ข่าว

ปัญหาการขนส่งสินค้าในกลุ่มประเทศCLMV มองผ่านเจ้าหน้าที่GIZ

ปัญหาการขนส่งสินค้าในกลุ่มประเทศCLMV มองผ่านเจ้าหน้าที่GIZ

08 ก.พ. 2562

 ปัญหาการขนส่งสินค้าในกลุ่ม"ซีแอลเอ็มวี" มองผ่านเจ้าหน้าที่GIZ "วิลาสินี ภูนุชอภัย" 

 

           การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 4 ประเทศ หรือซีแอลเอ็มวี ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศเหล่านี้มีชายแดนติดกับไทยทำให้สามารถขนส่งสินค้าและเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก ทว่าปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อระบบการขนส่งในประเทศเหล่านี้มีปัญหาทั้งสภาพรถบรรทุกที่เก่าใช้การมานาน พนักงานขับรถก็มีปัญหา ขณะที่สภาพถนนยังไม่มีมาตรฐานดีพอ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มมลพิษทางอากาศอันนำไปสู่ภาวะโลกร้อน

           จากปัญหาดังกล่าว “คม ชัด ลึก” จึงถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “คุณปลา” วิลาสินี ภูนุชอภัย ผู้ประสานงานโครงการ GIZ คีย์แมนคนสำคัญในการดำเนินโครงการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (CLMV) โดยการสนับสนุนขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ)  ที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้การปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ ซึ่ง GIZ ดำเนินงานอยู่ในประเทศต่างๆ ราว 120 ประเทศทั่วโลก 

 

+ โครงการนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

           ที่จริงโครงการนี้เราได้ดำเนินการในประเทศที่มีชายแดนติดกับไทยในกลุ่มภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำร่วมกับกระทรวงคมนาคมและสมาคมขนส่งของภาคเอกชนนในประเทศนั้น สถาบันแม่โขง ดำเนินกิจกรรมในเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพและความยั่งยืนระบบขนส่งในภูมิภาคอาเซียน เพราะมองว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ขับเคลื่อนได้หลายตัว แต่ระบบโลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่ง เป็นพื้นฐานหลัก เพราะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างคนกับคน ถ้าเราจะส่งสินค้าไปขายที่ประเทศเมียนมาร์ กัมพูชาหรือ สปป.ลาว เราก็ต้องใช้การขนส่งของประเทศเขา รถบรรทุกจากฝั่งเราเข้าไปไม่ได้ถนนฝั่งโน้นไม่ค่อยดี 

            บางประเทศก็ห้ามรถบรรทุกจากฝั่งไทยเข้าไป ต้องใช้รถทางฝั่งประเทศเขา ถ้าใครเคยไปประเทศเหล่านี้จะเห็นว่าในห้างซูเปอร์มาร์เก็ตของเขามีแต่สินค้าจากประเทศไทยเกือบทั้งนั้น เพราะคนของเขาชอบสินค้าจากไทย เป็นสินค้าดี มีคุณภาพแล้วก็ราคาไม่แพง แล้วของพวกนี้มันไปอย่างไร ก็ไปทางการคมนาคมขนส่งนี่แหละ ซึ่งเราก็มองว่าถ้าการขนส่งโดยเฉพาะเรื่องรถบรรทุกมีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาคแล้วก็เป็นผลดีต่อประเทศไทยเราด้วย ทาง GIZ ก็เลยขอเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปที่จะมาทำงานในโครงการนี้จำนวน 2.4 ล้านยูโร ระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ถึงมกราคม 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการขนส่งที่ยั่งยืนในประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 

+ มีการดำเนินกิจกรรมอะไรบ้าง

          ในปีแรกเราต้องไปสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลและสมาคมในประเทศนั้นๆ คนส่วนใหญ่มองว่าคนในย่านนี้มีบุคลิกคล้ายกัน แต่พอไปลงลึกในรายละเอียดต่างๆ แล้วต่างกันมาก จึงจำเป็นต้องไปสร้างความร่วมมือลงนามเอ็มโอยู สร้างกรอบความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมของเขา สมาคมขนส่งรถบรรทุกภาคเอกชนในประเทศนั้นๆ ปีแรกกิจกรรมหลักไปทำความเข้าใจกับเขาก่อนว่าเงินก้อนนี้ทางอียูให้มาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงาน แต่ไม่รู้จะทำเซ็กเตอร์ไหน เรามองว่าภาคการขนส่งนี่แหละสำคัญ เราถึงเลือกเซ็กเตอร์นี้  พอมาดูในเซ็กเตอร์นี้ปัญหามันเยอะมาก 1.รถเก่าอายุมากกว่า 10-15 ปี ส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกมือสองจากอเมริกา จากจีน จากรัสเซีย 

           ปัญหาของรถเก่ามือสองอันดับแรกกินน้ำมันเยอะ ปล่อยควันดำ ปล่อยมลพิษ อย่าลืมว่าต้นทุนน้ำมันสูงถึง 40-60% ของต้นทุนทั้งหมด นอกจากรถบรรทุกที่เป็นฟิกคอร์สแล้ว ต้นทุนครึ่งหนึ่งจะเป็นค่าน้ำมัน ที่เหลือเป็นค่าคนขับรถ ค่าบำรุงรักษาดูแลรถ ถ้ามองในมุมกลับกันก็จะะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเอง ถ้าเขาใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพต้นทุนเขาก็จะลดลง รองลงมาเป็นเรื่องมลภาวะ ซีโอทู (CO2) ปัญหาโลกร้อนทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก  

           อีกอย่างที่อยากเน้นคือเรื่องของสินค้าอันตราย รถบรรทุกน้ำมัน รถแก๊ส ประเทศไทยเราทำมาหลายปีแล้ว จากกรณีรถแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรี หรือกรณีรถขนสารพิษระเบิดที่ อ.ตะกั่งทุ่ง จ.พังงา เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รัฐบาลไทยโดยกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญ มีการร่างกฎหมายโดยใช้มาตรฐานยุโรปเป็นแนวทาง จากตรงนี้เราก็ได้ไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ไปลงนามระดับอนุสัญญาภูมิภาค หลักๆ มี 2 เรื่อง คือลดพลังงานกับปรับปรุงข้อกฎหมาย ถ้าพลังงานลด ซีโอทูก็ลด เราไปฝึกอบรมให้คนขับรถบรรทุกในประเทศนั้นๆ โดยร่วมกับทางเอสซีจี สอนวิธีการขับรถให้ประหยัดน้ำมัน ลดมลพิษจากท่อไอเสีย 

          เคยถามเขาว่าเรียนรู้การขับรถได้อย่างไร เขาบอกว่าขับตามพ่อ ไม่ได้มาจากโรงเรียนสอนขับรถ ไม่เคยเข้ารับการฝึกอบรม รถบรรทุกไม่เหมือนรถจักรยานที่เรียนรู้จากพ่อแม่ก็ได้ แต่รถใหญ่มันไม่ใช่ ต้องมีทักษะเฉพาะ เช่นเวลาเปลี่ยนเกียร์ต้องเปลี่ยนที่รอบสูง อย่างนี้เป็นต้น เราก็เลยไปฝึกอบรมให้พวกเขาและลองตรวจวัดน้ำมันหลังจากอบรมแล้วว่าเขาประหยัดน้ำมันไปได้เท่าไร ปรากฏว่าประหยัดไปได้ 10-25 เปอร์เซ็นต์ ที่มีเป็นช่วงก็เพราะว่าบางประเทศก็ 10 บางประเทศก็ 15, 20 ประสิทธิภาพการใช้น้ำมันจะมากหรือน้อยมีปัจจัยอยู่ 3 ตัว คือ  สภาพรถเก่า พฤติกรรมคนขับ และสภาพถนน 

             รถเก่าจะเปลี่ยนเป็นรถใหม่ก็ยาก รถคันหนึ่งไม่ใช่ถูกๆ เราจึงมุ่งไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนขับอย่างเดียว ส่วนสภาพถนนเราก็เข้าไปทำอะไรไม่ได้ เป็นเรื่องของรัฐบาลในประเทศนั้นๆ เราก็เลยมาเน้นการแก้พฤติกรรมคนขับ ฝึกอบรมให้แก่พนักงานขับรถ โดยร่วมกับเอสซีจีไปสร้างครูฝึกต้นแบบไว้ในแต่ละประเทศ จากนั้นครูฝึกเหล่านี้ก็จะไปฝึกอบรมต่อให้แก่พนักงานขับรถคนอิื่นๆ ต่อไป

 + ทำไมมุ่งเป้ามาที่กลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 

             เพราะ GIZ มีโครงการต่างๆ อยู่แล้วในย่านนี้ แล้วกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็มีชายแดนติดกับประเทศไทย มีการเข้าออกของคนของสินค้าอยู่ตลอดเวลา แต่มาเลเซียยังยาก ส่วนฟิลิบปินส์ อินโดนีเซีย ก็เป็นเกาะ จึงค่อนข้างยาก ก็มามุ่งเป้าที่กลุ่มประเทศในอนุภาคลุ่มน้ำโขงก่อน ถามว่าแต่ละประเทศมีพฤติกรรมเหมือนหรือต่างกันอย่างไร จากการที่เราลงพื้นที่ 3 ปีพบว่าคนแต่ละชาติไม่เหมือนกันเลย อย่างเมียนมาร์เป็นคนมีวินัยมาก แต่สภาพถนนไม่ค่อยดี ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ซึ่งกระทรวงค่อนข้างให้ความสำคัญ คนขับรถเมียนมาร์ค่อนข้างมีวินัย เอาง่ายๆ จัดอบรม 4 ประเทศ เมียนมาร์ไม่เคยขาด ไม่มีคนมาสาย ทำตามคำสั่ง สั่งปิดโทรศัพท์ในห้องเรียนก็ปิด สั่งฝึกอะไรฝึก

+  ประเทศใดถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด

            ยอมรับว่าใน 4 ประเทศนี้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดก็คือเมียนมาร์ เราเข้าใจว่าเขาเพิ่งเปิดประเทศก็พยายามรีบเพื่อจะให้ทันเพื่อนบ้าน ส่วนโครงการจะสำเร็จได้ เราก็มองว่าต้องให้ทางรัฐบาลให้ความสำคัญ กฎหมายการขนส่งของเมียนมาร์ที่ออกได้ 6 ฉบับก็เพราะว่าเขามาก๊อบปี้ของไทยไป แต่ว่าไม่ได้ก๊อบทั้งดุ้นนะ เขาเอาไปดัดแปลงเพื่อให้เหมาะกับสภาพบ้านเมืองเขา เราเลยมองว่าเขามีความตั้งใจ ซึ่งถ้ารัฐบาลเอาด้วยมันทำได้หมด ถึงกฎหมายจะล่าช้าอย่างไร ถ้ารัฐบาลไม่อนุมัติเราก็ทำไม่ได้ ไทยใช้เวลา 5 ปีออกกฎหมาย เมียนมาร์ใช้เวลาปีเดียวจบ

             ส่วนกัมพูชาตอนแรกช้ามาก คือเน้นเรื่องขอเงิน เราก็ชี้แจงไปว่าโครงการไม่ได้ให้เป็นตัวเงินแต่เน้นพัฒนาบุคลากร พอปีที่สองเขาเห็นเราทำเป็นประโยชน์เขาก็เอาด้วย แต่ละประเทศมีความเด่นความด้อยต่างกัน ส่วนหนึ่งเราก็มองว่าในแต่ละประเทศเขาก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของเขาไว้เราไม่ว่ากัน เราเคยโดนทางสปป.ลาวต่อว่าทำไมกฎหมายไทยแข็ง ทำให้รถบรรทุกเขาเข้ามาไม่ได้ ก็ต้องคิดถึงใจเรา เพราะรถคุณเก่า รถบรรทุกไทยบางพื้นที่ก็เข้า สปป.ลาวไม่ได้ เพราะสภาพถนนไม่ดี

 

+ โครงการนี้ประเทศไทยได้อะไร

           เราไม่ได้ให้น้ำหนักประเทศไทยเท่าไร เพราะเรามองในย่านนี้ไทยเป็นพีั่ใหญ่ในเรื่องรถบรรทุก เรื่องกฎหมาย แต่สิ่งที่เห็นก็คือว่าไทยต้องสนับสนุนการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราจะอยู่คนเดียวไม่ได้ ไทยได้ทำการค้าขายขนส่งสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้ปีหนึ่งไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนล้าน ในห้างกัมพูชา เมียนมาร์ หรือ สปป.ลาว แม้กระทั่งเวียดนาม ก็มีแต่สินค้าจากไทย เพราะคนลาว คนเมียนมาร์ คนกัมพูชา ชอบใช้สินค้าของไทย