56 ระบุว่า ไม่ไป