ข่าว

พล.ต.สำเริง ไชยยงค์

พล.ต.สำเริง ไชยยงค์

13 มี.ค. 2562

"ปรมาจารย์ฟุตบอลเมืองไทย" 

อดีตนักฟุตบอลทีมชาติชุดโอลิมปิก ที่เมลเบิร์น ครั้งที่ 15 (ค.ศ.1956) ผู้มีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาวิชาโค้ชชั้นสูง ณ ดินแดนกางเขนเหล็ก ก่อนกลับมาสร้างสุดยอดทีมลูกหนัง ที่กล่าวกันว่ามีการเล่นคลาสสิกและเบสิกดีที่สุดทีมหนึ่งของวงการฟุตบอลไทย “สโมสรราชวิถี” จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “ปรมาจารย์ฟุตบอลเมืองไทย”

 

พล.ต.สําเริง ไชยยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ณ ต.กลาง อํ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นบุตรนายดาว และนางอุดร ไชยยงค์ ท่านคือพี่ชายคนโตของตระกูลนักเตะทีมชาติไทยในเวลาต่อมา

เริ่มเข้าเรียนหนังสือระดับประถมศึกษา โรงเรียนเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด (พ.ศ.2488) ระดับมัธยมต้น โรงเรียนหนองคายวิทยาคาร (พ.ศ.2492) และจบมัธยมปลาย โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย (พ.ศ.2496) ก่อนจะเดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา (พ.ศ.2498) ในเมืองหลวง

ต่อมาจึงลงเล่นฟุตบอลอุดมศึกษาและถ้วยพระราชทาน ถ้วยใหญ่และถ้วยน้อยให้แก่สถาบันจนมีการคัดตัวนักฟุตบอลทีมชาติชุดโอลิมปิก เมื่อ พ.ศ.2499 จึงมีชื่อติดทีมเดินทางไปสร้างประวัติศาสตร์เป็นชุดแรกในสนามระดับโลกของทีมชาติไทย

แม้ว่าผลการแข่งขันทีมชาติไทยพ่ายแพ้ทีมสหราชอาณาจักร (อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์, ไอร์แลนด์เหนือ) หรือเกรตบริเตน 0-9 แต่ประสบการณ์ที่ได้รับนั้นนํามาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสําคัญในชีวิตของนักเตะจากที่ราบสูง

เมื่อ “สํารวย ไชยยงค์” (ก่อนเปลี่ยนชื่อ) จะมีชื่อติดทีมชาติอยู่เสมอ ที่สำคัญคือทีมชาติไทยชุดกีฬาแหลมทอง 2 สมัย (พ.ศ.2502, 2504) และเลิกเล่นทีมชาติประมาณปี 2504

ภายหลังสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปภัมภ์ ได้ส่งนายหรั่ง ฉัตรฉายา และนายสำรวย ไชยยงค์ ไปเรียนโค้ชฟุตบอลหลักสูตรระยะสั้นที่ประเทศเยอรมนี เมื่อ พ.ศ. 2504 ก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้ อ.สําเริง ได้ศึกษาการพลศึกษาชั้นสูง ณ เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี จนสําเร็จหลักสูตรผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพชั้นสูง เมื่อ พ.ศ.2506

เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย พล.ต.สําเริง ไชยยงค์ จึงได้รับการติดต่อให้เข้าคุมสโมสรธนาคารกรุงเทพ ชุดชนะเลิศถ้วยพระราชทาน ประเภท ก สองสมัย (พ.ศ.2506, 2507) ในปีถัดมาประกาศลาออกจากตําแหน่งโค้ชทีมบัวหลวง หลังจากเพิ่งนําเยาวชนทีมชาติไทยเดินทางกลับจากแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากผิดหวังที่สโมสรธนาคารกรุงเทพ แพ้ สโมสรตํารวจ 1-4 จนทําให้ผู้บริหารทีมต้องขอถอนทีมไม่ลงแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ ประจําปี พ.ศ.2508 เพื่อแสดงน้ำใจนักกีฬาต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

ภายหลังจากอําลาสนามบางนาแล้ว พล.ต.สําเริง ไชยยงค์ พร้อมด้วยน้องชาย  อ.เสนอ ไชยยงค์ ได้รวบรวมบรรดาเด็กๆ ที่มีใจรักการเล่นฟุตบอลนำมาช่วยกันฝึกสอนทักษะการเล่นอย่างถูกวิธีตามที่ได้ร่ำเรียนมาที่สนามอัฒจันทร์ไม้ติดกับศาลต้นโพธิ์ภายในบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน

 

จนเมื่อ พ.ศ.2511 จึงได้จดทะเบียนกับกรมตํารวจ โดยใช้ชื่อทีมว่า “สโมสรราชวิถี” เวลากว่า 10 ปี นักเตะเหล่านั้นสามารถชนะเลิศฟุตบอลเยาวชนแห่งประเทศไทยถึง 6 ปีติดต่อกัน ก่อนที่จะขึ้นครองถ้วยพระราชทาน ประเภท ก รวม 4 สมัย (พ.ศ.2514, 2516, 2518, 2520) รวมทั้งการชนะเลิศฟุตบอลถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ 1 สมัย (พ.ศ.2516) นับเป็นดับเบิลแชมป์ของเมืองไทย

นักเตะจากรั้วชาววังที่มีชื่อเสียงระดับชาติและทวีปเอเชียช่วงทศวรรษ 60-80 อาทิ “สิงห์สนามศุภ” นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์, อารมณ์ จันทร์กระจ่าง, สิทธิพร ผ่องศรี, “นายพันกระดูกเหล็ก” อำนาจ เฉลิมชวลิต, เอกชัย สนธิขันธ์, “ไข่มุกดำ” วีระยุทธ สวัสดี, “ปีกปีศาจ” ปรีชา กิจบุญ, แก้ว โตอดิเทพย์, ชัยวัฒน์ สุนทรนนท์ ฯลฯ

ในปัจจุบันนี้ทีมราชวิถีจะเหลือเพียงตำนานของสโมสรที่แฟนลูกหนังชาวไทยต่างภาคภูมิใจและเล่าขานจนไม่มีวันหมดสิ้นหลายทศวรรษต่อมา

อาจกล่าวได้ว่าคือผลงานการสร้างทีมของ “ปรมาจารย์ฟุตบอลเมืองไทย" พล.ต.สำเริง ไชยยงค์ ผู้เคยถูกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ปฏิเสธโครงการสร้างเยาวชนมาแล้ว แต่ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อกีฬา “ฟุตบอล” ของชาติและทุนพระราชทานที่เคยได้รับ จึงทําให้มีลูกศิษย์ของท่านหลายคนก้าวขึ้นสู่ทำเนียบ “ทีมชาติไทย” กว่า 100 คน และทีมชาติบางชุดเกือบทั้งทีมมาจาก “ทีมเหลืองราชา ฟ้าพระราชินี” สโมสรราชวิถี

ปัจจุบัน พล.ต.สําเริง ไชยยงค์ จะมีอายุมากขึ้น แต่ด้วยประสบการณ์ที่เคยเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ ผู้ฝึกสอนเยาวชนเยอรมนี ผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย คณะกรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย หัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลโรงเรียนนายร้อยดันทรูน (ออสเตรเลีย) ฯลฯ จึงยังคงถ่ายทอดศาสตร์และศิลปะแห่งเกมลูกหนังสู่เหล่าบรรดานักเตะรุ่นหลานๆ หลายร้อยคน โดยจะเรียกแทนตัวเองเวลาฝึกในสนามฟุตบอลว่า “คุณตา” อยู่เสมอ 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

คอลัมน์ “บันทึกลูกหนังเมืองสยาม”

หนังสือฟุตบอลสยาม ฉบับที่ 959 ประจำวันที่ 17 มี.ค.-23 มี.ค.2544