ว่าที่สมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ใหม่แห่งบัลลังก์เบญจมาศ
โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์
นับถอยหลังอีกแค่ 2 เดือนเท่านั้นที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระชนม์ 84 พรรษา จะทรงสละราชย์อย่างเป็นทางการในวันที่ 30 เมษายนนี้ ถือเป็นการสละราชสมบัติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในรอบกว่า 200 ปีของแดนอาทิตย์อุทัย
( AFP )
ถัดจากนั้นในวันรุ่งขึ้น เจ้าชายมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ พระราชโอรสองค์ใหญ่ก็จะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่
แม้ชาวญี่ปุ่นและประชาชนทั่วโลกต่างสนใจติดตามพระราชพิธีสำคัญยิ่งในครั้งนี้ แต่มีอยู่ไม่ใช่น้อยให้ความสนใจกับข่าวคราวของเจ้าหญิงมกุฎราชกุมารีมาซาโกะ พระวรชายาในเจ้าชายมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ ผู้ซึ่งจะขึ้นมาเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ใหม่
เนื่องจากตลอดช่วงกว่า 15 ปีที่ผ่านมา พระองค์มักจะเก็บองค์เงียบในพระราชวังโตกูที่กรุงโตเกียว เพื่อรักษาพระองค์จากพระอาการประชวรด้วยพระโรคที่เป็นกลุ่มอาการความผิดปกติในการปรับตัว ทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และปฏิกิริยาทางกายภาพได้ หากเผชิญกับแรงกดดันหรือความตึงเครียด อันเนื่องจากทรงสะสมความเครียดมานาน อีกทั้งกังวลพระทัยที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับราชประเพณีที่แสนเข้มงวดและเคร่งครัดได้ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติราชกิจได้มานานหลายปี
( Kyodo )
แต่ไหนแต่ไรมา สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศต่างนำเสนอข่าวเจ้าหญิงมาซาโกะในเชิงที่ค่อนข้างเห็นใจและให้กำลังใจพระองค์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ของราชสำนักที่คร่ำครึได้สมที่คนรุ่นใหม่ในยุคนั้นฝากความหวังไว้ว่าเมื่อก้าวเข้ามาเป็นสะใภ้หลวงแล้วพระองค์จะสามารถทลายกำแพงประเพณีโบราณที่กดขี่ผู้หญิง ในฐานะที่พระองค์ทรงมีภาพลักษณ์เป็นตัวแทนของผู้หญิงรุ่นใหม่ที่มากความสามารถ เคยทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและออกซ์ฟอร์ด อีกทั้งยังตรัสได้หลายภาษานอกจากภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสที่ตรัสได้คล่องแล้ว ยังสามารถรับสั่งภาษาเยอรมัน รัสเซีย และสเปน ในระดับมาตรฐานได้ อีกทั้งยังประสบความสำเร็จในวิชาชีพ เป็นถึงนักการทูตหญิง
( Kyodo )
แต่หลังการอภิเษกสมรสเมื่อปี 2536 ฝันของชาวญี่ปุ่นก็พลันสลาย พระองค์ไม่อาจจะเป็นตั๊กแตนที่หาญไปงัดไม้ซุงได้ ทรงเก็บตัวอยู่แต่ในพระราชวังดุจนกน้อยในกรงทอง ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปเยือนต่างประเทศดังใจหวัง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากราชประเพณีโบราณและค่านิยมของสังคมที่กดขี่ผู้หญิงว่าด้อยกว่าผู้ชาย ยิ่งในยุคสมัยนั้นยุคที่เจ้าหญิงไดอานาทรงโด่งดังเป็นขวัญใจของประชาชนทั่วโลกจนกลบรัศมีของสำนักพระราชวังบักกิ้งแฮมและพระสวามี เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมาร ทำให้คนหัวเก่าในแดนซากุระบานเช้าบานเย็นเกรงว่าเจ้าหญิงมาซาโกะจะทรงเป็น “เจ้าหญิงไดอานาแห่งแดนอาทิตย์อุทัย" จึงรีบตัดไฟแต่ต้นลมกีดกันไม่ให้พระองค์ทรงนำความรู้ความสามารถมาช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่บัลลังก์เบญจมาศ
จากสารพัดแรงกดดัน ทำให้ทรงกลายเป็นคนไม่มีปากมีเสียง และแทบจะไม่เคยตรัสกับประชาชนที่มาเข้าเฝ้าฯ นอกจากทรงแย้มพระสรวลให้เท่านั้น กระทั่งได้สมญาอย่างไม่เป็นทางการว่าเป็น “เจ้าหญิงผู้เงียบเชียบ”
( Kyodo )
นาโอทากะ คิมิซูกะ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยคันโต กาคูอิน ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องของราชสำนักอังกฤษให้ความเห็นว่า "เมื่อก้าวเข้ามาเป็นสะใภ้หลวงแล้ว ก็จะสูญสิ้นซึ่งเสรีภาพใดๆ ทั้งสิ้น” ไม่ใช่แต่ที่ญี่ปุ่นเท่านั้น ในราชสำนักส่วนใหญ่ในยุโรปก็มีสภาพเช่นเดียวกัน นั่นก็คือสะใภ้หลวงจะต้องปฏิบัติภารกิจสำคัญยิ่ง นั่นก็คือทำหน้าที่เป็นพระมารดาที่ต้องเลี้ยงดูพระโอรสพระธิดาให้ดีจนเติบใหญ่
เจ้าหญิงมาซาโกะก็ไม่มีข้อยกเว้น หลังจากทรงเป็นสะใภ้หลวงแล้ว ทรงต้องเผชิญกับแรงกดดันที่ยังไม่ทรงพระครรภ์ แรงกดดันนี้ทำให้พระองค์ถึงกับทรงแท้งคราวทรงพระครรภ์ครั้งแรก ต่อมาแม้จะมีพระประสูติการเจ้าหญิงไอโกะเมื่อปี 2544 แต่แรงกดดันก็ยังไม่สิ้น เพราะมีพระราชภารกิจสำคัญกว่า นั่นก็คือจะต้องมีพระโอรสเพื่อสืบต่อบัลลังก์เบญจมาศ เพราะตามกฎมณเฑียรบาลแล้ว รัชทายาทชายเท่านั้นที่จะขึ้นครองราชย์ได้
โชคดีที่แรงกดดันในเรื่องนี้ได้ผ่อนคลายลงมากตั้งแต่ปี 2549 เมื่อเจ้าชายฮิซาฮิโตะ พระโอรสในเจ้าชายอากิชิโน พระอนุชาในเจ้าชายนารุฮิโตะประสูติ และขณะนี้ทรงมีพระชันษา 13 ปีแล้ว
เนื่องในวันคล้ายวันประสูติครบ 55 พรรษา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา เจ้าหญิงมาซาโกะมีพระดำรัสอย่างตรงไปตรงมาว่า ขณะนี้อาการของพระองค์กำลังดีขึ้น ถึงแม้จะดีขึ้นช้าๆ แต่พระองค์ทรงมีความสุขที่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน และแม้ยังทรงรู้สึก ‘ไม่มั่นใจ’ ในเรื่องที่จะทรงขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินี แต่ทรงให้คำมั่นสัญญาจะทำหน้าที่จักรพรรดินีให้ดีที่สุด
“ถึงแม้ว่าข้าพเจ้ารู้สึกไม่มั่นใจนักในเรื่องที่ว่าจะสามารถมีส่วนช่วยได้อย่างไร... แต่ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าจะอุทิศทุกแรงกายแรงใจในการสนับสนุนเจ้าชายนารุฮิโตะ พระสวามีของข้าพเจ้า และจะทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนมีความสุข ข้าพเจ้าขอสัญญาว่าจะมุ่งมั่นในการรักษาสุขภาพของตัวเอง และอุทิศเวลาเพื่อประชาชนชาวญี่ปุ่น”
ริกะ คายามะ จิตแพทย์และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยริคเคียว ซึ่งเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับพระอาการประชวรของเจ้าหญิงมาซาโกะ เพิ่งเผยว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว เธอตกใจมากที่เห็นเจ้าหญิงมาซาโกะไปทรงฟังคอนเสิร์ตท่ามกลางผู้ชมจำนวนมาก พระองค์ปรบพระหัตถ์ให้อย่างมีความสุขและหันไปคุยกับคนข้างๆ ในจำนวนนี้รวมไปถึงเจ้าชายนารุฮิโตะ
“การแสดงออกของพระองค์ในวันนั้นมองดูเป็นธรรมชาติและเป็นปฏิกิริยาที่เห็นได้ชัด พอเห็นอย่างนั้นฉันรู้สึกได้ทันทีว่าพระองค์ทรงฟื้นจากพระอาการประชวรแล้ว”
( Kyodo )
ขณะที่ศาสตราจารย์กิตติคุณยูจิ โอตาเบะ แห่งมหาวิทยาลัยชิซูโอกะ และผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการของสำนักพระราชวัง กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มองว่า ปัญหาที่เจ้าหญิงมาซาโกะต้องเผชิญมานานก็เป็นปัญหาเดียวกับที่ผู้หญิงญี่ปุ่นในยุคสมัยนี้ต้องเผชิญเช่นกัน นั่นก็คือเรื่องของเพศสภาพและขนบธรรมเนียมโบราณที่ยังยึดมั่นสังคมชายเป็นใหญ่ตามคำสอนของขงจื๊อ
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นติดอันดับที่ 110 จาก 149 ประเทศ ในเรื่องของความเสมอภาคทางเพศจากการจัดอันดับของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัมเมื่อปีที่แล้ว ถือว่าอยู่ในอันดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศจี 7 ด้วยกัน และจากการผลการสำรวจของกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเมื่อปี 2560 ปรากฏว่ามีผู้หญิงแค่ 11.5% ที่ก้าวมาสู่ตำแหน่งระดับบริหารในบริษัทที่มีพนักงานอย่างน้อย 10 คน
( AFP )
คายามะให้ความเห็นว่าในฐานะจิตแพทย์ เธอเห็นคนไข้หญิงจำนวนมากมีสภาพเดียวกับเจ้าหญิงมาซาโกะที่ต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้มีลูกและมีตำแหน่งงานที่ก้าวหน้าขึ้น ในกรณีนี้ “เราถือว่าเจ้าหญิงมาซาโกะทรงเป็นสัญลักษณ์ของสังคมญี่ปุ่น”
ตลอดช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามหาทางคลี่คลายวิกฤติในกรณีที่ราชวงศ์นี้อาจจะไม่มีรัฐทายาทชายรุ่นใหม่ที่จะสืบทอดราชบัลลังก์เบญจมาศ โดยเมื่อปลายปี 2547 จุนอิชิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้ตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาเพื่อหาลู่ทางที่อาจจะต้องแก้ไขกฎมณเฑียรบาลเพื่อปูทางให้เจ้าหญิงสามารถขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดินีได้ แต่การเคลื่อนไหวนี้ก็ยุติลงเมื่อเจ้าชายฮิซาฮิโตะประสูติเมื่อปี 2549
กระนั้นโอตาเบะให้ความคิดว่า ความคิดนี้ยังไม่หายไปจากสังคมตราบใดที่ผู้หญิงยังคงเป็นแค่คนชายขอบของสังคม
ที่มา Japan Times