ระทึก ลำปางแผ่นดินไหวเป็นชุด แรงสุด 4.9
ระทึกแผ่นดินไหวลำปาง กว่า 15 ครั้งในวันเดียว ด้านชาวพะเยารีบหนีออกนอกบ้าน นักวิชาการชี้เป็นระลอกแผ่นดินไหวมาเป็นชุด ยังคาดการณ์ไม่ได้จะเกิดไหวครั้งใหญ่ตามมา
แผ่นดินไหวลำปาง พบรายงานกว่า 15 ครั้งในวันเดียว แรงสุด 4.9 แม็กนิจูด ด้านชาวพะเยาผวาบ้าน-โรงรถสั่นโคลงเคลง-บ่อน้ำกระเพื่อม รีบหนีออกนอกบ้าน นักวิชาการชี้เป็นระลอกแผ่นดินไหวมาเป็นชุด ยังคาดการณ์ไม่ได้จะเกิดไหวครั้งใหญ่ตามมา แนะประชาชนแถบรอยเลื่อนพะเยาเตรียมความพร้อม
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องกว่าสิบครั้งอย่างผิดปกติ บริเวณ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่ดังกล่าว ว่ามีขนาด 2.0-4.9 แม็กนิจูด และเกิดขึ้นกว่า 15 ครั้งในช่วงเที่ยงต่อเนื่องถึงช่วงบ่ายของวันนี้ (20 ก.พ.) เฉพาะช่วงเวลาเที่ยงถึงสี่โมงเย็นเกิดแผ่นดินไหวถึง 14 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งที่ 14 เกิดขึ้นเมื่อเวลา 16.05 น. ระดับ 4.9 แม็กนิจูด
รายงานระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งแรก เวลา 12.01 น. ขนาด 2.1 เวลา 12.17 น. ขนาด 3.3 เวลา 12.28 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พะเยา ว่า เวลา 16.05 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวมีจุดศูนย์กลางที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ที่พิกัด ละติจูด 19.26 N ลองติจูด 99.10E ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 21 กิโลเมตร ความแรง 4.9 แม็กนิจูด ส่งผลให้มีแรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนในเขตลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน นานกว่า 5 วินาที สร้างความตกใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก
นางบัวลอย ธรรมโม อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 19 /1 หมู่ 14 ต.ท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา เล่านาทีเกิดแผ่นดินไหวว่า ขณะที่กำลังนั่งทำไม้กวาดอยู่ก็รู้สึกว่าแผ่นไหว สังกะสีโรงจอดรถที่บ้านมีเสียงลั่นเปรี๊ยะๆ ในขณะที่ตัวบ้านและน้ำในบ่อน้ำข้างบ้านกระเพื่อมขึ้นลงจนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน จึงรีบวิ่งออกจากตัวบ้านไปอยู่กลางถนนบริเวณหน้าบ้าน เพราะกลัวว่ามันจะแรงขึ้นเรื่อยๆ จนแน่ใจว่าไม่มีการไหวแล้วจึงเดินเข้าบ้านแต่ก็ต้องเฝ้าระวังว่าจะเกิดไหวขึ้นมาอีกหรือไม่
ด้าน ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงแผ่นดินที่เกิดขึ้นครั้งนี้ว่า มีลักษณะเป็นการเกิดแผ่นดินไหวแบบต่อเนื่องเป็นระลอกหรือที่เรียกว่า “ระลอกแผ่นดินไหว”(earthquake swarm) การเกิดแผ่นดินไหวแบบนี้จะเกิดขนาดเล็กแต่มาเป็นชุดๆต่อเนื่องกันในบริเวณพื้นที่จำกัดและในห้วงเวลาสั้นๆไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ตามมาหรือไม่
“ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวแบบนี้หลายครั้งแล้ว เช่น แถวดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ หรือ แถวอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ที่บริเวณไหนกันแน่ และตอนที่เกิดเมื่อเวลา 16.15 น.ก็ค่อนข้างใหญ่ถึงระดับ 4.9 อยากให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และมีความพร้อมในการดูแลตัวเอง เพราะแผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร เกิดแรงแค่ไหน วิธีดีที่สุดคือเฝ้าระวังและมีความเข้าใจว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นจะมีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไร”ผศ.ดร.ภาสกร กล่าว
ทั้งนี้ "กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา"ถูกจัดเป็นรอยเลื่อนที่ยังมีพลังรวมระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด ตั้งแต่ เชียงราย พะเยา ลำปาง โดยรอยเลื่อนนี้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 เป็นแผ่นดินไหวขนาด 5.1 ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ อ.พาน จ.เชียงราย สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน โรงเรียน วัด โรงพยาบาล โดยแรงสั่งสะเทือนรับรู้ได้ถึงอำเภอที่อยู่ใกล้เคียง และเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติได้แจ้งเตือนการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.1 ที่บริเวณ อ.พาน เช่นกัน โดยแรงสั่นไหวรับรู้ได้ถึงบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ