ไม่เคยวินิจฉัยนิยาม จนท.รัฐ คดีฟ้อง "หัวหน้า คสช."
"ทีมโฆษก" ตอบข้อสงสัยสื่อ จนท.รัฐ มีนิยามตามลักษณะใช้อำนาจกฎหมายหลายฉบับ สุดท้ายเลือกตั้ง กกต.ต้องชี้ขาด ขณะที่คดีชดใช้จำนำข้าว ยังพิจารณาในศาลปกครองชั้นต้น
5 มี.ค.62 – ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ในฐานะโฆษกศาลปกครอง และคณะรองโฆษก ได้ร่วมตอบคำถามสื่อมวลชน ภายหลังจัดการแถลงผลงานคดีในวาระงานครบรอบ 18 ปีศาลปกครอง
โดย นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ซักถามถึงคำนิยาม "เจ้าหน้าที่รัฐ" ผ่านการวินิจฉัยทางคดีปกครอง จากกรณีที่ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงตำแหน่ง "หัวหน้า คสช." เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอาจจะทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือไม่นั้นว่า โดยหลักแล้วเมื่อมีการฟ้องคดีมายังศาลปกครอง ศาลจะดูก่อนว่าเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ใดก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่เราจะดูหากใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญศาลก็จะไม่รับ เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจ ส่วนกรณีที่เคยมีการฟ้อง หัวหน้าคณะ คสช. นั้นก็ว่าใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญออกประกาศต่างๆ ซึ่งศาลก็ไม่รับคดีไว้พิจารณาเพราะเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ แต่หากเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองโดยยึดประกาศ คสช.เป็นพื้นฐานตัวตั้งแล้ววินิจฉัยว่าพฤติกรรมของราษฎรรายหนึ่งฝ่าฝืนประกาศ คสช. แล้วภายหลังประชาชนนั้นมาฟ้องเพิกถอนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สั่งนั้น ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำสั่งรับคดีไว้พิจารณาและมีคำสั่ง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หากเป็นการฟ้องเพิกถอนประกาศ คสช. ศาลจะวินิจฉัยแค่ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้วินิจฉัยว่าผู้ออกคำสั่งเป็นเจ้าหน้าที่ แต่ถ้าเป็นกรณีหัวหน้าสถานีตำรวจไปตรวจสถานบริการแล้วเห็นว่าสถานบริการนี้ปฏิบัติผิดประกาศ คสช.แล้วสั่งเอกชนหยุดประกอบกิจการนั้น เมื่อผู้ประกอบการเอาคดีมาฟ้อง ศาลจะรับคดีไว้ก็เพราะว่าเป็นขั้นตอนที่แยกมาจากการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของหัวหน้า คสช. ซึ่งเท่าที่ทราบคดีที่มีการฟ้อง คสช. ไม่มีที่ศาลวินิจฉัยว่า "หัวหน้า คสช." เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่
เมื่อถามว่า หากมีการวินิจฉัยสถานะความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องพิจารณาจากนิยามในกฎหมายต่างๆ ทั้งรัฐธรรมนูญ , กฎหมาย ป.ป.ช. , พ.ร.บ.วิธีบริหารราชการแผ่นดินฯ หรือไม่
นายประวิตร กล่าวว่า การวินิจฉัยนั้นเป็นเรื่องขององค์กรอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไปว่าจะดูกฎหมายใดบ้าง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ในส่วนของศาลปกครองเราจะวินิจฉัยที่มีการยื่นฟ้องมา ซึ่งศาลปกครองมีกฎหมายของตัวเอง คือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ที่นิยามความหมาย "เจ้าหน้าที่รัฐ" ตามกฎหมายปกครองไว้ โดยเมื่อมีการฟ้องคดี ศาลปกครองต้องพิจารณานิยามตามกฎหมายศาลปกครองกำหนดไว้เท่านั้น โดยจะพิจารณาว่ากล่าวถึงการใช้อำนาจบริหาร หรือใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ หากเป็นกรณีการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยตรงศาลปกครองก็จะไม่รับฟ้อง
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาเคยมีการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนประกาศและคำสั่ง คสช.นั้น ศาลปกครองเคยวินิจฉัยคำว่าเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีดังกล่าวหรือไม่
นายวชิระ ชอบแต่ง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองภูเก็ต ในฐานะรองโฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีคดีที่ฟ้องเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช.ในคดี 617/2558 ซึ่งเป็นการฟ้องกรณีหัวหน้า คสช.ออกคำสั่งห้ามบุคคลกลุ่มหนึ่งออกนอกประเทศ ซึ่งศาลปกครองได้วินิจฉัยไปเลยว่าการใช้อำนาจดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่ได้การวินิจฉัยสถานะ "หัวหน้า คสช." ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ที่เราวินิจฉัยเช่นนั้นเพราะไม่เข้าองค์ประกอบที่ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายทางปกครอง ซึ่งการเป็นคดีปกครองจะต้องเป็นกรณีเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจรัฐทางปกครอง ขณะที่นิยาม "เจ้าหน้าที่รัฐ" มีอยู่ในกฎหมายต่างๆ ตามลักษณะของการใช้อำนาจ ไม่ใช่เรื่องที่มีการระบุไว้ชัดเจนเพียงประการเดียวว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะมีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น ก็เป็นเจ้าหน้าที่ตามนิยาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ หรือส่วนรัฐบาล ก็มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าหน่วยงาน , กรุงเทพมหานคร ก็มีผู้ว่า กทม. ทั้งนี้ขึ้นกับว่าสถานะของการใช้อำนาจนั้นมีอยู่อย่างไรในกฎหมายใด ต้องดูตามเหตุของการใช้อำนาจเช่นรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากเป็นการใช้อำนาจที่เกี่ยวกับองค์กรอื่น ศาลปกครองก็ไม่อาจตอบแทนได้ ส่วนถ้ามีคดีเข้ามาสู่ศาลปกครอง จึงจะมีการวินิจฉัยตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงแนวทางการพิจารณาคดีเร่งด่วน ตาม "ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562" ที่ออกมาใหม่ซึ่งคดีวอยซ์ทีวี ล่าสุดใช้เวลาเพียง 14 วันตัดสิน จะนำมาใช้กับคดีค้างพิจารณาอย่างจำนำข้าวที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ , นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกที่ถูกออกคำสั่งบังคับคดีชดใช้เงินจำนวนมากได้หรือไม่
นายเทอดพงศ์ คงจันทร์ ตุลาการศาลปกครองกลาง ในฐานะรองโฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า ลักษณะของความเร่งด่วนนั้น ทุกคดีก็จะไม่ชักช้าในการให้ความเป็นธรรม ขณะที่การพิจารณาต้องทำให้ดี ไม่ดีไม่ได้ ดังนั้นก็อยากจะทำให้ดีด้วยเร็วด้วย แต่ถ้ายังเร็วไม่ได้ อย่างไรก็ต้องทำให้ดีมีคุณภาพ โดยลักษณะคดีบางประเภทต้องเร็วรอไม่ได้ แต่บางเรื่องพยายามจะให้เร็วแต่ยังพอรอได้ ซึ่งปัญหาเรื่องระยะเวลานั้นกฎหมายก็ได้กำหนดไว้ เช่น ต้องมีระยะเวลาสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ต้องแจ้งให้คู่ความทราบล่วงหน้า 10 วัน การกำหนดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ต้อแจ้งคู่ความทราบล่วงหน้า 7 วัน ซึ่งช่วงเวลานี้จะร่นเวลาให้สั้นลงไม่ได้ โดยปีที่ผ่านมาก็ได้แก้กฎหมายในมาตรา 59 วรรคสาม เรื่องวิธีพิจารณาคดีเร่งด่วนไว้ โดยกำหนดเกณฑ์ 2 ลักษณะที่จะถือว่าเป็นกรณีเร่งด่วนที่สามารถย่นย่อเวลาได้ และให้เป็นดุลยพินิจศาลที่จะดูลักษณะของคดีว่า คดีลักษณะนี้แม้ไม่มีกฎหมายเขียนไว้ว่าต้องเสร็จในกี่วันแต่ก็ช้าไม่ได้ ถ้าช้าจะเสียหายแก่รูปคดี และคู่กรณี รวมทั้งประโยชน์ส่วนรวมด้วย ก็ให้เป็นดุลยพินิจของศาลจะดำเนินพิจารณาโดยเร่งด่วน ดังนั้นก็ต้องพิจารณาลักษณะเป็นรายคดีไป
ส่วนคดีการฟ้องเพิกถอนคำสั่งชดใช้โครงการจำนำข้าว-ระบายข้าว (จีทูจี) นั้น ระหว่างนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น ส่วนที่ระยะเวลานั้นทอดยาว เพราะว่าคดีมีมูลค่าทรัพย์ความเสียหายที่คู่กรณีฟ้องกันเป็นจำนวนที่สูง ฝ่ายหนึ่งก็กล่าวอ้างว่ามีความเสียหายอย่างหนึ่ง ขณะที่อีกฝ่ายก็ให้การโต้แย้งว่าการออกคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อตัวเลขความเสียหายมีจำนวนสูง ศาลก็จะต้องนำมาพิจารณาประกอบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และคำสั่งที่ออกมานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นความสัมพันธ์กันระหว่างความชอบด้วยกฎหมายกับตัวเลขความเสียหายแก่รัฐ จึงต้องใช้ระยะเวลา แต่เราก็เห็นว่าเป็นความเร่งด่วนเช่นกันแม้จะดำเนินคดีลักษณะปกติ ซึ่งองค์คณะก็พยายามเร่งรัดเคลียร์ประเด็นพิพาทเพื่อให้มีคำพิพากษา ที่ต้องเน้นงานที่มีคุณภาพดี ไม่ใช่เร็วแต่เพียงอย่างเดียว.