ข่าว

ยุบ ทษช.สุ่มเสี่ยงทำสถาบันฯเสื่อมโทรม

ยุบ ทษช.สุ่มเสี่ยงทำสถาบันฯเสื่อมโทรม

07 มี.ค. 2562

ศาลรธน.สั่งยุบทษช.ลงมติเอกฉันท์ การกระทำสุ่มเสี่ยงให้สถาบันฯเสื่อมโทรม พร้อมตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กก.บห.10ปี กกต.ยังไม่ตอบ"รุ่งเรือง"ชิงลาออกหลุดบ่วงหรือไม่

 

          ศาลรัฐธรรมนูญ - 7 มี.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในกรณีคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2561 มาตรา 92 ฐานกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จากกรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

 

          ต่อมาเวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มอ่านคำวินิจฉัยว่า ศาลได้ตั้งประเด็นวินิจฉัย 3 ประเด็น โดยประเด็นแรก มีเหตุให้สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง(2) หรือไม่ ซึ่งศาลมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง(2) กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคไทยรักษาชาติได้กระทำการดังกล่าว จึงมีคำสั่งยุบพรรคตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคสอง


          ประเด็นที่ 2 คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคสองหรือไม่ ศาลมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยว่าให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคฯที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 ก.พ.2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง(2) วรรคสอง มีกำหนดเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุพรรคฯ

 

          ส่วนประเด็นที่ 3 ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคฯหรือไม่ โดยศาลมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรคสอง

 

          ทั้งนี้ในระหว่างการอ่านคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญมีการระบุตอนหนึ่งว่า "การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติในการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและในกระบวนการให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคการเมือง ตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำย่อมเล็งเห็นผลว่าจะทำให้ว่าการปกครองของไทยจะแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพ การที่สถาบันพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจทางการเมืองปกครองประเทศ สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานต้องถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย"

 

          และมีตอนหนึ่งระบุว่า "ถ้าพรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการเมืองและการปกครอง พรรคการเมืองนั้น รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคย่อมต้องถูกลงโทษตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง จะอ้างความไม่รู้  ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความเห็นความเชื่อของตนมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้นิยามศัพท์คำว่าล้มล้าง หรือเป็นปฏิปักษ์ไว้ แต่ทั้งสองคำก็เป็นภาษาไทยธรรมดา มีความหมาย และความเข้าใจตามที่ใช้กันทั่วไป โดยศาลเห็นว่า คำว่า ล้มล้าง หมายถึง ทำลายล้างผลาญไม่ให้ธำรงอยู่ ส่วนคำว่า ปฏิปักษ์ ไม่จำเป็นต้องรุนแรง ถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรู เพียงแค่เป็นการขัดขวางไม่ให้เจริญก้าวหน้า หรือเซาะกร่อน บ่อนทำลายจนเกิดความชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง ก็เข้าข่ายการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว"

 

          ตอนหนึ่งระบุว่า "เมื่อการกระทำของผู้ถูกร้องมีหลักฐานชัดเจนว่า ได้กระทำโดยรู้สำนึก และสมัครใจอย่างแท้จริง กก.บห.ย่อมรู้ดีว่า ทูลกระหม่อมเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ และเป็นเชษฐภคินี แม้จะถวายบังคมลาจากฐานันดรศักดิ์ แต่ยังคงดำรงเป็นสมาชิกแห่งพระบรมจักรีวงศ์ การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง ทั้งยังเป็นการกระทำที่วิญญูชน คนทั่วไปรู้สึกได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยล ให้ปรากฏผลเหมือนฝักใฝ่ทางการเมืองและมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตยฯ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียฐานะที่ต้องอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทรามเป็นเหตุให้เข้าข่ายเป็นกากระทำเป็นปฏิปักษ์ ต่อการปกครอง ตามมาตรา 92 จึงมีมติเอกฉันท์สั่งยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง"

 

          ส่วนการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญระบุตอนหนึ่งว่า "การกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงต้องพิจารณาให้ได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรกับความร้ายแรงของการกระทำ แม้การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองแต่ยังไม่ถึงขนาดมีเจตนาล้มล้างการปกครอง และพรรคไทยรักษาชาติก็แสดงให้เห็นถึงความสำนึกเนื่องจากมีการน้อมรับพระราชโองการทันที ดังนั้นเห็นสมควรกำหนดเวลาเพิกถอนสิทธิสมัคร 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรคฯ ซึ่งสอดคล้องกับ มาตรา 94 พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2562"

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีนายรุ่งเรือง พิทยศิริ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ที่อ้างว่ามีการยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรคตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดยังไม่มีการยืนยันจาก กกต.ว่า การลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวของนายรุ่งเรืองนั้นมีผลในวันที่เท่าใด รวมทั้งไม่มีความชัดเจนในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่านายรุ่งเรืองเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคฯที่ถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจากกรณีดังกล่าวหรือไม่.