กลาโหมกางข้อมูล "งบกองทัพ"
กห.กางข้อมูล"งบกองทัพ"ถูกตัดช่วงวิกฤติศก. ส่งผลอาวุธเสื่อมสภาพ-ไม่มีงบฯฝึก-ต้องกลับมาพัฒนาให้พร้อมรับภัยคุกคาม ไร้นัยพิเศษ อัตราการเพิ่มไม่ต่างจากรบ.ยิ่งลักษณ์
วันที่ 20 ก.พ. ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงชี้แจงงบประมาณกระทรวงกลาโหม ภายหลังจากที่หลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายตัดงบประมาณเหล่าทัพว่า กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานความมั่นคง ที่มีบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม 2551 ทั้งในด้านการป้องกันประเทศ และการรักษาความมั่นคงภายใย การพิทักษ์รักษาสถาบันพระมทหากษัตริย์ พิทักษ์รักษาอธิปไตยของชาติ พัฒนาประเทศ และช่วยเหลือประชาชน ซึ่งขนาดของกองทัพก็เป็นไปตามสภาพของภัยคุกคาม และ สถานการณ์ในช่วงนั้นๆ ตามแต่รัฐบาล และสังคมเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้กระบวนการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหมไม่แตกต่างจากกระทรวงอื่น ต้องให้ความเห็นชอบและเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนหรือซ่อนเร้น โดยกระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นอันดับ 4 รองจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง
พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า เดิมงบประมาณทั้งประเทศวงเงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท ถึงปัจจุบันเพิ่มเป็นจำนวน 3 ล้านล้านบาท ซึ่งการจัดทำงบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ 2536 ถึง 2541 อยู่ที่ 12.7% ของประเทศแต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็ถูกลดจนเหลือเพียง 6.5 ถึง 6.3% แต่อย่างไรก็ตามหลังปี 2549 งบประมาณได้เพิ่มเป็น 7.38% จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังอยู่ที่ 227,126 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.57 % ของงบประมาณประเทศ โดยปี 2549-2562 ก็อยู่ที่ประมาณ 7.59 % ไม่ต่างจากยุคของรัฐบาล นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการเติบโตยังคงอยู่ที่เกณฑ์ 7% ซึ่งเป็นปกติไม่มีนัยยะพิเศษใด ทั้งนี้ ช่วงเกิดวิกฤติจนงบประมาณกระทรวงกลาโหมถูกปรับลดลงเหลือเพียง 6% จนทำให้ไม่มีงบประมาณในการฝึก งบประมาณในการใช้น้ำมัน ต้องใช้กระสุนสำรองในอัตราสงครามมาใช้ฝึก หรือแม้แต่การบำรุงยุทโธปกรณ์ทำให้ยุทโธปกรณ์เสียหายโดยเฉพาะนักบินเกิดวิกฤติสมองไหลเพราะไม่มีชั่วโมงบิน ซึ่งพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม ทราบเรื่องนี้ดีและเมื่อผ่านวิกฤติไปแล้วเป็นช่วงฟื้นฟูในปี 2549 ถึง 2551 ทำให้งบประมาณถูกปรับขึ้นมาเป็น 7.9%
พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า เมือเปรียบเทียบการจัดทำงบประมาณที่มีการเติบโตตาม ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ (จีดีพี) ตามแผนพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพที่ตั้งไว้ของประเทศไทย อยู่ในอันดับ 6 หรือ 7ของประเทศในอาเซียน โดยอันดับ 1 คือประเทศสิงคโปร์ บรูไนเวียดนาม มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งการพิจารณาแผนพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพจะเป็นการรับรองภัยคุกคามตามห้วงระยะเวลาต้องมียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยสมัย ป้องกันการสูญเสียอธิปไตย แต่ไม่ได้ทำมากเกินไปการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นการจัดหาที่เป็นไปได้และดำรงสภาพในการป้องกันประเทศได้ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งต้องสร้างความพร้อมรบให้เพียงพอต่อการปฏิบัติได้ทันทีเมื่อเกิดภัยคุกคาม ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม งบประมาณกระทรวงกลาโหม 49% เป็นงบรายจ่ายที่ให้กับบุคลากร อาทิ เงินเดือน สิทธิกำลังพล ด้านสวัสดิการของกำลังพล ซึ่งเป็นงบประจำอยู่แล้ว ส่วนอีก 20 % เป็นงบประมาณด้านการเตรียมกำลัง การพัฒนายุทโธปกรณ์ การจัดตั้งหน่วยใหม่ ซึ่งเป็นงบฯ ในการจัดหายุทโธปกรณ์ 14.75 % ซึ่งการจัดซื้อเป็นเรื่องของกองทัพในการผูกพันงบประมาณแต่ละปี เช่น โครงการเรือดำน้ำ ที่เป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพ รวมไปถึงการจัดหายุทโธปกรณ์เพื่อทดแทนของเก่าที่กำลังปลัดประจำการ เช่น รถถังเอ็ม 41 ที่ใช้มานานตั้งแต่ยุคสงครามโลก หรือ เฮลิคอปเตอร์ที่สหรัฐฯ ให้กับไทยมา 52 ลำที่ตอนนี้ใช้ได้แค่ 3 ลำ มีการซ่อมบำรุงแต่ก็มีสภาพเก่ามาก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุก่อนหน้านี้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดหาใหม่
"การจัดหายุทโธปกรณ์เป็นไปตามแผนพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพซึ่งจะประเมินภัยคุกคาม ต้องจัดหายุทโธปกรณ์เพื่อรบแล้วไม่แพ้ ไม่สูญเสียอำนาจอธิปไตย ซึ่งจัดหาตามเกณฑ์พื้นฐานความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ว่าปัจจุบันนี้ อาวุธของกองทัพยังไม่ครบตามอัตราจึงอยู่ระหว่างค่อยนำมาเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน พร้อมยืนยันว่างบของประเทศคือภาษีของประชาชน และทหารทุกคนก็เสียภาษีเช่นเดียวกัน อย่างผมก็ต้องเสียภาษีใน 1 ปี วงเงินที่ผมต้องเสียภาษีนั้นอยู่ในจำนวนประมาณ 2 เดือนของเงินเดือน จึงไม่อยากให้มองว่าทหารนำภาษีของประชาชนมาใช้ ทั้งนี้งบประมาณในสมัยพล.อ.ประยุทธ์นั้น อยู่ในกระบวนการที่สามารถตรวจสอบได้โปร่งใสมากขึ้นด้วยซ้ำ ตามพ.ร.บ.งบประมาณที่ออกมาใหม่ การจะใช้งบประมาณในโครงการใดเกินกว่า 1 พันล้านบาทต้องนำเข้า ครม. จัดหายุทโธปกรณ์ก็เป็นแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล" พล.ท.คงชีพ กล่าว
เมื่อถามว่า ตามนโยบายของพรรคการเมืองหากกระทรวงกลาโหมถูกตัดงบ 10 เปอร์เซ็นต์ จะส่งผลกระทบอะไรต่อกองทัพ พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า มิติความมั่นคงไม่ใช่เรื่องการป้องกันประเทศเพียงอย่างเดียว เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชนด้วย เนื่องจากกองทัพต้องมีงบประมาณในส่วนของช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติ และทุกภัยที่ไม่ได้เกิดจากสงครามปัจจุบันก็มีมากมาย แต่เราพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นของประชาชนทุกคน หากข้อเสนอเป็นประโยชน์เราก็พร้อมรับฟัง และอยากพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่อยากให้มีการพูดกับแบบลอยๆ ทั้งนี้หากนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ หรือพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยมีข้อมูลเสนอมาตนก็พร้อมรับฟัง
เมื่อถามถึงแนวคิดที่เสนอให้ยกเลิกการมีกองบัญชาการกองทัพไทย และตั้งเป็นฝ่ายกรมเสนาธิการแทน สามารถทำได้จริงหรือไม่ พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ตนอยากให้ผู้ที่เสนอมานั่งคุยกับตนมากกว่า ไม่อยากให้พูดแบบลอยๆ ผ่านสื่อมวลชน เพราะจะกระทบกับโครงสร้างความมั่นคงทั้งระบบ เรื่องนี้ไม่สามารถได้ทำได้ง่ายๆ เพียงวันเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทุกอย่างเป็นไปได้ แต่ต้องศึกษาให้ดี
เมื่อถามว่าทำไมพรรคการเมืองหลายพรรคจึงชูนโยบายตัดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม โดยไม่มีการพาดพิงกระทรวงอื่น พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า การที่ทหารเข้ามา เพราะประชาชนต้องการ ทุกอย่างมีที่มาที่ไป ตนอยากให้ไปถามเรื่องนี้กับนักการเมืองมากกว่า ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาที่ผ่านมาของบ้านเราอยู่ที่คนมากกว่า ดังนั้นคนต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามยืนยันว่ารัฐบาลพิจารณาทุกงบประมาณอย่างโปร่งใส และไม่มีมุบมิบ
สำหรับงบประมาณกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ปี 2557-2562 มีดังนี้ ปี 2557 ได้รับงบประมาณ 183,819 ล้านบาท ปี 2558 ได้รับงบประมาณ 192,949 ล้านบาท ปี 2559 ได้รับงบประมาณ 206,461 ล้านบาท ปี 2560 ได้รับงบประมาณ 213,544 ล้านบาท ปี 2561 ได้รับงบประมาณ 218,503 ล้านบาท และปี 2562 ได้รับงบประมาณ 227,126 ล้านบาท.