สมเด็จพระเทพฯ ทรงแนะจัดพิธี "บรมราชาภิเษก" ให้ราบรื่น
รัฐบาลตั้งงบ 1,000 ล้านบาทจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก-พสกนิกรทั่วประเทศตั้งตารอมีส่วนร่วม
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 1 มีนาคม คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ “งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” นำโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายพิธีการ เป็นประธาน และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และ นางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมแถลงข่าวงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1/2562 ห้องประชุม 1 อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ
นายวิษณุ เครืองาม
ในฐานะประธานฝ่ายพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นายวิษณุ เครืองาม กล่าวว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะมีขึ้นในอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้านี้ ถือว่าเป็นพระราชพิธีสำคัญที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งไม่ต้องมีการก่อสร้างถาวรวัตถุใดๆ เพียงแต่เอาโบราณวัตถุเดิมที่มีอยู่มาบูรณะซ่อมแซมใหม่ ส่วนใหญ่หนักในเรื่องของขั้นตอนพิธี ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ตามพระราชประเพณี แบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ พระราชพิธีเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย
สำหรับฝ่ายจัดพิธีการจะต้องมีการเตรียมการต่าง ๆ ดังนี้ 1. เตรียมเรื่องตราสัญลักษณ์ ซึ่งจะใช้ประทับลงบนคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงมอบให้ กทม.นำไปประดับตกแต่งสถานที่และเส้นทางเสด็จฯ ตลอดจนธงพระราชพิธีที่มีพื้นสีเหลืองและตราสัญลักษณ์อยู่ตรงกลาง และจัดทำเป็นเข็มที่ระลึก ซึ่งจะจัดทำเป็นเข็มพระราชทานแก่ข้าทูลละอองทุลีพระบาท และสำนักนายกรัฐมนตรีจะขอพระราชทานพระราชานุญาตนำไปจัดทำเป็นเข็มที่ระลึกเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป 2. เตรียมเลือกพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อให้มีการใช้ให้เหมือนกันทั้งประเทศ 3. เตรียมน้ำสำหรับใช้พิธีสรงมุรธาภิเษก โดยจะมีพิธีพลีกรรมวันที่ 6 เมษายน 4. เตรียมน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัด สำหรับใช้เป็นน้ำอภิเษก จะมีพิธีตักน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์พร้อมกันในวันที่ 6 เมษายน โดยวันที่ 8-9 เมษายน จะเชิญน้ำไปจัดเก็บในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละจังหวัด จากนั้นแต่ละจังหวัดจะเชิญไปเก็บไว้ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยจัดเก็บในคนโทตราสัญลักษณ์
5.ตระเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้แผ่นทองคำสำหรับใช้จารึกพระสุพรรณบัฏ แกะดวงพระราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร 6. เครื่องมือเครื่องใช้ก่อสร้างมณฑปพระกระยาสนาน ซ่อมเกยสำหรับที่จะเสด็จลงเสลี่ยงหรือพระราชยานก้าวลงประทับแล้วเสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถ 7. การเตรียมเกี่ยวกับขบวนพยุหยาตรา ซึ่งในสถลมารคจะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 4 ชั่วโมง 30 นาที ฝ่ายทหารได้มีการเตรียมการในส่วนนี้แล้ว ส่วนชลมารคซึ่งจะมีช่วงปลายเดือนตุลาคม โดยใช้เรือในพระราชพิธี ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 องค์ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ในรัชกาลที่ 9 และเรือพระราชพิธีอีก 48 ลำ ใช้ฝีพายจำนวน 2,200 นาย โดยขบวนพยุหยาตราชลมารคจะเริ่มที่ท่าวาสุกรีไปยังวัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร และจะมีการเห่เรือตลอดเส้นทาง ระยะทาง 4 กิโลเมตร
ที่สำคัญคือการประชุมตระเตรียมคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าเฝ้าฯทูลละอองทุลีพระบาทในพิธีต่าง ๆ อาทิ พิธีในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พิธีในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พิธีในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พิธีเสด็จออกมหาสมาคมที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท และภายในพระอารามหลวงทั้ง 3 แห่ง เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านสถานที่
นอกจากนี้ วันที่ 6 พฤษภาคม เสด็จออกสีหบัญชร ประชาชนสามารถเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาทฯ ถวายพระพรชัยมงคลได้ที่ถนนสนามไชย สวนสราญรมย์ ศาลฎีกา ไปจนถึงสนามหลวง คาดว่าจะมีประชาชนนับแสนนับล้านร่วมเฝ้าชื่นชมพระบารมี ซึ่งกรุงเทพมหานคร จะติดตั้งจอแอลอีดีเพื่อให้ประชาชนได้รับชมการถ่ายทอดสดอย่างพร้อมเพรียงกัน หลังจากนี้ จะเสด็จรับคณะทูตถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นการเสร็จพระราชพิธีเบื้องกลาง
ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวว่าส่วนเรื่องการเชิญพระราชอาคันตุกะ ได้ตกลงกันว่าจะไม่มีการเชิญ เพราะพระองค์ท่านตรัสว่าไม่อยากให้มีการรบกวน แต่หากประเทศใดจะเดินทางมาให้แจ้งความประสงค์มา จะถือเป็นแขกของรัฐบาล เราจะดูแลต้อนรับอำนวยความสะดวกอย่างดี
นอกจากนี้ นายวิษณุ กล่าวอีกว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะนำให้ระมัดระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้คนระหว่างพิธีต่างๆ เนื่องพระราชวงศ์หลายพระองค์ รวมทั้งบุคคลสำคัญต่าง ๆ หลายท่านเป็นผู้สูงอายุ การเดินจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งเป็นการเปลี่ยนจุดที่ละเอียดอ่อน จะต้องเป็นฝ่ายรอเฝ้าฯ ก่อนหรือตามไปเฝ้าฯ ทีหลังต้องได้จังหวะจะโคนที่พอดีสำหรับพระราชพิธีครั้งนี้รัฐบาลตั้งงบไว้ 1,000 ล้านบาท จะถูกนำมาใช้อย่างเป็นประโยชน์ ใช้ไปแล้วจะอยู่คงทนถาวร ไม่สิ้นเปลือง เช่นในการปรับปรุงเส้นทางต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคตด้วย รวมถึงจะมีการนำสายไฟลงใต้ดิน ตลอดเส้นทางเสด็จฯ เลียบพระนครระยะทาง 7 กิโลเมตร และการซ่อมแซมเรือในพระราชพิธีที่เราไม่ได้ซ่อมมากว่า 10 ปี
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครรู้สึกภาคภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีสำคัญนี้ โดยงานที่ได้รับมอบหมายในครั้งนี้คือการเตรียมการขบวนอัญเชิญน้ำอภิเษก การจัดและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทฯ ในวันที่ 5 พฤกษภาคม อันเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเลียบพระนครด้วยขบวนพยุหยาตราสถลมารค จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเสด็จฯ ไปยังวัด บวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และในวันที่ 6 พฤษภาคม ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธยสวรรค์ปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ซึ่งขณะนี้ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการไปแล้วทั้งหมด 4 เรื่องด้วยกัน
ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงภูมิทัศน์ เส้นทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯ เลียบพระนคร ในวันที่ 4 พฤษภาคม โดยได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมพื้นผิวการจราจร เรื่องไฟฟ้าแสงสว่างระบบการสื่อสาร รวมไปถึงการตีเส้นเครื่องหมายจราจรในจำนวนกว่า 20 เส้นทาง ซึ่งขณะนี้คืบหน้าไปแล้วกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเรื่องสายไฟฟ้าและระบบติดต่อสื่อสารต่างๆ มีความก้าวหน้ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จทุกอย่างภายในวันที่ 15 มีนาคม, 2.ปรับปรุงซุ้มเฉลิมพระเกียรติเนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้ดำเนินการปรับปรุงถนนราชดำเนินนอก ถนนราชดำเนินกลาง และตรงบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน รวม 32 ซุ้ม และซุ้มเฉลิมพระเกียรติทั่วกรุงเทพมหานคร จำนวน 106 ซุ้ม พร้อมประดับธงตราสัญลักษณ์ที่เสาจำนวน 4,000 ชุด ขณะนี้ได้มีการดำเนินการไปแล้วและคาดว่าจะเสร็จไม่เกินเดือนมีนาคม
3.การประดับตกแต่งต้นไม้ ซุ้มดอกไม้สด ดอกไม้แห้งและอื่นๆ จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม โดยเฉพาะดอกไม้สดซึ่งจะยังคงความสดและสวยงามไปจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม และ 4.การซ่อมแซมโบราณสถาน 12 แห่ง รอบเส้นทางเสด็จฯ เลียบพระนคร ซึ่งได้มีการทาสีกำแพงโบราณ ทาสีอาคารอนุรักษ์ ไปแล้วซึ่งทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้
ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ยังกล่าวเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ที่มีอาคารบ้านเรือนอยู่ตามเส้นทางเสด็จเลียบพระนครตกแต่งบ้านเรือนให้เรียบร้อยมีความสะอาดสวยงามตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน และตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระฉายาลักษณ์และเครื่องราชสักการะตามเส้นทางเลียบเสด็จพระนคร ไว้ที่หน้าบ้าน สำหรับกรุงเทพได้จัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระฉายาลักษณ์และเครื่องราชสักการะไว้จำนวน 25 จุด โดยขณะนี้ทางสำนักนายกรัฐมนตรีกำลังทำเรื่องถึงสำนักพระราชวังเพื่อขอพระราชทานพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการจัดทำโต๊ะหมู่บูชาให้เป็นรูปแบบเดียวกัน
ขณะที่ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า การรักษาความปลอดภัยและการจราจร งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขณะนี้ได้จัดทำร่างแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ยึดหลักดำเนินการอย่างสมพระเกียรติ ปลอดภัย และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติบูรณาการแผนปฏิบัติงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการถวายความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย กำหนดพื้นที่ปฏิบัติงาน ได้แก่ พื้นที่ชั้นใน พื้นที่ชั้นกลาง และพื้นที่ชั้นนอก กำหนด 6 โซน เพื่อให้ประชาชนชื่นชมพระบารมี โดยจะผ่านจุดคัดกรองโดยรอบพื้นที่ก่อนเข้าพื้นที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวต่อว่า ด้านการอำนวยความสะดวกการจราจร ช่วงพระราชพิธีเบื้องกลาง วันที่ 2-4 พฤษภาคม จะมีการปิดการจราจร พื้นที่ชั้นใน 8 เส้นทาง ได้แก่ ถนนราชดำเนินใน ถนนสนามไชย ถนนหน้าพระลาน ถนนหน้าพระธาตุ ถนนท้ายวัง ถนนหน้าหับเผย ถนนหลักเมือง ถนนสราญรมย์ นอกจากนี้ จะจัดจราจรเดินรถทางเดียวอีก 5 เส้นทาง จากนั้น วันที่ 5 พฤษภาคม เสด็จเลียบพระนคร จะยกระดับปิดการจราจร 27 เส้นทาง เพื่อรองรับประชาชนเฝ้ารับเสด็จ วันที่ 6 พฤษภาคมเสด็จสีหบัญชร จะลดระดับปิดจราจรเหลือ 17 เส้นทาง โดยจัดพื้นที่จอดรถรองรับประชาชนใน 4 มุมเมือง จำนวน 27 แห่ง ด้านทิศเหนือ ที่เมืองทองธานี ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ศูนย์ราชการ และสโมสรตำรวจ ทิศใต้ บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 4 เซ็นทรัลศาลายา เซ็นทรัลพระราม 2 ทิศตะวันออก บริเวณศูนย์การค้าเมกะบางนา ไบเทคบางนา และทิศใต้ บริเวณห้างเซ็นทรัลเวสเกต โดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถชัตเตอร์บัสรับ-ส่งสู่บริเวณใกล้พื้นที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 แห่ง ได้แก่ บ้านมนังคศิลา บ้านพิษณุโลก แยกวิสุทธิกษัตริย์ ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า และปากคลองตลาด เพื่อให้ประชาชนเดินเท้าต่อไปยังพื้นที่พระราชพิธีนอกจากเดินทางโดยรถแล้ว ประชาชนสามารถใช้ขนส่งระบบราง และทางน้ำได้ด้วย
ปิดท้ายที่ นางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก กรมประชาสัมพันธ์ได้จัดทำข้อมูลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรูปแบบออนไลน์ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.phralan.in.th มาจากคำว่าพระลานพระราชวังดุสิต ซึ่งสามารถสืบค้นข้อมูลงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ผ่านหนังสือสำคัญๆที่บรรจุในรูปแบบอีบุ๊ก 4 เล่ม คือ หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกฉบับภาษาไทย มี 192 หน้า มีตั้งแต่พระราชประวัติ ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอดีตมาถึงรัชกาลที่ 9, หนังสือพระราชพิธีฯ ฉบับภาษาอังกฤษ, หนังสือประมวลบทความเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และหนังสือประมวลองค์ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มี 143 หน้า ซึ่งเปิดตัวไปแล้วเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งมีเนื้อหาพิเศษถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 10 รวมถึงคลิปที่เกี่ยวข้องของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ 2.เพจเฟซบุ๊ก พระราชพิธีบรมราชพิเศษ พุทธศักราช 2562 มีเนื้อหาเช่นเดียวกับเว็บไซต์พระลาน และ3.คิวอาร์โค๊ตและกูเกิ้ลไดรพ์บรรจุข้อมูลต่างๆข้างต้นไว้เพื่ออำนวยความสะดวก
นางทัศนีย์ กล่าวอีกว่า ในการแถลงข่าววันนี้ยังถือเป็นการเปิดศูนย์สื่อมวลชนย่อย เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมถึง 26 เมษายน ณ อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ก่อนย้ายไปเปิดศูนย์สื่อมวลชนหลัก ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายนถึง 6 พฤษภาคม ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นอกจากนี้ ยังมีสายด่วนสอบถามข้อมูลงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โทร.1257 เปิดให้บริการ 10 คู่สาย อย่างไรก็ดี กรมประชาสัมพันธ์เตรียมสร้างความรู้ความเข้าใจพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแก่ประชาชน ให้เข้าใจความหมายและซาบซึ้งพระราชพิธีด้วยกัน